สสส. หนุนพัฒนา “เยาวชนคนดนตรี” คิด-ทำเพื่อสังคม
แม้การฟังดนตรีจะมุ่งเพื่อความเพลิดเพลินเป็นหลัก แต่ท่วงทำนองและเนื้อหาของบทเพลง ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้ฟังอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางบทเพลงที่มีเนื้อหาตอบสนองตลาดในเชิงพาณิชย์ ยังมีกลุ่มคนทำดนตรีที่มีเป้าหมายบ่มเพาะเยาวชนคนดนตรีในด้านความคิดเชิงสังคม โดยมิได้มุ่งหวังแสวงหากำไร
กว่า 10 ปีแล้วที่ กลุ่มทริปเปิ้ล เอช มิวสิค (Triple H Music) ภายใต้ความรับผิดชอบของ รัชพงศ์ โอชาพงศ์ ได้ดำเนิน โครงการ “บทเพลงเพื่อการเรียนรู้ชีวิต” โดยการสนับสนุนจาก สำนักสร้างสรรค์โอกาส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมุ่งเน้นพัฒนาความคิดให้นักดนตรีได้ใช้ความสามารถของตนเองมาทำงานด้านจิตอาสา นำความคิดด้านอาสามาผนวกกับการเล่นดนตรีกลายเป็น “ดนตรีอาสา” เพื่อสร้างความบันเทิงในพื้นที่ๆ ขลาดแคลน
“เมื่อก่อนนี้เราให้แต่เพลงแต่มันยากไป ก็เปลี่ยนจากแต่งเพลงเป็นการแสดงดนตรี ถ้าจะวัดว่าโครงการนี้ก้าวหน้าหรือไม่ต้องดูที่นักดนตรีที่มาเข้าโครงการนี้เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความคิดของเขา เมื่อได้มีโอกาส เอาเพลงไปเล่นในพื้นที่ ในชุมชน ในพื้นที่ต่างๆทางสังคม ก็เป็นโอกาสที่นักดนตรีจะได้เรียนรู้ปัญหา เรียนรู้สังคม เรียนรู้เพื่อนรอบๆข้างไปด้วย” รัชพงศ์ กล่าว
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นเยาวชนระดับมหาวิทยาลัยและมัธยม มีพื้นฐานทางดนตรีมาก่อน อายุระหว่าง 18-25 ปี มีความมั่นคงกับการเล่นดนตรี สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นผู้ผลิตงานดนตรี นำเรื่องราวไปสื่อสารสู่คนในวงกว้าง มีความคิดอยากใช้ดนตรีทำกิจกรรมด้านสังคม อาจเพื่อความสนุกสนาน หรือพัฒนาตนเองก็ได้
“หลักๆ คือนักเรียนที่เรียนด้านดนตรี เพราะอนาคตจะต้องออกไปทำสื่อด้านดนตรีสู่คนทั่วไป ถ้าพัฒนานักดนตรีเหล่านี้อนาคตเขาก็จะผลิตเพลงที่มีคุณค่า เพลงที่จรรโลงสังคม ทำให้สิ่งแวดล้อมในเรื่องการฟังเพลงของวัยรุ่นดีขึ้น ถ้าเรียนดนตรีมาก็มั่นใจว่าในอนาคตจะต้องเดินในสายนี้ การลงทุนกับคนกลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงต่ำกว่าคนที่ไม่ได้เล่นดนตรี” ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าว
แม้จะดำเนินงานมากว่า 10 ปีแล้ว เขายอมรับว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการมีความก้าวหน้าขึ้นจากการแต่งเพลงแบบธรรมดาเนื้อหาสร้างสรรค์สังคม พัฒนามาเป็นการแต่งเพลงจากพื้นที่ และการเล่นดนตรีเพื่อสื่อสารเรื่องราวจากพื้นที่มากขึ้น ซึ่งนักดนตรีที่ผ่านโครงการไปแล้ว ก็จะมีรุ่นใหม่หมุนเวียนเข้ามา บางครั้งหากมีกิจกรรมก็พร้อมจะรวมตัวมาแสดงดนตรีด้วยกัน โดยปัจจุบันทางกลุ่มยังให้การสนับสนุนวงที่ผลิตผลงานอย่างจริงจัง เช่น วงอมตะและวงสามัญชน
“ตลาดเพลงแบบนี้ในวันนี้ยังไม่กว้าง กลางคืนเขาก็อาจจะไปเล่นผับ กลางวันอาจจะทำเพลงที่อยากจะทำเพื่อสังคม ทำเพลงเพื่อให้สิ่งแวดล้อมการฟังเพลงดีขึ้น การเล่นเพลงพวกนี้จะขึ้นอยู่ในวาระ เพราะเพลงยังไม่กว้าง แต่เป้าหมายอาจจะน้อยแต่เน้นคุณภาพคนฟัง” รัชพงศ์ กล่าวย้ำ
ทางด้าน ณัฐพงษ์ ภูแก้ว พี่เลี้ยงจากกลุ่มทริปเปิ้ล เอช มิวสิค หนึ่งในนักดนตรีที่ใช้ดนตรีเปิดหมวก ร้องเพลงบอกเล่าเรื่องราวแนวคิดทางสังคม กล่าวว่าโครงการของทริปเปิ้ลเอชไม่ได้ต้องการแค่คนมีฝีมือทางดนตรีดีเท่านั้น แต่ต้องมีเนื้อหาที่ได้รับการพัฒนาวิธีคิด การเขียนเพลง เพิ่มทักษะทางดนตรีจนได้ผลิตเพลง การเข้ามาร่วมกับกลุ่มทำให้การพัฒนาไปได้เร็วยิ่งขึ้น
"เราไปเจาะกลุ่มมหาวิทยาลัยที่มีพื้นฐานทางดนตรีอยู่แล้ว บางทีเล่นดนตรีเป็นแต่ไม่ได้เรียนด้านดนตรีโดยตรง ทางกลุ่มก็จะช่วยพัฒนามุมมองวิธีคิด ทั้งด้านการเขียนเพลงและการเล่นดนตรี สอนด้านมุมมอง นักดนตรีอาชีพช่วยเพิ่มทักษะด้านดนตรี และการร้องเพลง” ณัฐพงษ์ กล่าว
ณัฐพงษ์ ย้ำว่าสิ่งที่โครงการคาดหวังคือเรื่องวิธีคิด ทัศนคติ มุมมอง ส่วนทักษะด้านดนตรีสามารถฝึกเพิ่มเติมได้ และแม้เพลงที่แต่งขึ้นส่วนน้อยจะถูกหยิบไปใช้ จะมีในบางวาระที่นำบทเพลงไปใช้ในบางองค์กรที่มีกิจกรรมเคลื่อนไหว
“โดยส่วนตัวผมมีความสุขกับการทำเพลง มันตอบสนองในสิ่งที่เราทำได้และเราถนัด ได้ใช้ความกล้าในการนำเสนอเรื่องราว เพลงอาจไม่ได้ดังมียอดในการฟังเยอะ แต่เพลงถูกใช้ถูกร้อง มีคนหยิบยกไปให้กำลังใจมันถูกใช้งานจริงๆ แต่กลไกการตลาด แวดวงดนตรีก็ไม่ได้ฟังเพลงประเภทนี้ เราจึงต้องเจาะกลุ่มทำเพลงตอบสนองกลุ่มเหล่านั้น เป็นความภูมิใจของคนทำเพลงเมื่อมันถูกใช้จริงๆ” ณัฐพงษ์ กล่าว
ขณะที่ วรากร ปู่จินะ สมาชิกวงเฮาส์ ฟลอร์ (House Floor) เยาวชนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ยอมรับว่ามีทักษะทางดนตรีเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกับทริปเปิ้ลเอชมิวสิค ได้ฝึกฝนเรียนรู้อย่างจริงจัง ทำให้ได้ความรู้ทางด้านดนตรีเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้เปิดมุมมองแนวคิดทางสังคม เมื่อมีโอกาสก็จะนำบทเพลงที่สอดคล้องกับชุมชนหรือสังคมนั้นไปแสดง
“ก่อนหน้านี้ผมก็เล่นเพลงทั่วไป พอได้เข้ามาฝึกดนตรี ได้ฟังตัวอย่างเพลง เรียนรู้ประวัติดนตรีต่างๆ ทำให้เกิดมุมมองทางสังคม โดยปกติผมเองก็สนใจแนวเพลงเพื่อชีวิตอยู่แล้วก็เลยไม่ได้รู้สึกอึดอัดใจ ผมเองเติบโตมากับสลัม 4 ภา8 เห็นการต่อสู้ของพ่อ แม่พี่น้องมาตลอด ถ้ามีวาระก็จะนำบทเพลงไปช่วยให้กำลังใจในการขับเคลื่อนของเครือข่าย ซึ่งถ้าผมไม่มีแนวคิดอะไรก็คงไม่ได้ไปเล่นดนตรี” วรากร กล่าว
เมื่อมีโอกาส วรากร ยังได้ใช้ทักษะและความรู้ทางดนตรีร่วมสร้างกิจกรรมให้กับกลุ่มเยาวชนเครือข่ายสลัม 4 ภาคในระหว่างปิดภาคเรียนอีกด้วย ทั้งการสอนการร้องเพลง สอนการวิเคราะห์เพลง สอดแทรกแนวคิดทางสังคมให้กับน้องๆไปด้วย
นารีรัตน์ แซ่โง้ว สมาชิกเครือข่ายสลัม 4 ภาค วัย 10 ปี จากจังหวัดปทุมธานี เล่าว่าได้ร่วมทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้เรียนรู้การเล่นดนตรีเบื้องต้น การฝึกร้องเพลงเพิ่มเติม ทำให้รู้จักเพลงในแนวอื่น รู้สึกมีความสุขกับกิจกรรมและยังได้เพื่อนใหม่ที่อยู่ต่างจังหวัดกันอีกด้วย ส่วน ศศิธร จันทร์ศรีหา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนขามแก่นนคร จังหวัดขอนแก่น เล่าว่าการมาร่วมงานครั้งนี้ทำให้ได้พบเพื่อนใหม่ ได้ทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ในส่วนกิจกรรมด้านดนตรีและการร้องเพลง การวิเคราะห์บทเพลงจากมิวสิควีดีโอเป็นประสบการณ์ใหม่ ช่วยเพิ่มความมั่นใจเรื่องการแสดงออก และการทำงานเป็นทีมมากขึ้น
วันนี้ในโลกแห่งเสียงเพลง ยังมีกลุ่มผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงอีกจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมจะใช้ทักษะและฝีมือของพวกเขาในการสร้างสรรค์บทเพลงและท่วงทำนองดีๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในสร้างสังคมที่น่าอยู่และมีความสุขด้วยเสียงดนตรีที่มีคุณค่ามากกว่ามูลค่าในเชิงพาณิชย์.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/