หมอประกิต เตือนเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ช่วยชาวไร่ยาสูบ
หมอประกิต เตือนเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ช่วยชาวไร่ยาสูบ ผลประโยชน์ตกบ.บุหรี่ข้ามชาติ เสนอเร่งปรับโครงสร้างภาษีโดยด่วน เน้นปรับอัตราภาษีตามมูลค่าเป็นอัตราเดียว ดึงราคาบุหรี่นอกสูงขึ้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับที่นายพชร อนันต์ศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต จะเสนอให้ครมพิจารณาเลื่อนการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเป็นอัตราเดียว 40% ตามกำหนดที่จะขึ้นเดือนตุลาคมนี้ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อลดความเดือดร้อนของชาวไร่ยาสูบ และการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) ว่า การปรับอัตราภาษีบุหรี่ซิกาแรทเมื่อเดือนตุลาคม 2560 เป็น 2 ระดับ โดยคิดตามมูลค่า 20% สำหรับบุหรี่ที่ขายตำ่กว่าซองละ 60 บาท และ40% สำหรับบุหรี่ที่ขายซองละ 60 บาทขึ้นไป และเก็บภาษีเฉพาะ 1.2 บาทต่อมวนสำหรับบุหรี่ทุกราคาขาย อัตราภาษีนี้แต่เดิมกำหนดให้ใช้เป็นเวลา 2 ปี และปรับให้เป็น 40% อัตราเดียวเดือนตุลาคม 2562 แต่ได้มีการเลื่อนจากกำหนดเดิมมาแล้ว เนื่องจากชาวไร่ยาสูบได้รับความเดือดร้อน จากการที่การยาสูบแห่งประเทศไทย ลดการซื้อใบยาสูบจากชาวไร่ เนื่องจากส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ของการยาสูบลดลงฮวบฮาบ จากที่ขายได้ประมาณ 27,000 ล้านมวนต่อปีก่อนการปรับโครงสร้างภาษี และครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 67.5% แต่หลังการปรับอัตราภาษีเป็น 2 ระดับ ทำให้ยอดขายของการยาสูบลดลงในปี 2561 เหลือ 19,000 ล้านมวน และส่วนแบ่งตลาดลดลงเหลือ 50% ยสท. เคยมีกำไรปีละ 8,000-9,000 ล้านบาท เหลือกำไรไม่กี่ร้อยล้านบาท จนไม่มีกำไรที่จะนำส่งคลังมา 2 ปีแล้ว ขณะที่บุหรี่นำเข้ารายหนึ่งเคยขายได้ 13,000 ล้านมวนในปี 2560 ได้รับประโยชน์จากการปรับโครงสร้างภาษี ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 18,000 ล้านมวนในปี 2561 และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ตามรายงานของยูโรมอร์นิเตอร์
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการพิจารณาปรับภาษีเป็น 2 อัตราเมื่อเดือนตุลาคม 2560 จะด้วยขาดความรอบคอบ หรือจะด้วยอะไรอื่นทีแอบแฝงก็ตามที ทำให้บริษัทบุหรี่ได้ฉวยโอกาส ลดราคาบุหรี่ที่ขายในประเทศไทย จากซองละ 72 บาทเหลือ 60 บาท เพื่อที่จะเสียภาษีน้อยลง ขณะที่บุหรี่ของยสท. ที่เคยขายซองละ 40-50 กว่าบาท ต้องปรับราคาขายเป็นซองละ 60 บาท ผลคือ ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบบุหรี่นอกแทนการสูบบุหรี่ของยสท. การปรับโครงสร้างภาษีเมื่อเดือนตุลาคม 2560 จึงสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ต่อทั้งยสท. ที่กำไรที่จะส่งรัฐบาลปีละเกือบหมื่นล้านบาท หดหายไปหมด ส่งผลกระทบไปถึง ชาวไร่ยาสูบและเดือดร้อนถึงรัฐบาลไทย ที่ต้องเข้าไปช่วยแก้ปัญหา ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ไปเต็มๆคือ บริษะทยุหรี่ข้ามชาติ
“สังคมน่าจะมีการตรวจสอบให้รู้ความจริงว่า การตัดสินใจปรับอัตราภาษีเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ความผิดพลาดที่ส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครควรที่จะรับผิดชอบ ส่วนการที่อธิบดีกรมสรรพสามิตเสนอให้เลื่อนการปรับภาษีเป็น 40% อัตราเดียวออกไปอีก ก็จะไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ของการยาสูบไทยและชาวไร่ยาสูบดีขึ้น อัตราภาษี 2 ระดับที่ใช้อยู่ขณะนี้ บุหรี่ต่างประเทศก็จะชิงส่วนแบ่งตลาดของ บุหรี่ไทย มากขึ้นๆ เข้าทางบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเต็มๆ” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่าทางออกในเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีที่ใช้อยู่ขณะนี้โดยด่วน ไม่คอยไปจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้ โดยอาจจะเพิ่ม อัตราภาษีเฉพาะที่เก็บ 1.2 บาทต่อมวนในขณะนี้ ให้สูงขึ้นเป็น 1.5 บาทหรือมากกว่าต่อมวน และปรับอัตราภาษีตามมูลค่าให้เหลือน้อยกว่า 40% เช่นเป็น 30-35% อัตราเดียว อาจจะทำให้บุหรี่ต่างประเทศแย่งส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ของบุหรี่ไทยช้าลง ชาวไร่ยาสูบจะได้รับผลกระทบน้อยลง การยาสูบอาจจะกลับมามีกำไร นำเงินส่งคลัง เพื่อที่รัฐบาลจะได้นำเงินบางส่วนไปช่วยเหลือชดเชยชาวไร่ด้วย ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาชาวไร่ยาสูบให้ถูกทาง การเลื่อนการปรับอัตราภาษีเป็น 40% อัตราเดียวออกไป ไม่ได้เป็นแก้ปัญหา แต่เป็นการเปิดทางให้บริษัทบุหรี่ข้ามชาติทำลายอุตสาหกรรมยาสูบและชาวไร่ไทยเท่านั้น ไม่นับกำไรของการยาสูบที่หายไป ทำให้ไม่สามารถนำเงินส่งคลังจากที่เคยส่งมาตลอด
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก kapook