ห่วงความขัดแย้ง ‘สหรัฐ-อิหร่าน’ ดันราคาน้ำมันพุ่ง 20%
‘นักวิชาการ’ ประเมินความขัดแย้งทางการทหารระหว่าง ‘สหรัฐ-อิหร่าน’ อาจจุดชนวนไปสู่สงครามและทำให้ราคามันในตลาดโลกพุ่ง 20% คาดเศรษฐกิจไทย 63 โต 2.6-2.9% แต่มีเงื่อนไขว่าการลงทุน-การส่งออกต้องฟื้น รัฐเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการทหารระหว่างสหรัฐฯและอิหร่าน ซึ่งอาจขยายวงเป็นวิกฤตการณ์สงครามว่า ปัจจัยดังกล่าวจะกดกันให้ราคาน้ำมันและพลังงานในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว
“หากอิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบ Hormuz หรือโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันผ่านช่องแคบ Hormuz จะทำให้มีผลกระทบต่ออุปทานของน้ำมันดิบในเอเชีย เนื่องจากน้ำมัน 80% หรือ22.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขนส่งผ่านช่องทางนี้ ในขณะที่ผู้นำสหรัฐฯประกาศว่าพร้อมโจมตีตอบโต้ 52 เป้าหมายสำคัญในอิหร่าน ย่อมส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 20% และอัตราเงินเฟ้อของประเทศต่างๆเพิ่มสูงขึ้น” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2563 โดยคาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 3.5-3.6% เทียบกับปี 2562 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 3% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ แม้ว่าสงครามการค้าโลกจะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังทำให้เศรษฐกิจโลกในปี 2563 เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 19 ปี (ปี 2544-2562) ที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ย 3.9% และบางปีเคยโตถึง 4.3%
ส่วนเศรษฐกิจสำคัญของโลกปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเติบโต 1.9-2.1% เศรษฐกิจยูโรโซนเติบโต 1.2-1.5% ญี่ปุ่นเติบโต 0.5-0.8% และจีนเติบโต 5.8-6% ส่วนอัตราการเติบโตของปริมาณการค้าโลกจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโตได้เพียง 1.2-1.2% แต่หากพิจารณามูลค่าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562 ในขณะที่การค้าและการลงทุนภายในภูมิภายังคเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลตอบแทนตลาดหุ้นทั่วโลกและตลาดการเงิน คาดว่าจะยังคงเป็นบวกจากสภาพคล่องทั่วโลกที่ยังสูงมาก และผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นอีกจากการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และธนาคารกลางจีน ส่วนราคาทองคำและเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง เพราะนักลงทุนจะหันไปลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างเงินดอลลาร์สหรัฐ พันธบัตรรัฐบาล และทองคำ
ขณะที่ปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนในปี 2563 แม้ว่าอาจจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นความขัดแย้งในการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะในสินค้าไฮเทคเทคโนโลยี และมีแนวโน้มว่าจะเกิดสงครามค่าเงินมากขึ้น (Currency War) นอกจากนี้ อาจเกิดความขัดแย้งทางการค้าประเด็นเรื่องการเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลธุรกิจออนไลน์ระหว่างสหรัฐกับยุโรป ส่วน Brexit นั้น จะยืดเยื้อไปอีกนานกว่าจะมีข้อตกลงกันได้
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ประเมินถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยว่า แม้ว่าในปี 2563 เศรษฐกิจจะไม่แน่นอน มีความผันผวนสูง และเติบโตต่ำกว่าศักยภาพติดต่อกันเป็นปีที่ 6 แต่จะยังไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หลายที่เรียกว่า “เผาจริง” แต่อย่างใดหรือวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 โดยครึ่งปีแรกของปี 2563 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 1.8-2.9% ต่ำกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของภูมิภาคอาเซียน และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียอยู่จะเติบโตที่ 6%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2563 มีโอกาสเติบโตที่ 2.6-2.9% แต่มีเงื่อนไขว่าการลงทุนและภาคการส่งออกจะต้องฟื้นตัว ในขณะที่รัฐบาลต้องเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 อีกทั้งต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทางเมือง และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่มีระดับความรุนแรงแบบเดียวกับโรคซาร์เมื่อ 17 ปีก่อน ที่จะมีผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ส่วนหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้การกระตุ้นการบริโภคมีข้อจำกัด
“เศรษฐกิจไทยที่เติบโตต่ำต่อเนื่องยาวนานมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันจากคุณภาพทรัพยากรมนุษย์และการศึกษา การแพร่กระจายของการคอร์รัปชันในทุกระดับ และความเสื่อมศรัทธาอันเป็นผลจากการไม่ยึดมั่นในหลักนิติรัฐนิติธรรม รวมทั้งการไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีดิสรัปชันได้อย่างเท่าทันของกิจการและธุรกิจต่างๆตลอดจนถึงคนงาน จึงทำให้เกิดการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทนั้น คาดว่าเงินบาทยังคงมีความผันผวนสูงและอาจแข็งค่าอีกเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2563 และอาจพลิกกลับมาอ่อนค่าได้หลังจากนี้ เนื่องจากภาวะเงินทุนระยะสั้นไหลออก จากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทำให้ไทยเกินดุลการค้าลดลงและอาจเริ่มขาดดุล หลังจากเกินดุลมาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ทั้งนี้คาดว่าไตรมาสแรก เงินบาทจะเคลื่อนไหวที่ 29-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ขอบคุณภาพ https://www.thaipost.net/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage