จาก 'เบิกเงินฮอกกี้' ถึง 'เจ็ตสกี'! สารพัดปัญหาร้อน กกท.บทพิสูจน์ฝีมือ 'ก้องศักดิ์' ปี 63
"...ในช่วงปี 2562 จะเป็นปีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีประเด็นร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานค่อนข้างมาก ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงผลคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่อยู่ในระดับ AA หรือระดับดีมาก โดยได้คะแนนไปทั้งสิ้น 97.62 คะแนน สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลประเด็นเหล่านี้มานำเสนอ ให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการอีกครั้ง..."
ปีเก่า 2562 ผ่านพ้นไปเข้าสู่ปีใหม่ 2563 เป็นทางการแล้ว
แต่ดูเหมือนในช่วงปี 2562 จะเป็นปีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีประเด็นร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงานค่อนข้างมาก ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงผลคะแนนประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ที่อยู่ในระดับ AA หรือระดับดีมาก โดยได้คะแนนไปทั้งสิ้น 97.62 คะแนน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รวบรวมข้อมูลประเด็นเหล่านี้มานำเสนอ ให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการอีกครั้ง
@ แฉปมเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงในสมาคมฮอกกี้น้ำแข็ง ร้อนถึง 'ประวิตร'สั่งสอบ
เริ่มกันที่ช่วงท้ายปี 2561 จนถึงต้นปี 2562 สำนักข่าวอิศราได้รับการเปิดเผยข้อมูลจาก นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ เลขาธิการสมาคมธรรมาภิบาลแห่งชาติในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ว่า มีการร้องเรียนจากนักกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ใน 2 ประเด็นย่อย คือ 1. มีการสวมสิทธิ์รับเบี้ยเลี้ยงนักกีฬาเกิดขึ้น โดยมีการนำชื่อนักกีฬาที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขัน เข้าไปอยู่ในใบเบิกด้วย และในท้ายที่สุดนักกีฬาที่ไม่ได้ไปร่วมการแข่งขันก็ไม่ได้รับเงินแต่อย่างใด 2.มีประเด็นเรื่องของการหักหัวคิวการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงให้กับนักกีฬา โดยสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ไปเบิกเงินจาก กกท.ให้เงินเบี้ยเลี้ยงกับนักกีฬาไม่ตรงตามยอดที่เบิกจาก กกท.
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังสมาคมกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งฯเพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนดังกล่าว ได้รับคำชี้แจงยืนยันจากทางสตาฟโค้ชรายหนึ่ง ว่า ไม่มีปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์รับเงินตามที่มีการร้องเรียนกับสื่อ การดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย
แต่ในกระบวนการขอเงินสนับสนุนจาก กกท. ทางสมาคมฯ จำเป็นต้องส่งรายชื่อนักกีฬาทั้งหมดที่มีไปให้กับ กกท. แต่ในเวลาต่อมา ทางสมาคมฯ ก็จะต้องคัดเลือกนักกีฬาที่ดีที่สุด 20 คน เพื่อเอาไปแข่งขัน แต่ถ้าหากทางสมาคมฯไม่ได้ส่งชื่อให้ กับ กกท.ไปตั้งแต่ต้น ก็หมายความว่าคนที่ไม่ถูกส่งชื่อไปจะหมดสิทธิ์การแข่งขัน หลังจากนั้นในช่วง 2 เดือนก่อนการไปแข่งขัน กกท. ก็จะต้องเอางบประมาณในการฝึกซ้อมมาดูว่าต้องทำอย่างไรบ้าง
ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ทางนักกีฬาต้องไปฟ้องร้องผู้บริหารต่อทางสมาคมกันที่ศาลอาญาเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ขณะนี้คดีอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฯ
แต่อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็ร้อนไปถึงทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ต้องออกคำสั่งไปถึง นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท. ให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ใน 3 ประเด็น คือ1. ประเด็นเรื่องการปลอมลายมือชื่อของนักกีฬาในการเบิกเงินว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร2.เมื่อเบิกมาแล้วมีการจ่ายเงินให้กับนักกีฬาไม่ครบตามจำนวนหรือไม่ และ 3.การคัดเลือกตัวฝึกซ้อมเพื่อเป็นนักกีฬาทีมชาติใช้หลักการที่ถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ (อ่านประกอบ:โชว์คำสั่ง กกท.ตั้งกก.สอบปลอมชื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงส.ฮอกกี้ -ปธ.คาดเดือนส.ค.ได้ข้อสรุป)
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดนั้น นายก้องศักดิ์ ชี้แจงกับสำนักข่าวอิศราว่าผลการตรวจสอบเบื้องต้นมีประเด็นเรื่องการปลอมลายเซ็นไปแล้วและได้มีการสั่งให้ลงโทษทางวินัยไม่ร้ายแรงกับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะในกรณีเรื่องการปลอมแปลงลายเซ็น
@ข้อพิรุธปรับปรุง 3 สนามกีฬา 512 ล้าน รับศึกฟุตบอล AFC ของเก่ายังใช้ได้ดี
อีกหนึ่งประเด็นร้อน! ที่เกิดขึ้นตามมา คือ ในช่วงวันที่ 15 ก.ย. 2562 สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งเบาะแสจากแหล่งข่าวใน การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ว่า ขณะนี้ กกท. กำลังดำเนินการจัดทำโครงการจ้างซ่อมบำรุงสนามกีฬา เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอล AFC (เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก) ในวันที่ 8-26 ม.ค. 2563 จำนวน 3 แห่ง คือ สนามราชมังคลากีฬาสถาน งบประมาณ 167 ล้านบาท สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี งบประมาณ 156 ล้านบาท และสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 จ.นครราชสีมา งบประมาณ 189 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 512.8 ล้านบาท ทั้งยังระบุอีกว่า การจัดการแข่งขันฟุตบอล AFC ดังกล่าวนั้น ใช้เวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ การใช้งบประมาณมากขนาดนี้ทำให้ไม่คุ้มค่า โดยตามแบบรายการที่กำหนดทำการปรับปรุงนั้น 80% ไม่ได้ชำรุดเสียหาย ยังสามารถใช้งานได้ดี และมีการกำหนดคุณลักษณะวัสดุอุปกรณ์แบบเจาะจงทุกรายการ ทำให้ราคาสูงกว่าปกติ จึงต้องการให้ตรวจสอบการดำเนินโครงการซ่อมบำรุงดังกล่าว
ขณะที่นายก้องศักดิ์ ยอดมณี ผู้ว่าฯ กกท.ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราถึงกรณีมีผู้ให้ข้อมูลว่าวัสดุอุปกรณ์ในสนามเกือบ 80% ยังใช้การได้ดีแต่มีการทำใหม่ทั้งหมด ว่า “ไม่จริง ไม่ทราบว่าเขาไปเอาข้อมูลมาจากไหน เราเปลี่ยนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องเปลี่ยน สิ่งที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็ยังคงไว้ ยกตัวอย่าง สนามราชมังฯ ทำตามข้อกำหนด เช่น ห้องแต่งตัวนักกีฬาข้อกำหนดระบุว่า ต้องเป็นกระเบื้องยาง กระเบื้องปกติที่ใช้อยู่ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้แตกชำรุดก็ต้องเปลี่ยน อยากสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน "
นายก้องศักดิ์ ยังอธิบายว่า ในปัจจุบันสนามฟุตบอลที่อยู่ในการดูแลของ กกท. ยังไม่มีสนามใดที่ได้มาตรฐาน AFC ขณะที่ กกท. มีแผนที่จะปรับปรุงอยู่ แต่งบประมาณมีจำกัด จึงต้องเลือกปรับปรุงสนามหลักก่อน คือ สนามราชมังฯ สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ฯ และสนามเฉลิมพระเกียรตินครราชสีมาฯ ซึ่งเป็นสนามที่ใช้งานในระดับนานาชาติได้ ขณะที่อุปกรณ์ปัจจุบันก็อยู่ในสภาพเก่าทรุดโทรม และเมื่อปรับปรุงรอบนี้แล้ว จะสามารถใช้งานสนามในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอื่นๆ ได้
“ผมเคยคุยกับท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ว่า สนามที่เชียงใหม่ หากปรับปรุงได้มาตรฐานแล้ว เราก็จะเอาการแข่งขันระดับนานาชาติมา เช่น คิงคัพ ที่เราเคยจัดที่ จ.บุรีรัมย์ ปีที่ผ่านมา และหากมองภาพว่าเป็นเจ้าภาพร่วมในการแข่งขันฟุตบอลโลกต่อไปในอนาคต เพราะต้องยอมรับว่า หากไม่ทำการปรับปรุง ประเทศไทยจะไม่มีสนามใดที่เป็นมาตรฐานที่จะใช้จัดการแข่งขันได้ ซึ่งเรามุ่งเป้าแบบนั้น ในการยกระดับมาตรฐานงบประมาณแค่นี้ยังไม่พอ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้างอาเซียนอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ที่ใช้ในการซ่อมหรือปรับปรุง แม้ว่าเราทำการปรับปรุงครั้งนี้แล้ว ก็ยังสู้ประเทศเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราก็ค่อยยกระดับไปเรื่อย ๆ” (อ่านประกอบ: ‘ก้องศักดิ์’ ไขปมร้อน กกท.ปรับปรุง 3 สนาม 512 ล. เปลี่ยนเท่าที่จำเป็น-ตามมาตรฐาน AFC)
ความคืบหน้าล่าสุดนั้น กกท.ได้ทำการรับมอบสนามกีฬาที่ปรับปรุงใหม่ไปเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา
@เปิดปมกรรมการบริษัทคู่สัญญา กกท.นับร้อยล้านนั่งคัดเลือกบอร์ดกีฬาอาชีพ
ประเด็นนี้แม้จะไม่ใช่เรื่องการทุจริต แต่ก็เป็นข้อร้องเรียนที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นเรื่องการขัดกันผลประโยชน์ในการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการ (บอร์ด) การกีฬาอาชีพ ใน กกท.
ปมปัญหาเกิดขึ้น ในช่วงเดือน ก.ย.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศราได้รับข้อร้องเรียนว่าในการสรรหาดังกล่าวนั้นปรากฎว่ามีข้อร้องเรียนในประเด็นเรื่องคุณสมบัติของบุคคลรายหนึ่ง ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการสรรหา คือ นายรณฤทธิ์ ซื่อวาจา มีตำแหน่งเป็นกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทคอร์โน แอนด์ แนช จำกัด
โดยบริษัท คอร์โน แอนด์ แนช นั้น ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญากับ กกท. จำนวนทั้งสิ้น 25 สัญญา มูลค่ารวม 109,039,000 บาท
ขณะที่ นายก้องศักดิ์ กล่าวถึงกรณีนี้ ว่า ในการประชุมของ กกท. ได้มีการนำข้อมูลเรื่องนี้ ส่งให้นิติกรของ กกท. ไปตรวจสอบรายละเอียดแล้ว โดยให้ดูคุณสมบัติของนายรณฤทธิ์ว่าสามารถเป็นคณะกรรมการสรรหาได้หรือไม่ ถ้ามีปัญหาขาดคุณสมบัติจริง ก็คงต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการสรรหาทั้งหมดแล้วเริ่มต้นกันใหม่
“ตอนนี้ยังโชคดี เพราะเรายังไม่ได้ประชุมคัดเลือก ยังอยู่ในช่วงยืดระยะเวลาการรับสมัครออกไป ตอนนี้ยังไม่ได้มีอะไรที่เราพิจารณาไปแล้ว ถ้าหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ เราก็แค่เปลี่ยนตัวกรรมการใหม่ก็เท่านั้นเอง” นายก้องศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า แม้จะไม่มีการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่าห้ามไม่ให้ผู้บริหารบริษัทเอกชนที่รับงานจาก กกท.เข้ามาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกีฬาอาชีพ แต่เรื่องนี้ถือเป็นหลักธรรมาภิบาลที่บังคับใช้กับหน่วยงานราชการทุกแห่งอยู่แล้ว เนื่องจากการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒินั้นเป็นเสมือนการสรรหาผู้ที่เสียสละ ไม่หวังผลตอบแทนเข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้น การคัดเลือกจะต้องไม่มีการนำเอาบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับ กกท. เข้ามาร่วมด้วย
แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ จนถึงปัจจุบันยังไม่ปรากฎข้อมูลชัดเจนว่ามีการดำเนินการอะไรไปแล้วอย่างไรบ้าง (อ่านประกอบ:เปิดปม กก.บริษัทคู่สัญญาร้อยล.โผล่ร่วมสรรหาผู้ทรงฯ บอร์ด กกท. -'ก้องศักดิ์' สั่งสอบแล้ว)
@ ข้อพิรุธเบิกงบแข่งเจ็ตสกีระดับโลก เอกสารเนื้อในไม่ตรงใบปะหน้า
ปิดท้ายช่วงท้ายปี กับกรณีปัญหาการเบิกงบแข่งเจ็ตสกีระดับโลก ที่วงเงินตัวเลขที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง ไม่ตรงกับตัวเลขในเอกสารเสนอขออนุมัติงบประมาณจากคณะกรรมการกีฬาอาชีพ
โดย แหล่งข่าว กกท. ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่าในการประชุมคณะกรรมการกีฬาอาชีพ เมื่อเดือน ธ.ค.ผ่านมา นายชยพัทธ์ สุนายนตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการลงทุนกิจกรรมกีฬาอาชีพ ได้แจ้งที่ให้ประชุมรับทราบถึงข้อสังเกตต่อการขอสนับสนุนงบประมาณรายการเจ็ตสกีอาชีพ เวิลด์ ซีรีส์ ว่า คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ได้มีการพิจารณาให้การสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ เจ็ตสกีอาชีพ เวิลด์ ซีรีส์ โดยผู้จัดการแข่งขัน ได้เสนองบประมาณในส่วนการประชาสัมพันธ์ จํานวน 15,000,000 บาท และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาให้การช่วยเหลือไป จํานวน 6,000,000 บาท
แต่เอกสารที่ใช้ในการเสนอเรื่องขอพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ตัวเลขขอรับสนับสนุนงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ ถูกแก้ไขใหม่ เป็นตัวเลข 20,000,000 บาท และได้พิจารณาให้การช่วยเหลือ 9,000,000 บาท
นอกจากนี้ ตัวเลขงบประมาณดําเนินการในเอกสารการประชุม ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ระบุตัวเลขรายจ่ายทั้งหมด 42,000,000 บาท แต่ในเอกสารการประชุมคณะกรรมการกีฬาอาชีพถูกแก้ไขเป็น 46,000,000 บาท
นายชยพัทธ์ สุนายนตร์ จึงเห็นว่า กรณีดังกล่าวส่อว่าจะมีเจตนาที่ไม่โปร่งใส จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ควรมีการพิจารณาและขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
ขณะที่ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แจ้งต่อที่ประชุมว่า รายการงบประมาณในส่วนของเจ็ตสกีอาชีพ เวิลด์ ซีรีส์ หากรายละเอียดตัวเลขในเอกสารการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ไม่ตรงกับตัวเลขในเอกสารที่นำมาเสนอต่อคณะกรรมการกีฬาอาชีพ ถือเป็นเรื่องที่ร้ายแรง อาจจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว (อ่านประกอบ:เปิดปมบอร์ดกีฬาอาชีพสั่งสอบงบเจ็ตสกี เวิลด์ ซีรีส์ โดน 'ลักไก่' แก้ตัวเลขเพิ่มหลายล้าน?)
ล่าสุดทางด้านนายก้องศักดิ์ ยอดมณี ได้ชี้แจงสำนักข่าวอิศราแล้วว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงไปแล้ว โดยมีประธานคือนายโชติ ตราชู นั่นเอง แต่ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าผลการตรวจสอบกรณีนี้ว่า การสืบข้อเท็จจริงจะใช้เวลายาวนานเพียงใด
--------------
ทั้งหมดนี่ คือ ประเด็นร้องเรียนเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินงาน ของ กกท.ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งคงต้องติดตามดูกันต่อไปในปี 2563 ข้อร้องเรียนเหล่านี้ จะมีผลสรุปอย่างไร และจะมีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกหรือไม่ รวมไปถึงบทบาทความสามารถของผู้ว่าฯ นายก้องศักดิ์ ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ว่าเอาจริงเอาจังมากน้อยเพียงใดด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/