เบื้องลึก ‘สุชาติ’ ทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าฯกทพ. รับเสี่ยงไม่ไหว ‘ก.หูกวาง’ ล้วงลูกเบ็ดเสร็จ?
"...นายสุชาติอยากให้สรุปความเสียหายของมูลหนี้ให้ชัดเจนก่อน แต่บอร์ดไม่รับข้อเสนอ และยังไม่ให้นายสุชาติบรรจุข้อสังเกตของกทพ.ลงในมติบอร์ดด้วย นายสุชาติจึงเลือกที่จะไม่เสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าหลังจากเกษียณอายุแล้วจะเป็นอย่างไร..."
การยื่นหนังสือเลขที่ ผวก./06 ลงวันที่ 7 ม.ค.2563 ถึง นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ขอลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทพ. ของ นายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ โดยให้มีผลภายใน 30 วันนับจากวันยื่นหนังสือ ทั้งๆที่นายสุชาติยังเหลือระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 9 เดือน ก่อนที่จะเกษียณอายุในเดือน ก.ย.2563 ในขณะที่หนังสือลาออกของนายสุชาติให้เหตุผลลาออกเพียงว่า "ไม่สามารถบริหารงานได้ตามความตั้งใจ"
ทำให้สังคมจับจ้องและตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในรัฐวิสาหกิจอย่างกทพ.กันแน่
เพราะก่อนหน้านี้นายสุชาติเองเพิ่งจะ ‘พ้นกรุ’ หวนคืนเก้าอี้ผู้ว่าฯกทพ. เมื่อวันที่ 10 ต.ค.2562 หรือเพียงไม่ถึง 3 เดือน หลังจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 10/2562 สั่งให้นายสุชาติ ไปปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2562
มีกระแสข่าวว่า นายสุชาติ ไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดกทพ.เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2563 ที่เห็นชอบแนวทางการต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน แลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี วงเงินพิพาทรวม 58,873 ล้านบาท จึงตัดสินใจยื่นใบลาออกในวันต่อมา
แต่จนกระทั่งล่าสุดนายสุชาติ ยังคงเก็บตัว และไม่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเหตุผลในการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ กทพ.ครั้งนี้
แหล่งข่าวจากกทพ. เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศราว่า สาเหตุที่นายสุชาติตัดสินใจลาออก เป็นเพราะไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดเมื่อวันที่ 6 ม.ค.2563 ที่เห็นชอบแนวทางต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM อีกทั้งในการประชุมบอร์ดกทพ.ในวันนั้น บอร์ดไม่รับพิจารณาวาระเพิ่มเติมที่นายสุชาติเสนอ ซึ่งเป็นวาระที่นายสุชาติมองว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก และหากบอร์ดไม่พิจารณาก็จะทำให้กทพ.ได้รับเสียหาย และสุดท้ายนายสุชาติอาจต้องมีความผิดไปด้วยในฐานะผู้ที่ลงนามในสัญญา
แหล่งข่าวบอกว่า หากย้อนกลับไปในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกทพ.ในช่วงเช้าวันที่ 6 ม.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมบอร์ดกทพ.ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้หยิบยกเรื่องการทบทวนผลการเจรจาต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM เข้าหารือ และมีความเห็นร่วมกันว่าแนวทางที่เสนอให้ต่ออายุสัมปทาน 15 ปี 8 เดือนนั้น ยังมีข้อห่วงกังวลเรื่องอายุความ เพราะคดีที่ BEM ฟ้องร้องกทพ.ในบางคดีนั้น เป็นคดีที่หมดอายุความแล้ว BEM จึงเรียกร้องค่าเสียหายจาก กทพ. ไม่ได้
ดังนั้น ที่ประชุมผู้บริหาร กทพ.จึงต้องการให้มีการส่งเรื่องไปถามสำนักงานอัยการสูงสุดก่อนว่า ในท้ายที่สุดแล้วค่าเสียหายหรือเงินชดเชยจากการแพ้คดีที่กทพ.ต้องจ่ายให้ BEM จริงๆแล้วตัวเลขอยู่ที่เท่าใด และหากบอร์ดกทพ. ยืนยันว่าจะพิจารณาต่ออายุสัมปทานให้ BEM ก็ควรพิจารณาต่ออายุสัมปทานเฉพาะคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กทพ.จ่ายค่าเสียหาย 4,318 ล้านบาทเท่านั้น
"หากนำค่าเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งหมด ซึ่งยังไม่มีคำตัดสินของศาลว่ากทพ.แพ้กี่คดี ไปเจรจาและต่ออายุสัมปทานให้ BEM ทั้งหมดเลย จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อกทพ.ได้ ทางผู้บริหารกทพ.และนายสุชาติจึงเสนอให้ต่ออายุสัมปทานเฉพาะกรณีที่กทพ.แพ้คดีแล้ว แต่หากบอร์ดจะพิจารณาต่ออายุสัมปทานทั้งหมดเลย ก็ขอให้นำผลกระทบคดีพิพาททั้ง 17 คดี แนบไปกับมติบอร์ดกทพ.ด้วย แต่บอร์ดกลับไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา"แหล่งข่าวระบุ
สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์
แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า ในส่วนของแนวทางการต่ออายุสัมปทานทางด่วนให้ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือนนั้น แม้ว่าฝ่ายบริหารของกทพ.ทราบดีว่า จะเป็นแนวทางที่คณะทำงานของกระทรวงคมนาคม ที่มีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ได้สรุปเป็นข้อตกลงร่วมกับทาง BEM เรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้ และเสนอให้บอร์ดกทพ.ให้ความเห็นชอบตามขั้นตอน แต่ทางผู้บริหารกทพ.ต้องการให้มีการเจรจาเพิ่มเติม เพราะร่างสัญญาหลายข้อทำให้ กทพ.เสียหาย
“การต่ออายุสัมปทาน BEM กระทรวงคมนาคมและ BEM ตกลงกันเรียบร้อยมาตั้งแต่ต้นแล้ว เพียงแค่นำมาเสนอให้บอร์ดกทพ.เห็นชอบเท่านั้น แต่ผู้บริหารกทพ.อยากให้มีการเจรจาเพิ่ม และนายสุชาติก็อยากให้สรุปความเสียหายของมูลหนี้ให้ชัดเจนก่อน แต่บอร์ดไม่รับข้อเสนอ และยังไม่ให้นายสุชาติบรรจุข้อสังเกตของกทพ.ลงในมติบอร์ดด้วย นายสุชาติจึงเลือกที่จะไม่เสี่ยง เพราะไม่รู้ว่าหลังจากเกษียณอายุแล้วจะเป็นอย่างไร” แหล่งข่าวกล่าว
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อร่างสัญญาการต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM ที่บอร์ดกทพ.เห็นชอบไปแล้วนั้น ทางนายสุชาติเห็นว่ามีข้อสัญญาหลายส่วนที่ กทพ.เสียเปรียบและเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนผู้ใช้ทางด่วน
“ร่างสัญญาที่ส่งไปให้สำนักอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา กทพ.แทบจะไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะการยกร่างสัญญาและการพิจารณาสัญญาแทบจะทุกข้อ ล้วนแล้วแต่มาจากทางฝั่งกระทรวงคมนาคมทั้งสิ้น” แหล่งข่าวย้ำ
ด้าน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่องที่นายสุชาติยื่นหนังสือลาออก แต่รับทราบจากข่าวว่านายสุชาติได้ยื่นหนังสือลาออกกับประธานบอร์ดกทพ.แล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ บอร์ดกทพ.จะต้องพิจารณาแต่งตั้งรักษาการผู้ว่าฯ กทพ.ขึ้นมาทำหน้าแทนนายสุชาติ และเริ่มกระบวนการสรรหาผู้ว่าฯ กทพ.คนใหม่
เมื่อถามว่าการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการฯกทพ.ของนายสุชาติ จะมีผลทำให้การลงนามสัญญาต่ออายุสัญญาสัมปทานทางด่วนกับ BEM ล่าช้าหรือไม่ นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า “ตามปกติรักษาการผู้ว่าฯ กทพ. ก็มีอำนาจเต็มเท่ากับผู้ว่าการฯกทพ.อยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลอะไร”
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่านายสุชาติลาออก เพราะไม่เห็นด้วยกับมติบอร์ดกทพ.ที่ให้ต่ออายุสัญญาสัมปทานกับ BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือนนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า “ตรงนี้ไม่ทราบ เพราะผมไม่ได้อยู่ด้วย และก็ยังไม่ได้มีการรายงานอะไรมาที่ผม เมื่อไม่เห็นเรื่องเป็นลายลักษณ์อักษรแล้วไปพูด ผมว่าไม่เหมาะสม”
เหล่านี้ คือ เบื้องลึกเบื้องหลังของการทิ้งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทพ. ของนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ และต้องติดตามกันต่อว่า บทสรุปการต่ออายุสัมปทานทางด่วนมูลค่านับแสนล้านจะจบลงอย่างไร
อ่านประกอบ :
เผือกร้อน 'บิ๊กตู่' ชี้ขาดต่อสัมปทาน 'BEM' 15 ปี พ่วงขึ้นค่าทางด่วน 10 บาท
'สุชาติ' ยื่นหนังสือลาออก 'ผู้ว่าการ กทพ.'
ผู้ว่า กทพ.ถอดใจจ่อลาออก ปมต่อสัญญาทางด่วน “บีอีเอ็ม” 15 ปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/