'เฉลิมชัย' ปฏิรูปภาคเกษตร หนุนทำ‘เกษตรอินทรีย์’ ดันไทย‘ครัวโลก’
เว็บไซต์ www.naewna.com รายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ขณะนี้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงเกษตรในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ได้รับการจัดสรร 109,113.2650 ล้านบาทประกอบด้วย รายจ่ายบุคลากรภาครัฐ 25,535.4692 ล้านบาท งานพื้นฐาน 11,549.1760 ล้านบาท งานยุทธศาสตร์ 21,118.1321 ล้านบาท งานบูรณาการ (Agenda) 42,995.7680 ล้านบาท และงานพัฒนาพื้นที่ระดับภาค (Area) 7,914.7197 ล้านบาทซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา วาระ 2และ3 ในวันที่ 8 – 9 ม.ค.
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า กำชับทุกหน่วยงานให้เร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายทันทีที่ได้รับอนุมัติงบประมาณซึ่งทุกหน่วยวางแผนปฏิบัติการไว้พร้อมแล้ว โดยเริ่มที่การกำหนดเขตการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning) เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของสินค้าเกษตรจากแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เป็นเครื่องมือในการแผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญ 7 ชนิดได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สับปะรด และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนศึกษาสินค้าหรือกิจกรรมทางเลือกให้เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ รวมถึงสนับสนุนมาตรการจูงใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรเพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชเดิมไปปลูกพืชที่มีศักยภาพในพื้นที่เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม พื้นที่เป้าหมาย 100,000 ไร่
นอกจากนี้ยังน้อมนำศาสตร์พระราชามาส่งเสริมเกษตรกรทำทฤษฎีใหม่ 354,614 ราย ที่เกษตรกรรมทางเลือก/เกษตรผสมผสาน 16,110 ราย ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร 44,780 ราย รวมทั้งการผลิตพืชในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ โดยมีเป้าหมายสนับสนุน 3 ระดับคือ การรวมกลุ่ม ปัจจัยการปรับปรุงดิน และกระบวนการรับรองมาตรฐานแบบมีส่วนร่วม (PGS) 1,575 ราย พื้นที่ 15,750 ไร่ จัดทำแผนปฏิบัติการด้านเกษตรอินทรีย์ พ.ศ. 2560-2565 เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ และเพิ่มจำนวนเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 80,000 ราย ภายในปี 2565 ทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง โดยยึดพื้นที่เป็นหลัก (Area base) เช่น พื้นที่ใกล้โรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาลเพื่อเป็นแหล่งรับซื้อผลผลิต ที่สำคัญคือ มาตรการลด ละ เลิกการใช้สารเคมี
โดยประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีทางการเกษตรตามความจำเป็น และการใช้วิธีการกำจัดวัชพืชและป้องกันกำจัดโรคพืชโดยวิธีอื่น เช่น เครื่องจักรกลเกษตรและสารชีวภัณฑ์ การให้ความรู้กับเกษตรกรผ่านเวทีโครงการคลินิคเกษตรเคลื่อนที่ สนับสนุนปัจจัยการผลิตเกี่ยวกับสารอินทรีย์ต่างๆ ได้แก่ สนับสนุนการใช้ปุ๋ยพืชสดในการปรับปรุงบำรุงดิน ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยหมัก พด. ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง และมาตรการพัฒนาระบบปลูกพืชและเขตกรรม ดำเนินมาตรการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรแทนแรงงานเกษตร สนับสนุนให้เกษตรกรได้พัฒนาทักษะและเทคนิคการซ่อมแซมเครื่องยนต์เกษตร 4,700 ราย
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า เมื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพแล้วต้องส่งเสริมการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การขยายโอกาสทางการตลาด ระบบการขนส่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญ จะแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร เพื่อกำหนดกรอบการจัดทำแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร ปี 2563 – 2565 เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์สินค้าเกษตร ลดการสูญเสียและเพิ่มการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมาก การขยายช่องทางตลาดและจัดหาตลาดใหม่เพิ่มเป็นอีกประการที่จำเป็น จะใช้กลไกสหกรณ์ส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ นำผลิตภัณฑ์สินค้าจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์ชื่อ “Co-op click”รวมถึงนโยบายขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร สู่ไทยแลนด์ 4.0 ในการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดที่สำคัญตามแนวทางนโยบายตลาดนำการเกษตรเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อขายสินค้าเกษตรออนไลน์มาอย่างต่อเนื่องได้แก่ DGTFarm หรือ ดิจิตอลฟาร์ม ผ่านทาง www.dgtfarm.com และ อตก. เดลิเวอรี่ ผ่านทาง www.ortorkor.com เปิดร้านค้าบนแพลตฟอร์มลาซาด้า เพื่อนำสินค้าเกษตรเข้าสู่ช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากจะช่วยในเรื่องการเพิ่มช่องทางการตลาด ให้เกษตรกรได้กระจายผลผลิตในช่วงผลผลิตออกตลาดมากแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรขยายฐานกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัดจะเปิดตลาดการค้าสัตว์ปีกในสาธารณรัฐประชาชนจีน ภูมิภาคตะวันออกกลางเพิ่ม ส่วนสหภาพยุโรปคาดว่า ปริมาณการส่งออกสัตว์ปีกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 โดยสามารถส่งออกเนื้อไก่ได้รวม 970,770 ตัน มูลค่า 116,589 ล้านบาท
นายเฉลิมชัย ยังกล่าวว่าแผนปฏิบัติการที่ดีต้องมาจากฐานข้อมูลที่แม่นยำจึงจะจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตรแห่งชาติ (National Agriculture Big Data) และ ศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร (Agri-technology and innovation center: AIC) เพื่อเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจร ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งระบบฐานข้อมูลการเกษตรแห่งชาตินี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากการบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) และBig Data ด้านสินค้าเกษตรมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประกอบในงานเชิงนโยบายและการกำหนดยุทธศาสตร์ของผู้บริหารภาครัฐในการการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรอัจฉริยะ13 สินค้าประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน มันสำปะหลังโรงงาน อ้อยโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย เงาะ มังคุด ทุเรียน มะพร้าว และ กาแฟ สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.th โดยกำหนดให้สามารถใช้งานได้ในเดือนมีนาคม 2563
สำหรับแนวทางทำให้กระทรวงเกษตรฯ บูรณาการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-technology and innovation center: AIC) ให้แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งศูนย์ Agritechในระดับภูมิภาค ร่วมกัน 6 ภาคีคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน
รูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด ซึ่งจะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชมงคล 9 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆ
โดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน รวบรวมช่างเกษตรและปราชญ์เกษตรซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart Farmer และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่าง ๆ เพื่อให้ก้าวสู่ศูนย์เกษตร4.0 ในระดับภูมิภาคให้ได้ภายในปี 2563นี้ และพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) 882 ศูนย์หลักทุกอำเภอทั่วประเทศ เป็นหน่วยขับเคลื่อนนโยบายการเกษตร องค์ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป การตลาด แก่เกษตรกร ร่วมกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน
“แผนปฏิบัติการทั้งหมดนี้ได้กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรมซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการการคาดการณ์ว่า จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันได้อีกอย่างน้อยร้อยละ 10 แม้ว่าต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัญหาเงินบาทแข็งค่า มั่นใจว่า ปี 2563 เกษตรกรจะมีรายได้มากขึ้นและภาคเกษตรจะเป็นหลักสำคัญในการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ” นายเฉลิมชัยกล่าว