โฆษกรบ.ย้ำรัฐบาลดูแลแก้ปัญหาฝุ่นละออง ทั้งมาตรการเร่งด่วน-ระยะยาว
เว็บไซต์ www.naewna.com รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองใน กทม.และปริมณฑล มีค่าเกินมาตรฐาน ในช่วงต้นสัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ติดตาม ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม เร่งแก้ปัญหา ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมทั้งแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง และข้อควรปฏิบัติ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยคุณภาพดีที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ พร้อมทั้งให้สังเกตอาการทางสุขภาพเบื้องต้น หากผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว
ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่นละอองในช่วงวันเด็กแห่งชาติ ในวันที่ 11 ม.ค. 2563 ที่อาจมีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่จะมาร่วมงานวันเด็ก ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในวันดังกล่าว ทส.โดยศูนย์ประสานงานและแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละอองและหมอกควัน (ศปฝ.คพ.) ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ "แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" โดยได้ประสานให้เพิ่มความเข้มงวดมาตรการในการควบคุมฝุ่นละอองจากจากแหล่งกำเนิดมลพิษ ในวันศุกร์ที่ 10 ม.ค.และวันเสาร์ที่ 11 ม.ค.63 ประกอบด้วย 1.บก.จร. สตช. ดำเนินการยกระดับความเข้มงวดในการตรวจสอบ/ตรวจวัดควันดำ โดยตั้งจุดตรวจให้เต็มกำลัง (โดยปกติจะดำเนินการเมื่อค่าฝุ่น เกินมาตรฐานเป็นสีแดง) โดยตั้งชุดปฏิบัติการฯ ตรวจวัดควันดำ ทั้งหมด 17 ชุด ในวันศุกร์ ที่ 10 ม.ค.นี้ และกำชับให้ สน.3 แห่ง ได้แก่ สน.ตลิ่งชัน , สน.ธรรมศาลา และ สน.คู่ขนานลอยฟ้า เข้มงวดการห้ามรถบรรทุกเข้าเขตกรุงเทพมหานครตามช่วงเวลาที่กำหนด
2.กรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เข้มงวดไม่ให้มีการเผาในที่โล่ง / ดำเนินการควบคุมและลดฝุ่น จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าและการก่อสร้างประเภทอื่นๆ 3.กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการให้ชุดตรวจการทั้ง 16 ชุด (ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรการขั้นสูงสุด) เข้มงวด/ตรวจจับควันดำรถบรรทุกขนาดใหญ่และรถโดยสาร แจ้ง/ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ไม่มีการนำรถบรรทุกสินค้าทุกประเภท (ยกเว้นสินค้าที่จำเป็น เช่น ของสด) เข้ามาในเขตชั้นในของพื้นที่กรุงเทพมหานคร 4.กรมโรงงานอุตสาหกรรม ดำเนินการควบคุมการระบายมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม อย่างเข้มงวด / แจ้งกับโรงงานอุตสาหกรรม ในการลดกำลังการผลิตในช่วงสถานการณ์ฝุ่นละอองสูง และ 5.จังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัด ดำเนินการควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภททั้งยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง การก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้เร่งปฏิบัติการลดปริมาณฝุ่นในอากาศ ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน และระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าว และขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย