'นักวิชาการ'เตือนปี63คนยังเสี่ยง'ตกงาน'แนะปรับตัว
นักวิชาการแรงงานมองปี 63 แม้เศรษฐกิจกระเตื้อง แต่แรงงานยังเสี่ยงตกงาน เหตุเป็นช่วงเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีลดต้นทุนการผลิต แนะคนทำงานปรับตัว-กระบวนการชดเชยต้องเร็ว
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานคำให้สัมภาษณ์ นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ปิดสถานประกอบกิจการและเลิกจ้างพนักงานในปี 2563 อาจจะไม่รุนแรงไปกว่าปี 2562 เพราะปัญหาการค้าระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐอเมริกาเริ่มคลี่คลาย รวมถึงกรณีของประเทศอังกฤษมีความชัดเจนแล้วว่าจะออกจากสหภาพยุโรป คงเหลือเพียงสาเหตุจากค่าเงินบาทแข็งเท่านั้น ว่า คนส่วนหนึ่งคิดเช่นนั้น ว่าถ้าจีนกับสหรัฐเจรจากันได้เศรษฐกิจจะดีขึ้น ก็มีเค้าว่าจะเป็นไปได้ แต่กรณีค่าเงินบาทแข็งนั้น ถึงอย่างไรก็จะถูกสหรัฐฯ ยกมาอ้างถึงอยู่ดี ซึ่งคนบางกลุ่มเขามองเช่นนี้ โดยเฉพาะที่สหรัฐต้องการลดการขาดดุลลงประมาณ 4-5 แสนล้านดอลล่าสหรัฐ ที่ทำไปแล้วลดได้แค่ 1.5 แสนล้านดอลล่าฯ หากไม่ทำต่อ ก็ยังขาดดุลอยู่อีกมาก ทางจีนก็ยังขายดีอยู่ ดังนั้นแม้ว่าเราจะมีความหวังว่าการเจรจาของ 2 ประเทศดีขึ้น เศรษฐกิจเราจะดีขึ้นด้วย แต่ถ้าหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีก เขาก็ต้องเดินหน้ามาตรการเพื่อลดการขาดดุลให้ถึงเป้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ก็ส่งผลกระทบกับออเดอร์เหมือนช่วงนี้
"ดูแล้วจึงยังไม่มั่นใจ เพราะทั้งหมดก็เป็นเพียงการคาดเดา อย่างที่มีการคาดการณ์ว่าในไตรมาส 3 ของปี 2562 สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ก็กลายว่าเป็นไปติดลบ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าปีหน้าอาจติดลบน้อยลง หรืออาจจะบวกขึ้นมา ในไตรมาสแรก แต่ของพวกนี้จะมีลักษณะดีเลย์ คล้ายกับว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่ออร์เดอร์ต่างๆ กว่าจะได้กลับมาต้องใช้เวลา กว่าจะทำสัญญาสั่งสินค้าต่างๆ ก็กินเวลานาน น่าจะล่าช้าไปบ้าง ซึ่งหากสามารถยันอัตราการเติบโตในไตรมาส 4 นี้ไว้จนถึงไตรมาสหน้าได้ ก็ใช้ได้” ผอ.ด้านการพัฒนาแรงงาน กล่าว
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการใช้เทคโนโลยีทดแทนกำลังแรงงาน อุตสาหกรรมยังอยู่ในช่วงจะเอาอย่างไรกันแน่ หากเขายังอยู่ในประเทศไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนแน่นอนเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง เพราะฉะนั้นเพื่อทำให้กิจการดูผอมลงไม่ว่าจะใช้วิธีการแบบไหน ก็จะมีการเลิกจ้างพนักงานอยู่ดี แต่อาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตำแหน่งที่มีคนเกษียณ เขาก็ไม่รับเพิ่ม แล้วใช้กระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์มาจัดการ แต่พวกนี้มีปัญหามานานแล้ว มีการลดจำนวนคนมาตลอดโดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น เรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นขอให้ชดเชยให้เร็วอย่างน้อยเพื่อให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างมีเงินก้อนไว้ดูแลครอบครัวได้
“อย่าลืมว่าตกงาน 1 คน มันมีผลต่อครอบครัวเขาด้วย ซึ่งแรงงาน 1 คน ต้องดูแลคนในครอบครัวอย่างน้อย 2 คนและหน่วยงานราชการต้องเข้าไปดูแลให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้เร็ว รวมถึงการฝึกอาชีพและทำให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปสู่การทำงานต่อ คนทำงานเองก็ต้องปรับตัว และพยายามเพิ่มทักษะการทำงานให้มากขึ้น” นายยงยุทธ กล่าว