‘อิหร่าน’ ประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะ ‘ยูเรเนียม’
เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์ รายงานอ้าง สำนักข่าวรอยเตอร์ - อิหร่านประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมเมื่อวานนี้ (5 ม.ค.) ซึ่งนับเป็นการถอยห่างออกไปอีกก้าวจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ 6 ประเทศ แต่ยังคงรับปากว่าจะให้ความร่วมมือกับผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ เป็นที่คาดหมายกันอยู่แล้วว่าอิหร่านน่าจะแถลงจุดยืนล่าสุดเกี่ยวกับข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ในช่วงสุดสัปดาห์ ทว่าคำประกาศนี้มาประจวบเหมาะกับช่วงที่เกิดความตึงเครียดครั้งใหญ่กับสหรัฐฯ หลังจาก กาเซ็ม โซไลมาลี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) ของอิหร่านถูกลอบสังหารที่กรุงแบกแดดโดยปฏิบัติการโดรนของอเมริกาเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (3)
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่า รัฐบาลอิหร่านจะไม่เคารพข้อจำกัดที่ถูกระบุไว้ในข้อตกลงปี 2015 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges) ที่ใช้ในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม, ระดับความบริสุทธิ์ของยูเรเนียมที่สามารถผลิตได้, ปริมาณยูเรเนียมในสต็อก รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์
“อิหร่านจะเดินหน้าเสริมศักยภาพด้านนิวเคลียร์ต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด โดยขึ้นอยู่กับความจำเป็นทางเทคนิค” ถ้อยแถลงจากรัฐบาลเตหะรานระบุ
อิหร่านเริ่มทยอยละทิ้งเงื่อนไขของแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (The Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) หรือข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ไปทีละขั้น เพื่อเป็นการตอบโต้ที่รัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ถอนตัวฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงฉบับนี้เมื่อปี 2018 และนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกลับมาใช้ใหม่จนกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว เตหะรานรับปากจะจำกัดกิจกรรมนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ
การที่รัฐบาล ทรัมป์ หันหลังให้กับข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ส่งผลให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่านดิ่งเหวลงอย่างฉับพลัน และอิหร่านยังตัดพ้อมหาอำนาจยุโรปว่าไม่พยายามปกป้องข้อตกลงฉบับนี้ไว้ด้วยการช่วยคุ้มกันเศรษฐกิจอิหร่านจากบทลงโทษของวอชิงตัน
อย่างไรก็ดี รัฐบาลอิหร่านระบุวานนี้ (5) ว่ายังพร้อมที่จะ “กลับลำ” อย่างรวดเร็ว หากสหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
“มาตรการนี้ยังอยู่ภายใต้ข้อตกลง JCPOA และทั้ง 5 ประการสามารถถูกยกเลิกได้ หากมีการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างตอบแทนที่เห็นผลชัดเจน” โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ทวีตข้อความ
นักการทูตยุโรปผู้ไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่งยอมรับว่า ข้อตกลงปี 2015 “ตายสนิทแล้ว” แต่ยืนยันว่ายุโรปพร้อมที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อชะลอกิจกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน “และรักษาสิ่งที่ยังพอจะรักษาไว้ได้”
มาร์ค ฟิตซ์แพทริค ผู้เชี่ยวชาญด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์จากสถาบันนานาชาติเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (International Institute for Strategic Studies - IISS) ชี้ว่า ท่าทีล่าสุดของอิหร่านยังคงเหลือพื้นที่ไว้สำหรับการเจรจาทางการทูต
“พวกเขายังไม่ได้บอกว่าจะเสริมสมรรถนะยูเรเนียมถึงขั้นไหน และจะเพิ่มจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์เท่าไหร่” ฟิตซ์แพทริค อธิบายกับรอยเตอร์ “ผมเชื่อว่าพวกเขายังเผื่อพื้นที่สำหรับการเจรจาต่อรองมากพอสมควร แต่ก็พร้อมที่จะใช้มาตรการขั้นต่อๆ ไปหากจำเป็น”
รัฐบาล ทรัมป์ อ้างว่านโยบาย “กดดันขั้นสูงสุด” ที่สหรัฐฯ นำมาใช้หลังถอนตัวออกจากข้อตกลงปี 2015 จะช่วยบีบให้อิหร่านยอมเปิดเจรจาทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่ครอบคลุมยิ่งกว่า คือเพิ่มข้อจำกัดเกี่ยวกับโครงการพัฒนาขีปนาวุธอิหร่านและบทบาทในความขัดแย้งตะวันออกกลางด้วย แต่อิหร่านยังคงยืนกรานว่าจะไม่เจรจาข้อตกลงใหม่