5 วัน ดับแล้ว 256 ราย ปีใหม่คุมเข้มขากลับ ห่วงปชช.ล้า
ผ่านไป 5 วัน คนไทยสังเวยชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 256 ราย บาดเจ็บกว่า 2588 ราย ศปถ.สั่งคุมเข้ม ปรับแผนรองรับการเดินทางกลับ เน้นจุดตรวจเส้นทางสายหลัก ดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง
เว็บไซต์ www.nationtv.tv รายงานว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดย นายวีระ แข็งกสิการ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2563 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ "ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" เกิดอุบัติเหตุ 542 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 42 ราย ผู้บาดเจ็บ 567 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 32.29 ขับรถเร็ว ร้อยละ 29.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 80.97 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 63.10 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด นครศรีธรรมราช 18 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ระนอง ยโสธร และสกลนคร จังหวัดละ 3 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (21 คน) สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมช่วง 5 วันของการรณรงค์ (27 - 31 ธ.ค.62) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,529 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 256 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 2,588 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 11 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (76 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (12 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (77 คน).
นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มงานภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง คาดว่า วันนี้ ประชาชนจะเดินทางกลับเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ อาจทำให้ผู้ขับขี่มีอาการอ่อนล้า จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับใน ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้กำชับให้จังหวัดเพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง โดยเฉพาะจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ เส้นทางตรงระยะทางยาว ที่ผู้ขับขี่มักใช้ความเร็วสูง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุง่วงหลับในนอกจากนี้ ศปถ. กำชับให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกต่อประชาชนตลอดเส้นทาง โดยประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในการเร่งระบายรถ เปิดช่องทางพิเศษ และจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่น ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุและส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว
ที่มา : https://www.nationtv.tv/main/content/378756500/?aig=