'รื้อบอร์ด-งบบาน-ขาดเงิน' ถ่วงลงทุนเมกะโปรเจกต์ปี 62 รบ.ประยุทธ์ 'ติดหล่ม'
"... เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเปิดประมูลโครงการเหล่านี้ ต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนดมาจากการเข้าไป “รื้อ” บอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่นายศักดิ์สยาม ได้ส่งสัญญาณให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้อง “ลาออก” ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อที่รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ จะได้หาบุคคลที่เหมาะสมมาทำงานแทน..."
ปี 2562 นับได้ว่าเป็นปีที่การเปิดประมูลโครงการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ หรือ “เมกะโปรเจกต์” อยู่ในสภาพการณ์ “ติดหล่ม”
เพราะนับตั้งแต่การเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 จนกระทั่งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 ก.ค.2562 และตลอด 5 เดือนเศษ ของการบริหารงานในกระทรวงคมนาคมของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ปรากฏว่าหน่วยงานและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม แทบจะไม่มีการเปิดประมูลโครงการใหม่ๆเลย
ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐ ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ “เครื่องดับ”
และนั่นยิ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จนทำให้การส่งออกไทย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.2562) ติดลบ 2.77% นั้น ต้องตกอยู่ในภาวะ “ฝืดเคืองหนัก” แม้ว่าตลอดปี 2562 รัฐบาลจะ “แจกเงิน” หลายแสนล้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความคืบหน้าในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในรอบปี 2562 พบว่า โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 17 โครงการ วงเงิน 781,462 ล้านบาทนั้น มีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเพียง 1 โครงการเท่านั้น คือ โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น
ส่วนที่เหลืออีก 16 โครงการ พบว่ามีหลายโครงการที่การดำเนินการล่าช้ากว่าแผน
โดยเฉพาะโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 55,620 ล้านบาท พบว่า การก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้าเพียง 25.08% ล่าช้ากว่าแผน 56% เนื่องจากติดปัญหาค่าเวนคืนที่ดินที่เพิ่มขึ้น
กระทั่งเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมอีก 12,032 ล้านบาท จากที่เคยอนุมัติให้แล้ว 5,420 ล้านบาท ส่งผลให้ค่าเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 17,452 ล้านบาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าว่าโครงการจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2566 หรือล่าช้าจากแผน 2 ปี
ส่วนโครงการที่ครม.มีมติอนุมัติโครงการไปแล้ว 12 โครงการ วงเงิน 641,617 ล้านบาท พบว่า มีโครงการที่เปิดประมูลและลงนามในสัญญาไปแล้วเพียง 2 โครงการเท่านั้น ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และงานโยธาโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้การเปิดประมูลโครงการเหล่านี้ ต้องล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนดมาจากการเข้าไป “รื้อ” บอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยในช่วงเข้ารับตำแหน่งใหม่นายศักดิ์สยาม ได้ส่งสัญญาณให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมต้อง “ลาออก” ตามธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อที่รัฐมนตรีคมนาคมคนใหม่ จะได้หาบุคคลที่เหมาะสมมาทำงานแทน
แต่ตรงนี้ทำให้เกิด “สุญญากาศ” ในการผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ เพราะบอร์ดรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่สำคัญ คือ การอนุมัติทีโออาร์เปิดประมูล ไปจนกระทั่งอนุมัติผลการประมูล ก่อนเสนอให้ครม.อนุมัติ เมื่อไม่มีบอร์ดรัฐวิสาหกิจทุกอย่างก็ต้อง “หยุดชะงัก”
และแม้ว่ารัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมจะได้บอร์ดใหม่มาเกือบครบแล้ว แต่ก็ต้องใช้เวลาในการปรับจูนกันระยะหนึ่ง โดยเฉพาะการส่งผ่านนโยบายของบอร์ดชุดใหม่ ไปยังผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ “ชุดเก่า”
ที่มา : กระทรวงคมนาคม ,สำนักข่าวอิศรารวบรวม
สำหรับโครงการที่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) มีมติเห็นชอบแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อยู่ระหว่างเสนอครม.อนุมัติ ก่อนจะเปิดประมูลนั้น มีทั้งสิ้น 2 โครงการ วงเงิน 201,073 ล้านบาท
ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งประกอบด้วย งานโยธาศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และงานเดินรถ วงเงิน 122,041 ล้านบาท และมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม-ชะอำ วงเงิน 79,032 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ทำให้เกิดความ “บาดหมาง” ในพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะทันทีที่นายศักดิ์สยามเข้ามารับตำแหน่ง ได้เสนอให้มีการแยกสัญญางานโยธาศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ ออกมาประมูลต่างหาก ส่วนสัญญางานเดินรถไฟฟ้าสายสีส้มตลอดทั้งสาย จะให้เปิดเอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP (รัฐร่วมลงทุนเอกชน)
แต่ทางกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย โดยต้องการให้รวมทั้ง 2 สัญญาไว้เช่นเดิน และเปิดเอกชนร่วมทุนแบบ PPP เหมือนเดิม ในขณะที่นายศักดิ์สยาม ระบุว่า ภายในเดือนม.ค.2562 จะเสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกให้ครม.อนุมัติ ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อว่า รูปแบบสัญญาและการเปิดประมูลจะเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ความล่าช้าของพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ และกว่าจะประกาศใช้ได้ก็น่าจะต้องเป็นหลังเดือนก.พ.2563 ไปแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเสนอโครงการลงทุนใหม่ให้ครม.อนุมัติเป็นไปได้ยาก
สำหรับในระยะต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแผนจะเสนอโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้ครม.อนุมัติ 13 โครงการ เช่น โครงการรถทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงิน 273,382 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใหม่ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 38 ลำ 156,169 ล้านบาท
และโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) สนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 42,000 ล้านบาท ที่มีปัญหาวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เป็นไปตาม “แผนแม่บท” การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น
แม้ว่าล่าสุดจะมีคำยืนยันจากนายศักดิ์สยามว่า ในช่วงเดือนม.ค.63 จะเริ่มทยอยเสนอโครงการลงทุนใหม่ๆให้ครม.อนุมัติ พร้อมทั้งเดินหน้าเปิดประมูลโครงการที่ “ค้างท่อ” ในหลายโครงการ
@ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ/ภาพจาก https://th.wikipedia.org/wiki
แต่ก็คงต้องติดตามกันว่า การผลักดันโครงการ “เมกะโปรเจกต์” ได้มากน้อยเพียงใด และตรงนี้จะเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญที่นำไปสู่การปรับครม.รอบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 63
โดยเฉพาะ ตำแหน่งเจ้ากระทรวงคมนาคมที่ชื่อ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เจ้าของฉายา "โอ๋ แซ่รื้อ" ที่เจ้าตัวยิ้มรับ และยืนยันว่า "ไม่มีปัญหาอะไร" ไปก่อนหน้านี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/