เมืองหลวงเม็กซิโกห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง
เว็บไซต์ สำนักข่าวไทย รายงานว่า กรุงเม็กซิโกซิตีของเม็กซิโกห้ามร้านค้าต่าง ๆ ตั้งแต่ร้านเล็กไปจนร้านใหญ่จำหน่ายและแจกจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พร้อมกับอีกหลายประเทศทั่วโลก ด้านธุรกิจพลาสติกวอนให้จัดระเบียบ ไม่ใช่ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด
เจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในกรุงเม็กซิโกซิตีกล่าวว่า ต้องขจัดพลาสติกออกจากชีวิตประจำวัน เพราะพลาสติกและขยะอื่น ๆ ที่ทำลายโลกใบนี้ล้วนไปตกค้างตามสภาพแวดล้อมทั้งตามหุบเขา ป่าไม้ และสถานที่สาธารณะ โดยไม่มีใครเก็บทำความสะอาด ร้านค้าที่ฝ่าฝืนระเบียบห้ามจำหน่ายและแจกจ่ายถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจะมีโทษปรับตั้งแต่ 42,000 เปโซจนถึง 170,000 เปโซ (ตั้งแต่ 67,000 บาทจนถึง 271,135 บาท) พ่อค้าในตลาดคนหนึ่งมองว่า คำสั่งนี้จะทำให้คนต้องย้อนกลับไปสู่ยุค 60 ที่ใช้ถุงกระดาษ ถุงกระสอบ และตะกร้าใส่ของ เชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าคนจะเคยชิน บริษัทใหญ่หลายแห่งแจกถุงพลาสติกแบบนำกลับมาใช้ได้ใหม่ให้ลูกค้าไปก่อนในเดือนนี้ระหว่างหาหนทางอื่น ๆ ที่จะลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก
สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกที่มีสมาชิกเป็นผู้ผลิตถุงพลาสติกในเมืองหลวง 141 รายเผยว่า คนในเมืองหลวงเม็กซิโกและพื้นที่โดยรอบราว 20 ล้านคนใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งปีละ 68,000 ตัน คำสั่งห้ามจำหน่ายและแจกจ่ายอย่างเด็ดขาดจะกระทบอุตสาหกรรมนี้ที่เดือดร้อนอยู่แล้วจากการต้องปรับตัวกับมาตรการปฏิรูปหลายอย่าง จึงได้วิ่งเต้นให้สมาชิกสภาออกกฎหมายรัฐบาลกลางที่จะทำให้ระเบียบต่าง ๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันและให้ใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนา สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ทางออกในเรื่องนี้ควรเป็นการจัดระเบียบ ไม่ใช่การห้ามใช้อย่างเด็ดขาด อุตสาหกรรมพลาสติกมีรายได้ปีละ 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 904,926 ล้านบาท) แต่ลดลงอย่างมากเมื่อปีก่อนเพราะหลายเมืองเริ่มห้ามใช้ถุงพลาสติกแล้ว ด้านสมาคมบริษัทผู้ผลิตถุงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเผยว่า บรรจุภัณฑ์แบบนี้ต้องนำเข้าวัสดุราคาสูงจากต่างประเทศ จึงเห็นว่าควรเอาอย่างรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐที่ห้ามการใช้ถุงพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งตั้งแต่ปี 2557 แต่ให้ใช้พลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง