หลังฉากความสำเร็จ 'พะเยาโมเดล' ว่าด้วยความสัมพันธ์เชิง 'ทุน-อำนาจ' ของ 'ซี.พี.& ธรรมนัส'
"...ผลลัพธ์ของการจัดงานดังกล่าว ถูกระบุว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดงทางการเมืองครั้งสำคัญ ของ ร.อ. ธรรมนัส ในฐานะส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่ ด้วยเช่นกัน เพราะการนำพา บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เข้ามารับซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิ จากเกษตรกรในพื้นที่ได้ในราคาที่สูงถึง ตันละ 18,000 บาท ที่ความชื่น 15 % น่าจะช่วยสร้างฐานเสียงทางการเมืองได้มากโขเลยทีเดียว..."
ผ่านพ้นมานานหลายเดือนแล้ว!
สำหรับการจัดงาน “วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา” ที่จังหวัดพะเยา ณ ลานตลาดกลางการเกษตร บ้านค่าบน หมู่ 10 ตำบลป่าซาง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2562 ที่ผ่านมา ซึ่งมี ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “พะเยาโมเดล” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าสินค้าข้าวหอมมะลิ และส่งเสริมเป็นสินค้า อัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรและสมาชิกสถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
โดยผลลัพธ์ของการจัดงานดังกล่าว ถูกระบุว่า เป็นผลงานชิ้นโบแดงทางการเมืองครั้งสำคัญ ของ ร.อ. ธรรมนัส ในฐานะส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เจ้าของพื้นที่ ด้วยเช่นกัน
เพราะการนำพา บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด เข้ามารับซื้อผลผลิตข้าวหอมมะลิ จากเกษตรกรในพื้นที่ได้ในราคาที่สูงถึง ตันละ 18,000 บาท ที่ความชื่น 15 % น่าจะช่วยสร้างฐานเสียงทางการเมืองได้มากโขเลยทีเดียว
(ภาพประกอบเรื่อง จาก https://www.up.ac.th/th/NewsRead.aspx?itemID=20101)
แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เบื้องหลังไอเดีย ที่นำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองของ ร.อ. ธรรมนัส ครั้งนี้ มี บริษัท ข้าว ซี.พี. จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้กำกับ อยู่เบื้องหลังให้
หากย้อนวันเวลากลับไป จะพบว่าจุดเริ่มต้นความสำเร็จครั้งนี้ เกิดขึ้น ภายหลังจากที่ร.อ.ธรรมนัส ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" ในพื้นที่ฐานเสียงทางการเมืองของ ร.อ.ธรรมนัส (ร.อ.ธรรมนัส เป็น ส.ส.พะเยา) เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2562 โดย ร.อ.ธรรมนัส รับตำแหน่งเป็นประธานคณะอำนวยการขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" ด้วยตนเอง(ดูเอกสารประกอบ)
ส่วนคณะทำงานขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร "พะเยาโมเดล" มี พันตำรวจเอก รวมนคร ทับทิมธงไชย หัวหน้าคณะทำงาน ของ ร.อ.ธรรมนัส รับหน้าที่เป็นประธานคณะทำงาน โดยมีการเรียกประชุมคณะทำงานฯ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานโครงการนี้ ที่อ้างคำแถลงนโยบายหลักและนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ในการพัฒนาภาคเกษตรที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรราคาสินค้าเกษตร และรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน พร้อมกำหนดให้ พะเยา เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานส่งเสริมโครงการนี้เป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2562 ที่ผ่านมา
มีตัวแทนภาคเอกชน คือ บริษัท ข้าว ซี.พี จำกัด เข้าร่วมการประชุมด้วย
โดยบริบทในห้องประชุมดังกล่าว ภายหลังจากที่พันตำรวจเอก รวมนคร ทับทิมธงไชย หัวหน้าคณะทำงาน ของ ร.อ.ธรรมนัส ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงที่มาที่ไปของคณะทำงาน รวมถึงวัตถุประสงค์สำคัญในการทำงาน ที่ต้องการผลักดันให้เกิดระบบส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเข้าสู่มาตรฐาน โดยเฉพาะ ข้าวหอมมะลิด้วย
ผู้แทนบริษัท ข้าว ซี.พี จำกัด ได้นำเสนอแนวคิดการตลาดนำการผลิตข้าวหอมมะลิ จังหวัดพะเยา ให้ที่ประชุมรับทราบ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1. กำหนดราคารับซื้อข้าวหอมมะลิในราคาตันละ 18,000 บาท ความชื้นที่ 15% 2. การจัดงานวันข้าวหอมมะลิโลก ที่จังหวัดพะเยา และ 3. การบริหารจัดการตลาด โดยจัดทำแบรนด์ข้าวหอมมะลิของพะเยาภายใต้ชื่อแบรนด์ "HUG พะเยา" ทันที
ในการนำเสนอแนวคิดดังกล่าว ผู้แทนบริษัท ข้าว ซี.พี จำกัด ที่มีตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ของ บริษัทฯ ได้นำเสนอที่มาโครงการตลาดนำการผลิต "ข้าวหอมมะลิ" ให้ที่ประชุมรับทราบ
ระบุว่า บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการฯ ครั้งแรกที่ศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี 2553 และในปี 2560 ได้ดำเนินการโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ปัจจุบันบริษัทฯ ได้มีการส่งเสริมการดำเนินการตลาดนำการผลิตข้าวหอมมะลิใน 12 จังหวัด พื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ รวมพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิประมาณ 303,000 ไร่
ขณะที่จังหวัดพะเยา เป็นแหล่งผลิตข้าวที่ดีของไทย ในปีเพาะปลูก 2562/2563 คาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิจำนวน 430,000 ไร่ ผลผลิตคาดว่าจะได้จำนวน 180,000 ตัน บริษัทฯ จึงได้ร่วมดำเนินการโครงการส่งเสริมข้าวหอมมะลิ เริ่มจากในพื้นที่อำเภอดอกคำใต้ และขยายพื้นที่การส่งเสริมไปยังอำเภออื่นๆ มีเป้าหมายการรับซื้อจำนวน 40,000 ตันและกำหนดจุดรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะละจำนวน 13 จุด ซึ่งจะรับซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิในราคาตันละ 18,000 บาท ความชื้นที่ 15 %
พร้อมชี้แจงวิธีการรับซื้อข้าวในพื้นที่ว่า มีทั้งหมด 13 จุด ซึ่งจะมีการประสานระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับบริษัทฯ ในการโอนเงินให้กับสหกรณ์วันต่อวัน เพื่อชำระเงินให้กับเกษตรกร ด้วย (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ พันตำรวจเอก รวมนคร ทับทิมธงไชย หัวหน้าคณะทำงาน ของ ร.อ.ธรรมนัส ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุมว่า เนื่องจากปริมาณผลผลิตข้าวหอมมะลิในจังหวัดพะเยา ปีเพาะปลูก 2562/2563 ผลผลิตคาดว่าจะได้จำนวน 180,000 ตัน แต่บริษัท ข้าว ซี.พี. จะรับซื้อข้าวเปลือก ได้ปริมาณ 40,000 ตัน ต้องบริหารจัดการข้าวเปลือกที่เหลืออีก 1.4 แสนตัน จึงขอให้มีการประชุมหารือจับคู่การค้าระหว่างเกษตรกรและภาคเอกชนในพื้นที่ ได้แก่ โรงสี หรือผู้ประกอบการค้าข้าวในพื้นที่ พะเยา และเชียงราย ด้วย
พันตำรวจเอก รวมนคร ยังแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบถึงนโยบายของ ร.อ.ธรรมนัส ว่า รมช. มีแนวคิดขับเคลื่อนเรื่องตลาดนำการผลิตในทุกจังหวัด โดยเริ่มจากข้าวหอมมะลิในพะเยา และจะขยายผลการขับเคลื่อนไปยังจังหวัดอื่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าเกษตรกรที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด และเพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความยากจน รวมทั้งรัฐบาลไม่ต้องเข้าไปสนับสนุนด้านราคาให้กับเกษตรกร
เบื้องต้นที่ประชุม จึงมอบหมายให้กรมการข้าว ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดกิจกรรม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อกำหนดและจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อน "พะเยาโมเดล และเสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการฯ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส เป็นประธาน และเห็นชอบขยายผลการจับคู่การค้า สินค้าข้าวหอมมะลิ ระหว่าง ภาคเอกชนกับเกษตรกร ได้แก่ บริษัท ข้าว ซี.พี. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พะเยา สหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา โรงสีในพื้นที่พะเยา และเชียงราย เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้
ส่วนการจัดงาน วันเก็บเกี่ยวข้าวหอมมะลิโลก อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา นั้น พันตำรวจเอก รวมนคร ทับทิมธงไชย ได้มอบหมายให้บริษัท ข้าว ซี.พี.จำกัด เป็นหน่วยงานหลัก ในการเตรียมงานเช่นกัน ก่อนที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ จะมีการเสนอให้ทำหนังสือเรียนเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่งคง มาทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีด้วย
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเบื้องหลังฉากความสำเร็จทางการเมือง ของ ร.อ. ธรรมนัส ทั้งในตำแหน่ง ส.ส.พะเยา และรมช.เกษตรฯ ภายใต้นโยบายการดำเนินขับเคลื่อนการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตร ที่ชื่อว่า "พะเยาโมเดล" ซึ่งมี บริษัท ข้าว ซี.พี จำกัด เป็นผู้กำกับหลังฉาก ที่ยังไม่เคยถูกเปิดเผยที่ไหนมาก่อน
สะท้อนให้เห็น ความสัมพันธ์ ระหว่าง ซี.พี. กับ ร.อ.ธรรมนัส ในฐานะรมช.เกษตรฯ ในลักษณะเชิง "ทุน" และ "อำนาจ" บ้างอย่าง ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ควรถูกมองข้ามโดยเด็ดขาด
และยิ่งต้องจับตามองมากขึ้นกว่าเดิม นับตั้งแต่ช่วงเวลานี้เป็นต้นไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/