อธิบดีกรมราชทัณฑ์รอผลแลปตรวจอาหารปนเปื้อน จ่อฟันคุกพิษณุโลกยกระบิ
พิษณุโลก-ก.สาธารณสุขเตรียมเจาะเลือดผู้ต้องขังกว่า3,000คนในเรือนจำพิษณุโลก หยุดการแพร่ระบาดโรคไทรอยด์เป็นพิษ ขณะที่มีผู้ต้องขังถูกส่งไปรักษาตัวที่ร.พ.แล้ว50ราย
เว็บไซต์ โพสต์ทูเดย์ออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 พันตำรวจเอกณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ได้เข้าไปตรวจในเรือนจำพิษณุโลกแล้ว หลังเกิดเหตุนักโทษตาย4ศพ จากหลักฐานของกรมควบคุมโรค และสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต มีภาวะโปรแตสเซี่ยมในเลือดต่ำน่าจะเกิดจากการบริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนของไทรอยด์ ทำให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ทำให้มือเท้าอ่อนแรง บางรายมีอาการมาก ขณะนี้ตั้งแต่ 29 ธ.ค.62 ถึง 4 ม.ค.63 มีผู้ต้องขังเสียชีวิต 4 คน กระทรวงสาธารณสุขได้ระดมกำลังแพทย์ พยาบาลเข้ามาช่วยเหลือคัดกรอง เบื้องต้นด้วยการจับชีพจร ถ้าเกินกว่า 100 ครั้งต่อนาที จะแยกออกมาได้จำนวน 610 คน และทำการตรวจละเอียด และรับตัวเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลทันทีประมาณ 50 คน ได้แก่รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวร 25 คน ที่เหลือรักษาอยู่ รพ.วังทอง และรพ.พุทธชินราช รวมแล้วนอนรักษาตัวที่รพ.ประมาณ 50 คน และในวันพรุ่งนี้ (7 ม.ค.63) จะมีการเจาะเลือด 100 % ในผู้ต้องขังทั้งหมดกว่า3,000ราย เพื่อเก็บเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ คัดกรองโรคในห้องแล็ป ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์จะได้ผลออกมา
วันนี้ ได้ทำความเข้าใจกับผู้ต้องขัง แนะนำให้เขา สังเกตอาการตนเอง พูดให้เกิดความเบาใจว่าจะมีการตรวจ การคัดกรอง และบำบัดรักษาอย่างดี ทั้งฝ่ายญาติ และผู้ต้องขังก็ดูเหมือนมีความเข้าใจอย่างดีในพื้นที่นี้ มีเรือนจำ 3 แห่ง คือ เรือนจำจังหวัดพิษณุโลก มีปัญหาของการเจ็บป่วย ส่วนเรือนจำกลาง และทัณฑสถานหญิงพิษณุโลก ไม่มีปัญหา แต่ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากเรือนจำกลาง ทัณฑสถานหญิง มาช่วยดูแล หลังจากนี้ไปเชื่อว่าจะควบคุมได้ผู้เจ็บป่วยที่อาการไม่ดีก็จะส่งรักษาที่โรงพยาบาลทันที
ส่วนเรื่องการตรวจอาหารเพื่อหาสาเหตุของโรคต้องรอผลตรวจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่า อาหารที่ส่งไปให้ตรวจในแลปเป็นตัวอย่างชิ้นเนื้อที่ปนเปื้อนจริงหรือไม่อย่างไร กรมราชทัณฑ์ก็ได้ให้ผู้ตรวจราชการมาเก็บข้อมูลไปตรวจสอบด้วย การดำเนินการถ้าหากผลออกมาแล้วมาจากอาหารปนเปื้อน อาหารไม่ดี จะพิจารณาข้อบกพร่องทางวินัย ส่วนเรื่องทางปกครอง ขอเวลาประมวลอาจจะใช้มาตรการทางการปกครองในการย้ายสับเปลี่ยน
เมื่อถามว่า ทำไมจึงไม่มีการส่งผู้ป่วยไปรักษาให้ทันท่วงที อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ตอบว่า เป็นเรื่องที่ตำหนิไปแล้วเพราะทั้ง 4 รายที่เสียชีวิต เสียชีวิตในเรือนนอนทั้งหมดโดยหลักแล้ว ถ้ามีการตื่นตัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขในเรือนจำ ผู้ช่วยงานเจ้าหน้าที่ที่ไว้วางใจ น่าจะสังเกตอาการได้ เพราะในช่วงกลางคืนกำลังเราค่อนข้างน้อย ผู้ต้องขังก็แยกนอนห้องละ 50-100 คน
นอกจากนี้ จากการที่ตรวจสอบภาพวงจรปิด ก็ไม่พบว่า เป็นการทำร้าย หรือ ฆาตรกรรม ภาพจากกล้องวงจรปิด ผู้เสียชีวิต ก็ไม่ได้มีอาการทุรนทุราย หรือ ร้องเอะอะโวยวาย พลิกตัวไปมา ถีบผ้าห่มออก มาพบอีกทีก็เสียชีวิตแล้ว ซึ่งตนและญาติคงสบายใจกว่านี้ ถ้าผู้ต้องขังไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล นั่นความหมายว่าเราพยายามตรวจสอบและรักษา เรื่องนี้ขอรับไปแก้ไข.