หลุดพ้นวงจร ‘หนี้’ ด้วยศาสตร์พระราชา เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา
ปิดทองหลังพระฯ โชว์ความสำเร็จ 10 ปี พัฒนาพื้นที่น่าน ตามศาสตร์พระราชา เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา ช่วยชาวบ้านหลุดพ้นวงจร ‘หนี้’ มีรายได้เลี้ยงตัวเอง พื้นที่เขาหัวโล้นลด ผืนป่าเพิ่ม
‘น่าน’ จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย เป็นพื้นที่ต้นน้ำสำคัญของแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลมาบรรจบเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ขณะที่มีพื้นที่ราบเพียง 1.09 ล้านไร่ (ร้อยละ 15) เท่านั้น
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ระบุว่า ประชากร จ.น่าน มีภาระหนี้กับธนาคารพาณิชย์ เป็นลำดับที่ 15 จาก 17 จังหวัดภาคเหนือ นั่นหมายความว่า มีภาระหนี้น้อย เหตุผลหลักเนื่องจาก ประชากรไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้
หลายคนจึงต้องไปกู้เงินนอกระบบเข้ามา หนึ่งในนั้น คือ การจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ซึ่งไม่เฉพาะประชากร จ.น่าน เท่านั้น แต่ผลสำรวจพบสินเชื่อประเภทนี้เติบโตในภาคเหนือเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยกู้เพื่อนำไปหมุนหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จ.น่าน จึงเข้ามาพัฒนาในพื้นที่ เริ่มมีบทบาทเปลี่ยนไป โดยเน้นการพัฒนาตนเองและส่งเสริมการบริหารจัดการทั้งการผลิต การตลาด การบริหารและการเงิน เพื่อให้ประชากรยืนได้ด้วยตนเองได้อย่างสมบูรณ์ในอนาคต จากเดิมเน้นตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่เท่านั้น
‘ธนากร รัชตานนท์’ ผู้จัดการโครงการปิดทองหลังพระฯ จ.น่าน เปิดเผยว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ต้นแบบใน จ.น่านเป็นแห่งแรก ตั้งแต่ปี 2552 โดยดำเนินการใน 20 หมู่บ้าน ของ อ.สองแคว อ.ท่าวังผา และ อ.เฉลิมพระเกียรติ มีประชาชนเข้าร่วมงานกับโครงการ 1,945 ครัวเรือน จำนวน 8,190 คน
ทั้งนี้ พื้นที่ จ.น่าน มีพื้นที่ราบน้อย ทำให้เกิดการขยายพื้นที่เพาะปลูกในป่าเขา โครงการฯ จึงมุ่งเข้ามาช่วยส่งเสริมในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการทำเกษตรเพิ่มรายได้ และลดการใช้พื้นที่ป่าไปในตัว โดยร่วมกับจังหวัดและชุมชนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำแล้ว 1,058 โครงการ และจัดสร้างฝายอนุรักษ์รวม 8,259 ตัว เพื่อส่งเสริมการเกษตรและเพิ่มความชุ่มชื่นแก่ดิน
กักเก็บน้ำ
ผู้จัดการโครงการโครงการปิดทองหลังพระฯ จ.น่าน บรรยายต่อถึงความสำเร็จตลอดระยะเวลา 10 ปี ทำให้พบว่า การใช้ศาสตร์พระราชามาพัฒนาชีวิตเกษตรกร ทำให้ได้ผลน่าพึงพอใจ โดยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มจาก 41,359 บาท/ครัวเรือน ในปี 2554 เป็น 91,681 บาท/ครัวเรือน ในปี 2561
“รายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จากการพัฒนาเกษตรทางเลือกทดแทนเกษตรเชิงเดี่ยว” ธนากร ชี้ให้เห็นความแตกต่างหลังจากการพัฒนา
เขายังบอกว่า โครงการฯ ยังร่วมส่งเสริมการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรลดลง ทำให้มีพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจ เพิ่มขึ้น 2 แสนไร่ ในพื้นที่ต้นแบบ และพัฒนาแหล่งน้ำและเกษตรครอบคลุม 50 หมู่บ้าน ใน 15 อำเภอ ของ จ.น่าน ด้วย
‘ฤทธิ์ กันนิกา’ เจ้าของศูนย์เรียนรู้กันนิกา ไร่นาสวนผสม เป็นเกษตรกรตัวอย่างที่น้อมนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต จนปัจจุบันสามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้
“สมัยก่อนมีหนี้ 2-3 แสนบาท เพราะจำเป็นต้องหาเงินส่งลูกเรียนหนังสือ จึงต้องไปกู้จาก ธ.ก.ส. สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้าน และนอกระบบ แต่ตอนนี้สามารถปลดหนี้ได้แล้ว 4-5 ปี และมีเงินออมด้วย”
วิธีการปลดหนี้ของเขานั้น ได้รับการถ่ายทอดว่า เดิมทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงชีวิต คิดว่า จะทำอย่างไรให้หนี้หมด จึงเข้าร่วมโครงการปิดทองหลังพระฯ เน้นเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรแบบผสมผสาน ในพื้นที่จะเห็นว่า มีพันธุ์พืช 25 ชนิด เก็บเกี่ยวหมุนเวียนกันตามฤดูกาล
โดยรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากลำไยและเงาะ ขายผลผลิตรอบหนึ่งมีรายได้เกือบ 1 แสนบาท ส่วนพืชชนิดอื่น ๆ เช่น ลองกอง มังคุด หวาย ปาล์ม ปลูกจำนวนไม่มาก
ฤทธิ์ กันนิกา ให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชน ในการเยี่ยมพื้นที่เกษตรผสมผสาน
เกษตรกรตัวอย่าง ยังพาย้อนเล่าไปในอดีต พื้นที่ ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านนี้ เดิมเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวและทำไร่เลื่อนลอย เมื่อพ้นฤดูเก็บเกี่ยว จะพากันไปทำงานต่างจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อรับจ้างก่อสร้าง
“สมัยนั้น ชาวบ้านมีความเป็นอยู่แร้นแค้น ยากจน ผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน ส่วนคนหนุ่มสาวออกไปทำงานต่างจังหวัด กลับมาเยี่ยมบ้านในช่วงเทศกาล ปีละ 1-2 ครั้ง กระทั่งปี 2551 พื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตร โดยเฉพาะข้าว ร้อยละ 60 ได้รับความเสียหาย โครงการปิดทองหลังพระฯ จึงเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่ปี 2552”
ฤทธิ์ กล่าวว่า โครงการปิดทองหลังพระฯ ดำเนินตามแนวศาสตร์พระราชา ยึดหลัก เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา กล่าวคือ
เข้าใจ คือ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ หรือโครงการของปิดทองหลังพระฯ ในการเข้ามาช่วยเหลือ
เข้าถึง คือ เข้าถึงชาวบ้านที่มีความทุกข์ยากลำบาก ความต้องการในแต่ละระดับ
พัฒนา คือ ต้องพัฒนาภายใต้มิติต่าง ๆ
“ผลพวงจากโครงการปิดทองหลังพระฯ ทำให้วันนี้พื้นที่เปลี่ยนไปจากหญ้าคากลายเป็นผืนป่า” เขากล่าวด้วยความภาคภูมิใจ
เขายังแสดงความเห็นกรณีรัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการใช้สารเคมีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยยอมรับเกษตรกรได้รับผลกระทบ เพราะสารทดแทนที่จะส่งเสริมให้ใช้นั้นมีราคาสูงมากกว่า แต่เอาเข้าจริงแล้ว เกษตรกรมีความสามารถเช่นกันในการหาสารทดแทนเอง ดังเช่น การใช้เกลือโรยฆ่าหญ้า หรือยาปราบศัตรูพืชที่ผลิตจากสมุนไพร แต่อาจมีข้อจำกัด เมื่อต้องใช้ปริมาณมาก จึงต้องเสียเวลาในการหมักดอง
“เกลือไม่มีผลกระทบมาก เพราะเป็นทั้งยาฆ่ายาและปุ๋ยบำรุงดิน หากดินบริเวณนั้นจืด จะช่วยให้ดินมีสภาพดีขึ้น แต่ใช้บ่อยเกินไป จะทำให้เสียหน้าดินเช่นกัน” เกษตรกรตัวอย่าง ให้ข้อคิด
ฤทธิ์ กันนิกา จึงเป็น 1 ในเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ เเต่ไม่เพียงเท่านี้ เพราะยังมีเกษตรกรอีกหลายคนที่น้อมนำศาสตร์พระราชา มาดำเนินชีวิต และสามารถหลุดพ้นจากวงจรหนี้ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/