ร.ฟ.ท.เตรียมชงบอร์ด 16 ม.ค. จัดหาหัวรถจักร-ขบวนรถใหม่
เว็บไซต์ www.bangkokbiznews.com รายงานว่า นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.วันที่ 16 ม.ค.นี้ ตนเตรียมเสนอให้บอร์ดพิจารณา 3 โครงการ ประกอบไปด้วย โครงการจัดหารถดีเซลรางปรับอากาศสำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 184 คัน วงเงินราว 2 หมื่นล้านบาท โครงการจัดหาหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 50 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 6.5 พันล้านบาท และผลการศึกษา แนวคิดในการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ
“โครงการจัดหาขบวนรถใหม่ 184 คัน เป็นโครงการเก่าที่เอาแผนมารีวิวใหม่ เพราะเราต้องการจัดหาขบวนรถที่ใช้งาน 2 ระบบ ทั้งดีเซล และไฟฟ้า การเสนอบอร์ดครั้งนี้จะขออนุมัติเพื่อออกเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ส่วนโครงการจัดหาหัวรถจักร 50 คัน เป็นโครงการที่เราประมูลไปแล้ว จะเป็นการเสนอเพื่อขออนุมัติจ้าง”
สำหรับโครงการสถานีกลางบางซื่อ ที่จะเสนอให้บอร์ดพิจารณาในครั้งนี้ จะเป็นการเสนอในภาพรวมของผลการศึกษาที่ผ่านมา ประกอบกับแนวคิดในการพัฒนา และแผนบริหารสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งส่วนนี้จะต้องจัดหาเอกชนมารับบริหารด้วย
ส่วนการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ แปลงเอ ปัจจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการขอปรับปรุงเงื่อนไขเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) เนื่องจาก ร.ฟ.ท.เล็งเห็นว่าโครงการดังกล่าวหากผลักดันเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2562 จะทำให้คล่องตัวมากกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 2556
นายวรวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ความคืบหน้าของโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ภาพรวมขณะนี้พบว่าล่าช้ากว่าแผนไปประมาณ 6 เดือนแล้ว แต่งานโยธาส่วนใหญ่ยังเป็นไปตามแผน ซึ่งเบื้องต้นประเมินว่ารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ที่มี 3 สาย จะทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเปิดให้บริการในช่วงปี 2567 แบ่งออกเป็น สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จปี 2564 สายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ แล้วเสร็จปี 2565 และ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ช่วงมาบกะเบา – จิระ แล้วเสร็จปี 2566
“รถไฟทางคู่ระยะที่ 1 ตอนนี้งานโยธาคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นไปตามแผน อย่างเช่นสายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ตอนนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จมากกว่า 50% การเปิดให้บริการก็จะเป็นในรูปของทยอยเปิด ซึ่งทั้งหมดจะเสร็จภายในปี 2567 เดินรถได้หมด โดยขณะนี้ประเมินว่าสายอีสาน ช่วงจิระ – ขอนแก่น และช่วงฉะเชิงเทรา – คลองสิบเก้า – แก่งคอย จะเปิดให้บริการได้เป็นโครงการแรก เพราะตอนนี้งานโยธาก่อสร้างเสร็จแล้ว”
ขณะที่งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณรถไฟทางคู่ ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ได้ลงนามจัดจ้างเอกชนติดตั้งระบบครบทั้ง 3 สาย รวมมูลค่ามากกว่า 1 หมื่นล้านบาท แบ่งออกเป็น เส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ลงนามร่วมกับกิจการร่วมค้า BT-UN ประกอบด้วย Bombardier จากประเทศแคนาดา และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ มูลค่างาน 2,772 ล้านบาท
สายอีสาน ช่วงมาบกระเบา- ชุมทางถนนจิระ ลงนามร่วมกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ LSIS มูลค่างาน 2,447 ล้านบาท และล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2562 ได้ลงนามร่วมกับกิจการค้าร่วม CRSC (The Consortium of CRSC Research & Design Institute Group Co.,Ltd and CRSC International Company Limited) เพื่อติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ สายใต้ มูลค่างาน 6,210 ล้านบาท
สำหรับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญาณและโทรคมนาคม ช่วงนครปฐม – ชุมพร มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร (กม.) โดย CRSC จะใช้เวลาก่อสร้างราว 36 เดือน โดยเอกชนจะเริ่มงานก่อสร้างภายใน 30 วันหลังลงนามสัญญา และมีกำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือน ธ.ค.2565