ปิดฉากไฟใต้ปี 62 สถิติรุนแรงลด แต่ความสูญเสียเพิ่ม
แง้มสถิติไฟใต้ตลอดปี 62 ที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบการก่อเหตุรุนแรงในเชิงปริมาณลดลงกว่าปีก่อนหน้า แต่ความสูญเสียเพิ่มขึ้น
ปี 2562 ที่เพิ่งจะปิดฉากลงไป นับเป็นอีกปีหนึ่งที่มีเหตุรุนแรงขนาดใหญ่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ส่งผลสะเทือนใจผู้คนหลายครั้ง
เช่น เหตุการณ์บุกยิงพระมรณภาพคากุฏิ ภายในวัดรัตนานุภาพ ที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส, เหตุโจมตีป้อม ชรบ.ที่ ตำบลลำพะยา จังหวัดยะลา เสียชีวิต 15 ศพ และล่าสุดเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่เอง คือ ยิงชาวบ้านบนเขาตะเว ตำบลบองอ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิต 3 ศพ
แต่เมื่อย้อนดูสถิติเหตุการณ์ในพื้นที่ จะพบว่ามีเหตุรุนแรงทุกรูปแบบเกิดขึ้นเพียง 274 เหตุการณ์ ซึ่งในจำนวนนี้ตรวจสอบแล้วเป็นการก่อความไม่สงบเพียง 121 เหตุการณ์เท่านั้น แยกเป็น
เหตุโจมตีที่ตั้ง - 2 เหตุการณ์
ซุ่มโจมตี - 3 เหตุการณ์
ยิง - 50 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 184 เหตุการณ์)
ระเบิด - 60 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 61 เหตุการณ์)
วางเพลิง 2 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 7 เหตุการณ์)
ชิงอาวุธ / ทำร้าย / อื่นๆ - 4 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 17 เหตุการณ์)
รวม 121 เหตุการณ์ (จากที่เกิดทั้งหมด 274 เหตุการณ์)
โดยเหตุรุนแรงทั้งหมดนี้ ไม่รวมเหตุก่อกวน เช่น วางวัตถุต้องสงสัย
เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุยิง 184 เหตุการณ์ เป็นเรื่องส่วนตัวถึง 133 เหตุการณ์ (ไม่ทราบสาเหตุอีก 1 เหตุการณ์) เช่นเดียวกับเหตุวางเพลิง และวางระเบิด ก็ยังมีการก่อเหตุจากปมขัดแย้งส่วนตัว ไม่ใช่การก่อความไม่สงบ สะท้อนว่าความรุนแรงในพื้นที่ซ้อนทับกันอยู่ระหว่างความขัดแย้งด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ กับปฏิบัติการก่อความไม่สงบของกลุ่มก่อเหตุรุนแรง แต่อาจมีการก่อเหตุด้วยวิธีการคล้ายๆ กัน หรือเลียนแบบกันเพื่อเบี่ยงเบนประเด็น
จำนวนเหตุรุนแรงที่เป็นการก่อความไม่สงบ 121 เหตุการณ์ มีทิศทางลดลงกว่าปีก่อนหน้า เพราะหากย้อนสถิติเหตุรุนแรงในปี 2561 มีเหตุรุนแรงทุกประเภท 161 เหตุการณ์ และยังลดลงต่อเนื่องจากปี 2560 ที่มีเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 178 เหตุการณ์
สำหรับความรุนแรงที่ยังดำรงอยู่ ทำให้เกิดความสูญเสียทุกสาขาอาชีพ หนักที่สุดคือประชาชนทั่วไป จะเห็นได้ว่าตกเป็นเหยื่อความรุนแรงถึง 140 ชีวิต นับเฉพาะเหตุก่อความไม่สงบ สูญเสีย 48 คน ขณะที่ตำรวจ ทหาร และผู้นำท้องถิ่น อยู่ในสัดส่วนต่ำลงมา คือ ตำรวจ 9 นาย ทหาร 9 นาย ผู้นำท้องถิ่น 4 คน ที่น่าตกใจคือผู้นำศาสนา ซึ่งก็คือพระสงฆ์ มรณภาพไป 2 รูปจากเหตุบุกยิงถึงในกุฏิวัดในอำเภอสุไหงปาดี
รวมยอดผู้สูญเสียเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบ 72 ราย เพิ่มขึ้นกว่าปี 61 ที่มียอดผู้เสียชีวิตเพียง 62 ราย
แม้ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะมีแนวโน้มลดลงในเชิงปริมาณ แต่เหตุร้ายที่เกิดขึ้นหลายๆ ครั้งยังคงเป็นข่าวใหญ่ และสร้างความสูญเสียในระดับโศกนาฏกรรมในบางเหตุการณ์ จึงอาจอนุมานได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบก่อเหตุได้น้อยลงก็จริง ทว่าแต่ละเหตุการณ์กลับมีความรุนแรงมากขึ้น หรือเรียกได้ว่าเป็นการก่อเหตุที่เน้นคุณภาพ (ก่อความเสียหายร้ายแรง) ไม่ใช่เน้นปริมาณ ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุสำคัญย่อมเป็นเพราะการเฝ้าระวังป้องกันของฝ่ายเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ทำให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องปรับยุทธวิธี
-------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 15 ปีไฟใต้...งบละลาย 3 แสนล้าน ตาย 4 พัน เจ็บกว่าหมื่น!