รมว.พลังงานจ่อใช้เงินกองทุนอุ้มราคาน้ำมัน ถ้าราคาโลกพุ่ง 80 ดอลฯ/บาร์เรล
“สนธิรัตน์” รมว.พลังงาน ระดมทีมรับมือความขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐฯ เตรียมใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ อุ้มราคาน้ำมันในประเทศหากราคาน้ำมันดิบดูไบทะลุ 80 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตในไทยรับมือ และลดการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ
เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2563 นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดแถลงข่าวชี้แจงกรณีสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกวันนี้ (6 ม.ค.) ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินและเตรียมการหากเกิดสถานการณ์ที่วิกฤตเพิ่มขึ้น จากการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นวันนี้ยังไม่มีผลกระทบในด้านราคาน้ำมัน และการสำรองน้ำมันภายในประเทศไทย
วันนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับ 69 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยังเป็นระดับราคาที่รับมือได้ แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นไปถึง 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทางกระทรวงพลังงานก็พร้อมนำเงินกองทุนน้ำมันมาช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อช่วยพยุงราคาน้ำมันในไทยไม่ให้ราคาเกิดความผันผวนจนส่งผลกระทบต่อประชาชน
ในด้านบริหารราคาน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีเกณฑ์สำหรับการบริหารจัดการราคาน้ำมันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งได้มีการจัดทำเป็น Scenario ในช่วงระดับราคาต่างๆ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดในเรื่องดังกล่าว ขณะนี้สถานะกองทุนน้ำมันฯ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านบาท
ปัจจุบันไทยมีปริมาณสำรองน้ำมันดิบประมาณ 2,988 ล้านลิตร และปริมาณสำรองน้ำมันดิบที่อยู่ระหว่างขนส่งอีก 1,144 ล้านลิตร น้ำมันสำเร็จรูป 1,468 ล้านลิตร รวมจำนวนวันที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ทั้งหมด 50 วัน ส่วนปริมาณสำรองก๊าซ LPG ทั้งหมดประมาณ 101 ล้านกิโลกรัม สำรองได้ 17 วันสำหรับใช้ในภาคครัวเรือน
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะขอความร่วมมือในการงดส่งออกน้ำมันดิบซึ่งจะได้ปริมาณน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีก 25,000 บาร์เรลต่อวัน และหากมีเหตุฉุกเฉินก็สามารถเพิ่มการผลิตภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 36,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันผลิตน้ำมันดิบได้ประมาณ 1.3 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะขอความร่วมมือกับโรงกลั่นน้ำมันให้หาทางออกด้านเทคนิคเพื่อใช้น้ำมันดิบในประเทศทั้งหมด
ปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้มีการบริหารจัดการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว โดยได้ขอความร่วมมือกับกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ปรับลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางที่เคยสูงถึงกว่า 74% และล่าสุดปรับลดเหลือประมาณ 50% หรือจาก 420,000 บาร์เรลต่อวัน ลดเหลือ 250,000 บาร์เรลต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงการขนส่งน้ำมันดิบผ่านช่องแคบฮอร์มุซหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น โดยหันมานำเข้าน้ำมันดิบจากทวีปอเมริกา และแอฟริกาตะวันตก
ด้านนายจตุรงค์ วรวิทย์สุรวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมายังประเทศไทย เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยหากเทียบกับเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์กรณีซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีโรงกลั่นน้ำมันช่วงปลายปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อค่าประกันเสี่ยงการขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า จาก 2 เซ็นต์ต่อบาร์เรล เป็น 20 เซ็นต์ต่อบาร์เรล จากปกติค่าประกันความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 2-3 เซ็นต์ต่อบาร์เรล
ส่วนการปรับพอร์ตจัดหาและนำเข้าน้ำมันดิบของ ปตท. ที่ปัจจุบันได้ลดการจัดหาจากตะวันออกกลางเหลือระดับ 50% ของปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ จะสามารถลดลงได้อีกหรือไม่นั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ปตท. แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของโรงกลั่นในประเทศแต่ละแห่งว่าจะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพให้รองรับคุณภาพน้ำมันของแต่ละแหล่งได้อย่างไร