'วิษณุ'ชี้ช่องโละผบ.พ้นส.ว.!คาดใช้งบ3พันล.ทำประชาพิจารณ์
“วิษณุ” ชี้ช่องเสนอกมธ.ศึกษาแก้ไขรธน. โละผบ.เหล่าทัพพ้นเก้าอี้ส.ว. ก่อนนำเข้าสภาฯ ระบุทำประชาพิจารณ์ขั้นตอนสุดท้ายใช้งบฯ 2-3 พันล้านบาท ด้าน“เพื่อไทย”ผสมโรงเอาด้วย
เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้โละทิ้งส.ว.ที่มาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 6 คน ว่า ตนไม่ทราบ เพราะรัฐธรรมนูญปี 60 ระบุไว้เช่นนั้น แต่จะเลือกแก้ไขส่วนใดก็แล้วแต่ ตนไม่มีความเห็น
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ และข้อเสนอต่างๆสามารถเสนอในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ โดยผู้เสนอต้องเสนอมาก่อนที่กรรมาธิการเพื่อรวบรวมเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่สภาผู้แทนราษฎรโดยจะยังมีขั้นตอนที่จะต้องทำต่อไปอีก เช่น 1. เสนอเป็นร่างแก้ไข 2. เสนอมายังรัฐบาล 3. อื่นๆ ก็ยังไม่รู้
เมื่อถามย้ำว่าจะต้องทำประชาพิจารณ์หรือไม่นายวิษณุ กล่าวว่า ยังอีกยาว เพราะจะต้องมีการยกร่างก่อนที่จะเสนอเข้าสภาฯ รวมถึงต้องได้รับความเห็นชอบในวาระ1 2 และ 3ถ้าตกไป ในวาระ1 2 และ 3 ก็ไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ เพราะถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ส่วนสามารถทำประชาพิจารณ์ก่อนได้หรือไม่นั้น จะบอกว่าทำไม่ได้ก็ไม่เชิง เพราะกฎหมายไม่ได้บอกให้ทำหรือมีผลอย่างไร เนื่องจากการทำประชาพิจารณ์ต้องใช้งบประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนรัฐบาลมีประเด็นใดที่จะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบ ยังไม่เคยคุยกัน
ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ระบุว่า ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ไม่ควรดำรงตำแหน่ง ส.ว.ว่า เป็นแนวคิดปกติธรรมดาของคนที่เดินทางสายประชาชน เพราะการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ผบ.ทั้งหลาย 6 ตำแหน่งสามารถเป็น ส.ว.ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นคือคนที่จะเป็นนายกฯ ซึ่งมีส.ว.ยกมือให้ 244 เสียง ต้องการกองกำลังมาคุ้มครองอีก 6 เสียง เลยกำหนดแบบนั้น ซึ่งสมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้อย่างยิ่ง
เพราะเป็นการใช้แม่ทัพนายกองให้มายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยหนีไม่พ้นเรื่องการคุ้มครองกลุ่มตนเอง ส่วนกรณีที่มี ส.ว.บางคนออกมาคัดค้านนั้น เป็นความเห็นของคนที่ได้ดีเพราะระบบนี้ และเป็นความเห็นแบบทาสที่ปล่อยไม่ไป โดยส่วนตัวแล้ว แค่กรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังโดดอุ้มโดดขวางขนาดนี้ หากแก้ไขจริงคงวุ่นวายน่าดู
อย่างไรก็ตาม ปัญหาปากท้องประชาชนที่ไม่ได้รับการแก้ไข ส่วนหนึ่งก็มาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ได้สารพัดพรรคมาเป็นรัฐบาล แต่หานโยบายที่แท้จริงไม่ได้ นอกจากแจกเงินกันประชาชนด่าทอ