กมธ.ปรับลดงบ 63 ลง 1.6 หมื่นล้าน
เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 62 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ขณะนี้ กมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท จำนวน 55 มาตรา ที่มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธานกรรมาธิการฯ เสร็จเรียบร้อยแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รอนำเข้าสู่การพิจารณาสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2-3 ระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค. 63 โดยกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาปรับลดงบลงไปทั้งสิ้น 16,231 ล้านบาท
นายเรืองไกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของกรรมาธิการฯ สัดส่วนพรรคเพื่อไทยหลายคนขอสงวนความเห็นในฐานะกรรมาธิการฯ เพื่อนำไปอภิปรายวาระ 2-3 ในภาพรวม โดยจะขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ลง 10-15% แต่จะไม่ปรับลดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหมวดของสถาบัน เนื่องจากเห็นว่างบประมาณรายจ่ายปี 2563 กว่าจะผ่านขั้นตอนความเห็นชอบจากวุฒิสภา และรอดูจะมีผู้ร้องว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดูแล้วน่าจะมีผลบังคับใช้ได้ประมาณปลายเดือน ก.พ. หรือต้น มี.ค. 2563 เท่ากับมีระยะเวลาการใช้งบประมาณเหลือแค่ 7 เดือน จึงไม่สมควรตั้งงบไว้ตามปกติ จะต้องปรับลดงบลงมาตามระยะเวลาการใช้งบประมาณที่ลดลง ในส่วนของตนจะขอสงวนความเห็นตัดลดงบประมาณในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจาก 96,000 ล้านบาท เหลือ 56,000 ล้านบาท ตัดงบไปทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท เนื่องจากเหลือระยะเวลาการใช้งบรายจ่ายปี 2563 แค่ 7 เดือน จึงไม่ควรตั้งงบไว้เต็มจำนวนที่ 9.6 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2-3 นั้น มีกรรมาธิการฯ สงวนความเห็น 25 คน และมี ส.ส.สงวนความเห็น 146 คน โดยหน่วยงานที่ถูกกรรมาธิการฯ ปรับลดงบประมาณรายจ่ายปี 2563 มากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่ 1.กระทรวงกลาโหม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,518,272,500 บาท จาก 125,918,522,500 บาท เหลือ 124,400,250,000 บาท 2.กระทรวงสาธารณสุข ถูกตัดงบประมาณ 1,318,310,800 บาท จาก 28,049,048,300 บาท เหลือ 26,730,737,500 และ 3. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถูกตัดลดงบประมาณ 1,147,479,100 บาท จาก 49,037,823,700 บาท เหลือ 47,890,344,600 บาท
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตการใช้งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหมว่า ควรให้ความสำคัญกับกำลังพลในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยควรใช้วิธีรับสมัครแทนการเกณฑ์ทหาร เพื่อให้คัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถ มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการกำลังพล