ข่าวใหญ่ปี 62 ผลคะแนนคุณธรรม-โปร่งใสหน่วยงานรัฐ 'กลาโหมรั้งท้าย-คลังแชมป์' สอบตก 78 แห่ง
"...การประเมิน ITA ถือเป็นการประเมินเชิงบวก ที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและต่อประเทศมากที่สุด ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับการประเมินจะได้นำผลการประเมินไปสู่การศึกษาและวิเคราะห์หรือใช้ประกอบในการวางแผนงานหรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานตนเองในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของระบบราชการของประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสให้เทียบเท่าระดับสากล..."
นับเป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ ในช่วงปลายปี 2562 ที่มีผลสั่นสะเทือนไปทั่วในแวดวงราชการไทย
สำหรับข่าวผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จัดทำโดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมีการเผยแพร่ผลประเมินเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการประเมินพบว่า ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ในระดับปานกลาง 66.73 คะแนน มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ A และ AA จำนวน 970 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น
ขณะที่ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงผลการประเมิน ITA เป็นทางการว่า การประเมิน ITA ในปีนี้มีหน่วยงานรัฐร่วมประเมิน 8,299 หน่วยงาน คิดเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด มีหน่วยงานรัฐที่ดำเนินการครบถ้วนตามขั้นตอนการประเมิน 8,058 หน่วยงาน คิดเป็น 97.10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้สรุปผลการประเมิน ITA ภาพรวมทั้งประเทศ 66.73 คะแนน หรืออยู่ในระดับ C หรือระดับปานกลาง โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์ A และ AA จำนวน 970 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น ทั้งนี้หากแยกเป็นประเภทหน่วยงาน พบว่าประเภทหน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดคือ องค์กรศาล 91.93 คะแนน รองลงมาคือองค์กรอัยการ 90.61 คะแนน หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา 90.35 คะแนน โดยประเภทหน่วยงานที่ได้คะแนนต่ำสุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ 61.58 คะแนน ทั้งนี้เมื่อแยกเป็นกลุ่มกระทรวงสังกัดของหน่วยงานภาครัฐ พบว่ากระทรวงที่ได้คะแนนสูงสุดคือ กระทรวงการคลัง 90.04 คะแนน รองลงมาคือกระทรวงวัฒนธรรม 89.59 คะแนน กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 89.44 คะแนน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 88.45 คะแนน และกระทรวงมหาดไทย 88.19 คะแนน
ส่วนกระทรวงที่มีคะแนนต่ำสุดคือกระทรวงกลาโหม 85.05 คะแนน แยกเป็นการประเมินตามภูมิภาคของประเทศไทย พบว่า ภูมิภาคที่ได้คะแนนสูงสุดคือ จ.ตรัง จ.นราธิวาส จ.ปัตตานี จ.พัทลุง จ.ยะลา จ.สงขลา และ จ.สตูล คิดเป็น 71.58 คะแนน ส่วนภูมิภาคที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.สุรินทร์ จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ คิดเป็น 59.30 คะแนน
ณ โอกาสที่ปี 2562 กำลังจะผ่านพ้นไป สำนักข่าวอิศรา สรุปภาพรวมรายละเอียดผลการการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มานำเสนอแบบจัดเต็มๆ อีกครั้ง
สรุปผลการประเมิน ITA ในภาพรวมของประเทศ
ทั้งนี้ เป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐนั้น ตามแผนแม่บท ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริต ประพฤติมิชอบ กำหนดเป้าหมายในระยะแรกไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2565 หน่วยงานภาครัฐจะต้องมีผลการประเมิน ITA ผ่านเกณฑ์ (85 คะแนนขึ้นไป) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 โดยต่อมาได้มีการกำหนดค่าเป้าหมายรายปี คือ
ในปี 2562 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 35
ปี 2563 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 50
ปี 2564 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 65
และปี 2565 ค่าเป้าหมายคือร้อยละ 80
เมื่อพิจารณาจากผลการประเมิน ITA ปี 2562 แล้ว พบว่า มีหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ หรือมีระดับ A และ AA มีจำนวน 970 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 11.69 เท่านั้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่มีผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง คือระดับ B-C-D
สรุปผลการประเมิน ITA ในแต่ละกลุ่มของหน่วยงานภาครัฐ
หากพิจารณาผลการประเมิน มิติกลุ่มประเภทของหน่วยงานภาครัฐ จะพบรายละเอียดตามตารางประกอบต่อไปนี้ (เรียงตามลำดับการผ่านเกณฑ์)
โดยประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการหน่วยงานในสังกัดรัฐสภา รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ตามลำดับ ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ
ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ องค์กรศาล องค์กรอัยการ หน่วยงานในสังกัดรัฐสภา กรมหรือเทียบเท่า และองค์การมหาชน ตามลำดับ ส่วนประเภทของหน่วยงานภาครัฐที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ตามลำดับ
ด้านมิติกลุ่มกระทรวงสังกัดของหน่วยงานภาครัฐ (ดูตารางประกอบ : เรียงตามลำดับการผ่านเกณฑ์)
กระทรวงที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามลำดับ ส่วนกระทรวงที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ
กระทรวงที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ ตามลำดับ ส่วนกระทรวงที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามลำดับ
ส่วนมิติพื้นที่ของประเทศไทย จำแนกออกเป็น 9 ภูมิภาคทั่วประเทศ (ดูตารางประกอบ : เรียงตามลำดับการผ่านเกณฑ์)
ภูมิภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ภูมิภาคที่ 9 ภูมิภาคที่ 1 และภูมิภาคที่ 5 ตามล าดับ ส่วนภูมิภาคที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคที่ 3 ภูมิภาคที่ 4 และภูมิภาคที่ 6 ตามลำดับ
ภูมิภาคที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคที่ 1 ภูมิภาคที่ 7 และภูมิภาคที่ 9 ตามลำดับ ส่วนภูมิภาคที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ ภูมิภาคที่ 3 ภูมิภาคที่ 4 และภูมิภาคที่ 8 ตามลำดับ
ส่วนในระดับจังหวัดนั้น สรุปผลการประเมินตามจังหวัดของประเทศ โดยสรุป พบว่า จังหวัดที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ได้แก่ ลำพูน นนทบุรี สกลนคร สิงห์บุรี เชียงรายและตรัง ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ ศรีษะเกษ ร้อยเอ็ด หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และเพชรบูรณ์ ตามลำดับ
จังหวัดที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์มากที่สุด ได้แก่ ลำพูน นนทบุรี เชียงราย สิงห์บุรี และนครปฐม ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์น้อยที่สุด ได้แก่ ศรีษะเกษ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ เพชรบูรณ์ หนองคาย เลย และภูเก็ต ซึ่งไม่มีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินเลยเช่นเดียวกัน
ขณะที่ผลการประเมินในรายเนื้อหาของการประเมิน ซึ่งจำแนกออกเป็น 10 ตัวชี้วัด ทั้ง 10 ตัวชี้วัด จะแสดงให้เห็นภาพว่าหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมของประเทศไทยนั้นมีลักษณะด้านคุณธรรมและความโปร่งใส ในแต่ละด้านเป็นอย่างไร โดยจะพิจารณาจากค่าคะแนนเฉลี่ยขอแต่ละตัวชี้วัด ดังนี้
สำหรับตัวชี้วัดที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุด ได้แก่ ตัวชี้วัดการป้องกันการทุจริต และตัวชี้วัดการเปิดเผยข้อมูล ตามลำดับ ซึ่งเป็น 2 ตัวชี้วัดที่พิจารณาจากการดำเนินการ และการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ
ทั้งนี้ นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช ระบุท้ายรายงานแถลงผลการประเมิน ว่า การประเมิน ITA ถือเป็นการประเมินเชิงบวก ที่มุ่งให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ และส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและต่อประเทศมากที่สุด
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หน่วยงานภาครัฐที่รับการประเมินจะได้นำผลการประเมินไปสู่การศึกษาและวิเคราะห์หรือใช้ประกอบในการวางแผนงานหรือดำเนินการต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงพัฒนาหน่วยงานตนเองในด้านคุณธรรมและความโปร่งใสให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นการมีส่วนร่วมกันในการพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของระบบราชการของประเทศไทย และนำไปสู่การพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสให้เทียบเท่าระดับสากล
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราได้รวบรวมและรายงานเพิ่มเติมว่า ผลการประเมินคุณธรรมความโปร่งใส หน่วยงานรัฐทั้งสิ้น 445 แห่งนั้น มี 109 แห่ง ไม่ผ่านการประเมิน (สอบตก)
ในส่วนของระดับกรมหรือเทียบเท่า 144 แห่ง ปรากฏว่าไม่ผ่านเกณฑ์ หรือมีคะแนนต่ำ 85 คะแนน 17 แห่ง โดย 10 แห่ง มีคะแนนต่ำสุด ได้แก่ กรมการปกครอง 57.44 คะแนน (ระดับ D) ,กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 75.55 คะแนน (ระดับ B) ,กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม 77.88 คะแนน (ระดับ B),สำนักงานราชบัณฑิตยสภา 79.71 คะแนน (ระดับ B),กรมกิจการผู้สูงอายุ 81.17 คะแนน (ระดับ B), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) 81.35 คะแนน (ระดับ B),กองทัพเรือ 81.81 81 คะแนน (ระดับ B),กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 82.77 คะแนน (ระดับ B),สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา 82.96 คะแนน (ระดับ B) และ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 83.19 คะแนน (ระดับ B)
อีก 7 แห่ง คะแนนสูงในกลุ่มสอบตก (ต่ำกว่า 85 คะแนน) ได้แก่ สำนักงบประมาณ ,กรมธุรกิจพลังงาน ,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, กรมป่าไม้,สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,สำนักงานการวิจัยและแห่งชาติ และ กรมประชาสัมพันธ์
ประเภทรัฐวิสาหกิจ 54 แห่ง ในจำนวนนี้ 11 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ (สอบตก) คะแนนต่ำสุด 10 แห่ง ได้แก่ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) 74.44 คะแนน (ระดับ C) , องค์การสะพานปลา 79.99 คะแนน (ระดับ B) ,โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 81.78 คะแนน (ระดับ B), บริษัทอู่กรุงเทพ จำกัด กระทรวงกลาโหม 81.88 คะแนน (ระดับ B), สถาบันการบินพลเรือน 82.21 คะแนน (ระดับ B),องค์การคลังสินค้า 82.6 คะแนน (ระดับ B),โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต 82.67 คะแนน (ระดับ B),บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี 82.79 คะแนน (ระดับ B),การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 83.88 คะแนน (ระดับ B),องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 84.4 คแนน (ระดับ B)
ขณะที่ องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมชาชูปถัมภ์ รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ไม่ผ่าน (สอบตก) ที่ 84.82 คะแนน สำหรับ องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ไม่ถูกประเมิน (ดูอินโฟกราฟฟิกประกอบ)
ด้าน สถาบันอุดมศึกษา จำนวน 83 หน่วยงาน สถาบันอุดมศึกษาที่มีคะแนนผ่านเกณฑ์ประเมิน ทั้งสิ้น 54 แห่ง อยู่ในระดับ A ทั้งหมด ไม่มีระดับ AA (สถาบันอุดมศึกษาที่มีผลคะแนนสูงสุด 90 คะแนนขึ้นไป)
ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาที่มีคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินทั้งสิ้น 26 แห่ง จำแนก 3 กลุ่ม
กลุ่มคะแนนระดับ B คะแนนตั้งแต่ 79.04-84.95 จำนวน 21 แห่ง (สูงสุดคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 84.94 คะแนน-เกือบผ่าน)
กลุ่มคะแนน ระดับ C คะแนนตั้งแต่ 66.94-74.18 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (จ.ลพบุรี) ,สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ,มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กลุ่มคะแนน ระดับ D จำนวน 1 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 61.28 คะแนน (ดูอินโฟกราฟฟิกประกอบ)
ส่วนผลการประเมินรายจังหวัด จังหวัดที่ผ่านการประเมิน ได้คะแนนสูงสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 จังหวัดนครพนม 95.5 คะแนน ระดับ AA อันดับ 2 จังหวัดพะเยา 94.63 คะแนน อันดับ 3 จังหวัดยะลา 94.31 คะแนน อันดับ 4 จังหวัดนครสวรรค์ 94.23 คะแนน อันดับ 5 จังหวัดปทุมธานี 92.69 คะแนน อันดับ 6 จังหวัดร้อยเอ็ด 92.12 คะแนน อันดับ 7 จังหวัดสิงห์บุรี 91.9 คะแนน อันดับ 8 จังหวัดราชบุรี 91.88 คะแนน อับดับ 9 จังหวัดปราจีนบุรี 91.86 คะแนน อันดับ 10 จังหวัดสุพรรณบุรี 91.72 คะแนน (อับดับที่ 2-45 ระดับ A ดูตาราง)
จังหวัดที่ไม่ผ่านการประเมิน คะแนนต่ำสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ อันดับ 74 พิษณุโลก 47.65 คะแนน ระดับ F ,อันดับ 73 จังหวัด สุโขทัย 54.13 คะแนน ระดับ E ,อันดับ 72 จังหวัดตรัง 56.39 คะแนน ระดับ D ,อันดับ 71 จังหวัดกำแพงเพชร 63.1 คะแนน ระดับ D ,อันดับ 70 จังหวัดสุรินทร์ 63.54 คะแนน ระดับ D ,อันดับ 69 จังหวัดลำปาง 66.32 คะแนน ระดับ C ,อันดับ 68 จังหวัดอำนาจเจริญ 67.1 คะแนน ระดับ C ,อันดับ 67 จังหวัดระยอง 67.33 คะแนน ระดับ C ,อันดับ 66 จังหวัดศรีสะเกษ 67.95 คะแนน ระดับ C ,อันดับ 65 จังหวัดกาญจนบุรี 69.31 คะแนน ระดับ C
ส่วน 2 จังหวัดที่ไม่ถูกประเมินคือ จังหวัดเชียงรายและ จังหวัดนครราชสีมา (ดูอินโฟกราฟฟิกประกอบ)
ทั้งหมดนี้ เป็นรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมานำเสนอต่อสาธารณชนอีกครั้ง เพื่อเป็นข้อมูลให้ หน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินด้านความโปร่งใส
นำไปปรับปรุงกระบวนการทำงาน ในปี 2563 เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนการป้องกันการทุจริต เสริมสร้างคุณธรรมและความโปร่งใสภายในองค์กรของตัวเอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลมากยิ่งขึ้นต่อไป
อ่านประกอบ :
INFO:TOP 10 มหาวิทยาลัย ผ่านเกณฑ์-สอบตก 'คุณธรรมความโปร่งใส’ ปี 62
ไขคำตอบ! การประเมินคุณธรรม-ความโปร่งใสหน่วยงานภาครัฐทำกันอย่างไร
เปิดผลคะแนน 'คุณธรรมความโปร่งใส’สถาบันอุดมศึกษา-มหาวิทยาลัย 26 แห่ง ‘สอบตก
INFO:แผนที่คะแนน ‘คุณธรรม ความโปร่งใส’62 ประเทศไทย ผ่าน 45 จังหวัด
จำแนกรายจังหวัด คะแนน ‘คุณธรรมความโปร่งใส’ - 29 จว.สอบตก สุโขทัย E พิษณุโลกบ๊วย
INFO:หน่วยงานภาครัฐ 78 แห่ง สอบตก เกณฑ์คุณธรรมความโปร่งใส ปี 62
เว็บไซต์ขัดข้องดูผลงานไม่ได้! เลขาฯ สพฉ.แจงเหตุสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ป.ป.ช. ปี 62
เปิดชื่อ 71 หน่วยงานรัฐ สอบตกเกณฑ์ประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62 -'จุฬา- มธ.' ไม่ผ่านด้วย
ฟังคำชี้แจง พล.ท.สรรเสริญ- อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ ไฉนสอบตกประเมินคุณธรรมโปร่งใส ปี 62
ผวจ.พิษณุโลกแจงได้คะแนน'คุณธรรมโปร่งใส'ปี 62 ต่ำสุด อ้างระบบ ป.ป.ช. บกพร่อง
กลาโหมรั้งท้าย-คลังแชมป์! ป.ป.ช.เปิดผลคะแนนคุณธรรม-โปร่งใสหน่วยงานรัฐปี62
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/