เจาะงบดุล ‘ธ.ก.ส.’ รบ.ติดหนี้บาน10 ปี 6 แสนล.-ผลพ่วงความ 'ชิน' สู่ 'กับดัก’ ประชานิยม
“...ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ารัฐบาลเป็นหนี้ ธ.ก.ส. รวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท จาก 108 โครงการ ซึ่งรายละเอียดมาเยอะมาก โดยในปีงบ 2563 ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบเพื่อชำระคืนหนี้จากรัฐบาล 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบ 64 อยู่ระหว่างจัดทำ..."
ผ่านมาแล้วเกือบ 10 ปีแล้ว สำหรับโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการอนุมัติโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2554 และดำเนินโครงการฯตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค.2554 เป็นต้นมา ก่อนจะทยอยอนุมัติโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรอีก 2 ชนิด คือ โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางพารา หรือโครงการรับจำนำยาง
แต่ปรากฎว่าเพียงแค่ 3 ปีการผลิต รัฐบาลได้กู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาสำรองจ่ายค่าข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางฯ เป็นเงินสูงถึง 9.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของงบประมาณแผ่นดิน
ทั้งนี้ จากงบดุลของ ธ.ก.ส.งวดปี 2561 (1 เม.ย.61-31 มี.ค.2562) พบว่า โครงการรับจำนำสินค้าเกษตรของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ในช่วง 3 ปีการผลิต คือ ปีการผลิต 2554/55 ปีการผลิต 2555/56 และปีการผลิต 2556/57 นั้น
ธ.ก.ส.ได้สำรองจ่ายในโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิด เป็นเงิน 960,655 ล้านบาท แต่มีรายรับจากระบายผลผลิตและไถ่ถอนเป็นเงิน 400,268 ล้านบาท หรือเท่ากับว่าโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีผลขาดทุน 560,397 ล้านบาท และล่าสุดรัฐบาลได้โอนงบประมาณไปชำระคืนหนี้ ธ.ก.ส.แล้ว 186,090 ล้านบาท ยังเหลือหนี้ที่รัฐบาลค้างจ่ายกับธ.ก.ส.เป็นจำนวน 374,306 ล้านบาท
ที่มา : งบการเงิน ธ.ก.ส.งวดปี 2561 ,สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน 5 มิ.ย.62
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้สัมภาษณ์ ‘สำนักข่าวอิศรา’ ว่า การดำเนินโครงการเกี่ยวกับสินค้าเกษตรตั้งแต่รัฐบาลในอดีตจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน พบว่า ณ ปีงบ 63 รัฐบาลมีหนี้สินคงค้างกับ ธ.ก.ส. ใน 108 โครงการ คิดเป็นเงินรวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลทยอยจัดสรรงบเพื่อชำระหนี้คืน ธ.ก.ส.อย่างต่อเนื่อง
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่ารัฐบาลเป็นหนี้ ธ.ก.ส. รวมกันกว่า 6 แสนล้านบาท จาก 108 โครงการ ซึ่งรายละเอียดมาเยอะมาก โดยในปีงบ 2563 ธ.ก.ส.เสนอขอรับจัดสรรงบเพื่อชำระคืนหนี้จากรัฐบาล 8 หมื่นล้านบาท ส่วนปีงบ 64 อยู่ระหว่างจัดทำ” นายอภิรมย์กล่าว
เหล่านี้ คือ หนี้สินจากโครงการ 'ประชานิยม' ที่คนไทยเต้องชดใช้!
ในขณะที่มุมมองของ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ความเห็นว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อคืนหนี้ให้ ธ.ก.ส. ในโครงการรับจำนำข้าวในอดีต หรือแม้แต่การทยอยคืนหนี้ในโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำให้งบเพื่อการพัฒนาประเทศลดลง โดยเฉพาะงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
และแม้ว่ารัฐบาลจะเลือกใช้วิธีเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแบบรัฐร่วมลงทุนเอกชน (PPP) แต่รัฐบาลก็ยังมีภาระการลงทุนอยู่ดี เพียงแต่ไม่ได้จ่ายเงินวันนี้เท่านั้นเอง และตรงนี้ก็ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ เช่นเดียวกับตอนนี้ รัฐบาลไปกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. มาใช้จ่ายเพื่อดูแลภาคเกษตร แม้รัฐบาลจะไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ แต่หนี้ที่ซ่อนไว้เหล่านี้ก็นับว่าเป็นหนี้สาธารณะอยู่ดี
“การตั้งงบคืนหนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายจ่ายงบประมาณเหมือนกัน และเมื่อการจัดทำงบประมาณกำหนดว่าจะขาดดุลได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าต้องนำเงินไปใช้คืนหนี้ แต่งบประจำและงบเงินเดือนตัดไม่ได้ ก็ต้องไปตัดงบพัฒนา ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังระบุว่า ในขณะที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้เงินในโครงการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปี ซึ่งสูงกว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้เงินในการดูแลสินค้าเกษตรประมาณ 7 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
แต่จะพบว่าในช่วง 2 ปีหลัง (2561-62) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้จ่ายงบเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตรปีละกว่า 1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในปี 62 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใช้จ่ายเงินเพื่อดูแลราคาสินค้าเกษตร 5 ชนิด มากกว่า 1.1 แสนล้านาท ซึ่งมากกว่างบรายจ่ายประจำปีที่รัฐบาลจัดสรรให้กระทรวงเกษตรฯ และเงินส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ การช่วยเหลือภาคเกษตรยังพบว่ามีความซ้ำซ้อน เช่น การช่วยเหลือชาวนา เพราะนอกจากชาวนาจะได้เงินส่วนต่างประกันรายได้ ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณต้นทุนเอาไว้แล้ว แต่ชาวนายังได้เงินช่วยเหลือต้นทุนอีก 2 รายการ คือ ต้นทุนการผลิตและค่าเก็บเกี่ยว รายการละ 500 บาท/ไร่ และยังได้รับการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
“เราต้องปรับระบบใหม่ ถ้าไม่ทำ งบจะโป่ง อีกทั้งตอนที่ใช้เงิน เราใช้ทันที แต่ตอนคืน เราทยอยคืน บางรัฐบาลขี้เหนียวไม่ยอมใช้หนี้ ดอกเบี้ยก็ขึ้น และนอกจากการใช้จ่ายเหล่านี้จะไปเบียดงบลงทุนพัฒนาประเทศแล้ว ปีไหนที่วิกฤติ หารายได้ไม่ได้ รัฐบาลก็จะลำบาก แล้วจะตามมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดมาแล้วในหลายประเทศ” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว
รศ.ดร.นิพนธ์ ยังกล่าวด้วยว่า การใช้เงินในการดูแลราคาสินค้าเกษตรในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนตัวมองว่าไม่คุ้มค่า เพราะเป็นการแจกเงินที่ทำให้ภาคเกษตรไม่มีการปรับตัว และหากการแจกเงินที่มีเหตุมีผลจริง เช่น เป็นการช่วยเหลือในยามลำบาก ก็จะใช้เงินน้อยกว่านี้ แต่นี่กลายเป็นการแจกเงินช่วยเหลือด้วยเหตุผลทางการเมืองไปแล้ว
“ตอนนี้มันเป็นประเด็นทางการเมืองหมดแล้ว เป็นการแจกด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งส่งผลเสียระยะยาว อย่างตอนนี้ภาครัฐจะมีโครงการช่วยเหลือให้เกษตรกรปรับตัวในระยะยาว แต่สุดท้ายเกษตรกรก็ถอนตัว มารับเงินระยะที่ได้รับแจกมากกว่า” รศ.ดร.นิพนธ์กล่าว
รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “วันนี้ประเทศไทยไม่ได้แค่ ‘ชิน’ กับนโยบายประชานิยม แต่เป็นการ ‘ติดกับดัก’ นโยบายประชานิยม จึงต้องจัดระบบกันเสียใหม่”
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/