คอนกรีตน้ำหนักเบาจากพลาสติกเหลือใช้ ยกระดับการแข่งขัน-ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ผลจากการทำวิจัยร่วม ทำให้บริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด ได้ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ ทั้งยังเพิ่มอัตราส่วนกำไรต่อก้อนอิฐมวลเบา จากเดิม 0.5-1 บาทต่อก้อน มาเป็น 8-10 บาทต่อก้อน ที่สำคัญ ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันกระแสความนิยมของคนทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น การพัฒนาธุรกิจให้อยู่รอด และอยู่ได้ในยุคนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่คุณภาพและราคาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความพยายามในการคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง หลายบริษัทพยายามยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด
ดร.ประชุม คำพุฒ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา หัวหน้าหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย จึงร่วมมือกับบริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด จำกัด ทำวิจัยในโครงการใช้พลาสติกอีวีเอสำหรับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์คอนกรีตน้ำหนักเบา โดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการเสริมสร้างงานวิจัยภาคอุตสาหกรรม (SuRF) ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถจำหน่ายได้ในเชิงพาณิชย์
ขณะที่ บริษัทอริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับคอนกรีตบล็อก โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบมวลรวมน้ำหนักเบา ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ แต่พบว่า ผลกำไรที่ได้กลับต่ำตามไปด้วย โดยมีผลกำไรต่อก้อนอยู่ที่ 50 สตางค์ถึง 1 บาทเท่านั้น ทำให้ที่ผ่านมาบริษัทแห่งนี้่ ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้
นายธวัชชัย อริยะสุทธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด จำกัด เล่าว่า เขาจึงคิดสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้บริษัทสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นอย่างอิฐมวลเบา เป็นต้น โดยใช้เทคโนโลยีเดิมที่บริษัทมีอยู่มาพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมให้มีมูลค่าสูงขึ้น ร่วมทำวิจัยกับ อาจารย์ประชุม คำพุฒ เพื่อสร้างคอนกรีตบล็อกน้ำหนักเบา ที่ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ในอุตสาหกรรมอื่นมาเป็นวัตถุดิบ
สำหรับคอนกรีตน้ำหนักเบาที่บริษัทคิดพัฒนาขึ้นมาใหม่นั้น มีการนำขยะพลาสติกประเภทอีวีเอที่มีสีขาวล้วน และเป็นของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมรองเท้าฟองน้ำ มาเป็นมวลรวมน้ำหนักเบาทดแทนมวลรวมปกติ และใช้เศษหินฝุ่นจากเหมืองดินขาวมาทดแทนหินฝุ่นจากเหมืองหินปูน ในอัตราส่วนที่เหมาะสม จากนั้นผสมขึ้นรูปเป็นคอนกรีตบล็อกมวลเบาสีขาวที่มีขนาดเท่ากับอิฐมวลเบาในท้องตลาด จนได้เป็นอิฐบล็อกมวลเบาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.58-2533 และสามารถจำหน่ายในเชิงพาณิชย์
นายธวัชชัย อธิบายถึงเหตุผลที่ต้องนำพลาสติกอีวีเอมาใช้เป็นส่วนผสมในการทำคอนกรีตน้ำหนักเบา เพราะพลาสติกอีวีเอ นอกจากจะมีน้ำหนักที่เบาแล้ว ยังมีคุณสมบัติเป็นฉนวนส่งผลให้ตัวคอนกรีตบล็อกมีน้ำหนักลดลง สามารถป้องกันความร้อนและป้องกันเสียงได้ดีขึ้น อีกทั้งมีความคงทนต่อแรงกระแทกมากขึ้น
ผลจากการทดสอบอิฐบล็อกมวลเบา ตกจากที่สูงมากกว่า 2 เมตร พบว่า คอนกรีตน้ำหนักเบาจากพลาสติกอีวีเอไม่เกิดการแตกหักเหมือนอิฐมวลเบาทั่วไป ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ช่วยลดมูลค่าความเสียหายในระหว่างการขนส่งและการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี
“อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ดีขึ้นคือคอนกรีตบล็อกตัวนี้มีความเป็นฉนวนที่ดี และคลายความร้อนได้เร็วกว่าอิฐมวลเบาทั่วไป ถ้าเปรียบเทียบกับอิฐมวลเบาทั่วไปที่ใช้ในการสร้างบ้าน กว่าอิฐจะคลายความร้อนออกหมดก็เกือบ 4 ทุ่ม แต่คอนกรีตบล็อกตัวนี้จะคลายความร้อนหมดประมาณ 2-3 ทุ่ม ทำให้ห้องเย็นเร็วกว่าและประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีกด้วย” นายธวัชชัย อธิบายถึงคุณสมบัติเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ผลจากการทำวิจัยร่วมในครั้งนี้ ทำให้บริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด ได้ผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ที่สามารถยกระดับตนเองเข้าไปแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นอย่างตลาดของอิฐมวลเบาได้ ทั้งยังเพิ่มอัตราส่วนกำไรต่อก้อนจากเดิม 0.5-1 บาทต่อก้อน มาเป็น 8-10 บาทต่อก้อน
ที่สำคัญ ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจัดการขยะพลาสติก ซึ่งถือเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมในอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันคอนกรีตบล็อกน้ำหนักเบาเริ่มมีการวางขายในท้องตลาดแล้ว โดยกลุ่มลูกค้ารายใหญ่คือกลุ่มธุรกิจบ้านจัดสรร และร้านวัสดุก่อสร้างในจังหวัดปทุมธานี
และเมื่อถามถึงจุดดีในการทำงานระหว่างผู้ประกอบการและนักวิจัย เขาบอกว่า การทำงานร่วมกับนักวิชาการทำให้บริษัทสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่จนสามารถก้าวนำคู่แข่งในตลาดเดียวกันได้แล้ว และผลิตภัณฑ์ที่ได้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตอบโจทย์ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี...
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/