กสม. มีมติรับรองข้อบังคับการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวร
การประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านบริหาร ครั้งแรกในปี 2563 กสม. มีมติรับรองข้อบังคับการดำเนินงานเพื่อจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรตามกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า วันนี้เวลา 9.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านบริหาร ครั้งที่ 1/2563 ที่ประชุมมีมติรับรองร่างข้อบังคับการดำเนินงาน (Rules of Procedure : RoP) ของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum : SEANF) อันประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต และประเทศไทย โดยร่างข้อบังคับนี้ได้ระบุถึงหน้าที่และอำนาจของ SEANF เช่น การส่งเสริมความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศสมาชิก และการสนับสนุนให้รัฐบาลของตนเข้าเป็นภาคีของตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งจะใช้เป็นกรอบในการดำเนินกิจกรรมร่วมกันของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อใช้ประกอบการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรของ SEANF ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ต่อไป ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากประเทศสมาชิก SEANF แล้ว 5 ประเทศ ในส่วนของ กสม. หลังจากที่มีจำนวนกรรมการครบจำนวน 7 คนเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 แล้ว กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทยได้พิจารณาร่างข้อบังคับอย่างรอบคอบแล้ว มีมติรับรองร่างข้อบังคับดังกล่าวเพื่อให้กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีความก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ในการพิจารณาของ กสม. มีหลักการสำคัญในการให้ความเห็นชอบ ดังนี้
1. กสม. ในฐานะสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย ได้รับรองธรรมนูญข้อบังคับของเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions : GANHRI) และธรรมนูญของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Forum of National Human Rights Institutions : APF) ซึ่งเป็นธรรมนูญและข้อบังคับร่วมกันในระดับสากลของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว ดังนั้น จึงสมควรรับรองข้อบังคับการดำเนินการ (RoP) ร่วมกันของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เข้มแข็งในระดับภูมิภาคย่อย อันสอดคล้องกับหน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามมาตรา 247 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และมาตรา 27 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ในการส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน และองค์การระหว่างประเทศในด้านสิทธิมนุษยชน และได้มีการศึกษาข้อกฎหมายอย่างรอบคอบแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายไทย
2. บทบาทหน้าที่หนึ่งของประเทศสมาชิก SEANF ตามร่างข้อบังคับการดำเนินการ (RoP) คือ การส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาศักยภาพของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสอดคล้องตามหน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 อันเป็นผลดีต่อการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนจากระดับประเทศสู่ระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
3. โดยที่การดำเนินงานจะต้องได้รับฉันทามติของประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของประเทศสมาชิกทุกประเทศ ดังนั้น ในการดำเนินความร่วมมือ ประธาน กสม. สามารถที่จะพิจารณาได้หากมีกรณีที่การดำเนินการอาจไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561