ระดมสมองเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน คัดเลือกข้อเสนอ “สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง”
สปสช.ระดมสมองเครือข่ายผู้ป่วย ภาคประชาชน คัดเลือก 5 จาก 64 ข้อเสนอสิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง ผลจากเวทีรับฟังความเห็น ปี 62 สู่กระบวนการบรรจุสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.ได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อจัดลำดับความสำคัญและสรุปข้อเสนอหัวข้อปัญหาและ/หรือเทคโนโลยีสุขภาพเพื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปี 2563 (UCBP63) ในกลุ่มผู้ป่วย ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป โดยมี นพ.ภูษิต ประคองสาย ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ร่วมดำเนินการประชุม และมีตัวแทนกลุ่มผู้ป่วยต่าง ๆ อาทิ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และกลุ่มผู้ป่วยและผู้ปกครองโรคหายาก เช่น โรคเอชเออี โรคไอพีดีลำไส้อักเสบ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย พร้อมทั้งตัวแทนเครือข่ายคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุและตัวแทนเครือข่ายคนไทยไร้สิทธิ ตลอดจนนักวิชาการ เข้าร่วม
นพ.รัฐพล กล่าวว่า การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนนับเป็นหัวใจสำคัญของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดยเฉพาะการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้คนไทยผู้มีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยการระดมสมองเพื่อลำดับความสำคัญและสรุปข้อเสนอหัวข้อปัญหาฯ เป็นหนึ่งกระบวนการที่นำไปสู่สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการระดมสมองกลุ่มผู้ป่วย ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็น 3 ใน 9 กลุ่ม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้เกี่ยวข้องในระบบบัตรทอง เพื่อร่วมพิจารณา 64 ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ ที่ได้จากเวทีรับฟังความคิดเห็นทั่วไปประจำปี 2562 และผ่านมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยได้เพิ่มเติมข้อเสนอโรคหายากเพิ่มและข้อเสนอจากภาคประชาชน
นพ.รัฐพล กล่าวต่อว่า ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ที่ได้ร่วมระดมสมองในวันนี้ ครอบคลุมทั้งการการรักษา ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ในจำนวนนี้มี 12 ข้อเสนอ ได้อยู่ระหว่างดำเนินการแล้ว ขณะที่ภาพรวมข้อเสนอการรักษาส่วนใหญ่เป็นการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคหายาก อาทิ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันสืบทอดบกพร่อง โรคที่เกิดจากการขาดหรือมีความผิดปกติของสารยับยั้งเอนไซม์ และโรคพันธุกรรมกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น โดยที่ประชุมเห็นตรงกันให้นำเข้าสู่ชุดคณะทำงานพัฒนาระบบบริการโรคหายากพิจารณา เพราะเป็นช่องทางเกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งโรคหายากมีผู้ป่วยน้อย มีอุปสรรคและข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาและยาอย่างมาก ทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก บางโรคค่าใช้จ่ายสูงถึงหลักล้านบาท จึงต้องดำเนินการเป็นกรณีเฉพาะโรค โดยในปัจจุบันกองทุนบัตรทองครอบคลุมการดูแล 24 โรคหากยากแล้ว
ส่วนข้อเสนอด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เข้าสู่การคัดเลือกในวันนี้ อาทิ การตรวจทางห้องปฏิบัติการไวรัสตับอักเสบ บี, ซี และหมู่เลือดให้กับสามีของหญิงตั้งครรภ์ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ในกลุ่มมีความเสี่ยงสูง การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม Self Kit การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ขยายอายุ 40 ปีขึ้นไป การตรวจคัดกรองโรคและตรวจเลือดโรคไตปีละ 1 ครั้ง ให้กับกลุ่มอายุ 60 ปี และการเพิ่มสิทธิเครื่องและแถบสำหรับตรวจน้ำตาลปลายนิ้วให้กับผู้เป็นเบาหวานทุกคนที่มีความจำเป็น โดยแพทย์เป็นผู้พิจารณา สำหรับข้อเสนอสิทธิประโยชน์ฟื้นฟูสมรรถภาพ ได้แก่ การฝึกทักษะอาชาบำบัด ธาราบำบัด สำหรับเด็กออทิสติกและจิตเวช เป็นต้น ขณะที่ข้อเสนอสิทธิประโยชน์ยาและวัคซีน มี 22 ข้อเสนอ โดยได้แยกนำเสนอต่ออนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านยาพิจารณา หากได้รับการประกาศเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติจะมีการบรรจุเป็นสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป
นพ.รัฐพล กล่าวว่า ในการพิจารณาจะยึดหลักเกณฑ์การคัดเลือก ประกอบด้วยจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ความรุนแรงของปัญหา ประสิทธิผลของเทคโนโลยีฯ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของครัวเรือน ความเป็นธรรมและประเด็นทางสังคมและจริยธรรม นอกจากนี้ยังต้องคำนึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ แนวทางการรักษาทางการแพทย์ ความพร้อมระบบบริการ ภาระงบประมาณของระบบ และข้อพิจารณาความเป็นไปได้ในเชิงจริยธรรม ซึ่งข้อเสนอสิทธิประโยชน์ที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้จะนำไปรวมกับข้อเสนอจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีก 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ กลุ่มนักวิชาการด้านสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวข้องและกลุ่มนวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อคัดเลือกและเข้าสู่กระบวนการดำเนินการบรรจุสิทธิประโยชน์ เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงต่อไป