8 ข่าวเด่นสืบสวน 'อิศรา' ประจำปี 2562
เปิด 8 ข่าวเด่นสืบสวน 'อิศรา' ประจำปี 2562 ผลงานเชิงประจักษ์ยืนหยัดบนพื้นฐานทำหน้าที่ 'สื่อมวลชน' ปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะ ผ่านการรายงานข่าวเชิงสืบสวน
ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะในฐานะสื่อมวลชน ผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวน ทั้งที่ตรวจสอบพบข้อมูลเอง และนำรายงานการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐมาขยายผลเจาะลึกข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง
ต่อไปนี้คือ 'ข่าวเด่นสืบสวน' ประจำปี 2562 ของ ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา ที่ได้รวบรวมนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง
1. รายงานขอตัดไม้แซะ ก่อนลักไก่โค่นไม้ยางยักษ์ 11 ต้น จ.พังงา
จุดเริ่มต้นข่าวนี้ เกิดขึ้นจากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ติดตาม นายสมชาย นุชนานนท์เทพ ผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าไม้ที่ 12 สาขากระบี่ พร้อมด้วยผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้พังงา เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามที่ 4 ภาคใต้ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา พร้อมเจ้าหน้าที่ หมวดการทางท่าฉัตรไชย แขวงการทางภูเก็ตและ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้สุราษฎร์ธานี สั่งปิดถนนสายโคกกลอย –ท่านุน ช่วงบ้านต้นแซ๊ะ ที่พิกัด N 8 องศา 14 ลิปดา 02 ฟิลิปดา E98 องศา 17 ลิปดา 50 ฟิลิปดา เมื่อเวลา 12.10 น.วันที่ 17 พ.ย.2562 เพื่อทำการโค่นล้มไม้ยางนาขนาดลำต้น เท่ากับรถยนต์กะะบะ ความยาวหลายเมตรจำนวนหลายต้น จนทำให้รถยนต์-จักรยานยนต์ที่สัญจร จาก จ.พังงา ไปยัง จ.ภูเก็ต ติดเป็นระยะทางยางหลายกิโลเมตร ส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่ไม่พอใจ หลังทราบว่าการปิดการจราจรในครั้งนี้เป้าหมายเพื่อโค่นต้นไม้ที่เป็นสัญญาลักษณ์การอนุรักษ์ของชาวจังหวัดพังงา พร้อมถ่ายภาพโพสต์ในโซเชียลมีเดีย (Social Media) ส่งแชร์ต่อกันเป็นจำนวนมาก
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า การสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นผลมาจากชนิดไม้ที่มีการตรวจสอบขออนุญาตก่อนโค่น ที่หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ท้ายเหมือง เจ้าหน้าที่สำนักงานธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพังงา แขวงการทางภูเก็ต และเจ้าหน้าที่องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ รายงานต่ออธิบดีป่าไม้ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คือ บัญชีไม้ระบุ เป็นไม้ แซะ เพราะข้อเท็จจริงที่เป็นจริง ไม้ที่ทำการโค่น คือไม้ยางนา ขนาดใหญ่ ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้เจ้าของรอยตรา ต.8342 ก็ลงนามรับรองในบัญชีไม้ด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ว่า ได้ออกคำสั่ง กรมป่าไม้ ที่ 4000/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง อย่างเป็นทางการ โดยมีนายเฉลิมเกียรติ สุดสาคร นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเฉพาะด้านจัดการ เป็นประธาน
และจากการติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง สำนักข่าวอิศรา ได้รับทราบผลการสอบสวนเป็นทางการว่า การระบุชื่อต้นไม้ที่จะตัดโค่นผิด เป็นต้นไม้แซะ เกิดจากการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้าไปสำรวจข้อมูลเบื้องต้น ที่ไม่ได้จบการศึกษาด้านวนศาสตร์มาโดยตรง แต่ผ่านการอบรมเรื่องการดูพันธุ์ไม้มาแค่เดือนเดียวเท่านั้น ประกอบกับพื้นที่จุดเกิดเหตุเป็นจุดที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โค้งบ้านต้นแซะ ขณะที่ต้นไม้ที่เข้าไปสำรวจก็มีขนาดใหญ่คล้ายต้นแซะ ที่มีลักษณะสูงใหญ่ ไม่ใช่ไม้พุ่ม
ส่วนชนิดต้นไม้ทั้ง 11 ต้น ที่ถูกโค่นไปนั้น ตรวจสอบพบว่า ไม่ใช่ต้นยางนา แต่เป็นต้นยางมันหมู และพบว่า ยืนต้นตาย 3 ต้น กำลังจะตายในเร็ว ๆ นี้ อีก 6 ต้น ส่วนอีก 2 ต้นสภาพยังดี แต่อยู่ตัดกับไหล่ทางถนนมากเกินไปต้องตัดทิ้งเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับการจากการสอบปากคำชาวบ้านในพื้นที่ ว่า ต้องการให้มีการตัดต้นไม้เหล่านี้ออกไป เพราะกังวลเรื่องปัญหาความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน
จากข้อมูลทั้งหมด ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องนี้ เกิดจากการขาดประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่ในการสำรวจไม้ จึงทำให้มีการระบุชื่อชนิดต้นไม้ผิด
ล่าสุด ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ ว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้สรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว โดยผลสรุปเบื้องต้นพบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสำรวจไม้แซะซึ่งปรากฏตามเอกสาร มีส่วนกระทำความผิดในการแจ้งเอกสารเป็นเท็จ โดยหลังจากนี้คณะทำงานจะส่งเรื่องมาให้ตนเพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะดำเนินการทางวินัยต่อไป
นับเป็นบทสรุปสุดท้ายของข่าวชิ้นนี้ ที่มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นทางการ (อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน อธิบดีกรมป่าไม้เผยผลสอบปมโค่นไม้ยางยักษ์พังงา จนท.สำรวจแจ้งเอกสารเท็จ)
2. หนี้ 1.2 พันล้าน ‘บ.ทหาร RTA’ กองทัพบก ให้กู้ ปี 45 - ไร้ดอกเบี้ย
เป็นกรณี สืบเนื่องจากที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า บริษัท RTA Entertainment หรือ Royal Thai Army Entertainment เป็นบริษัทที่กองทัพปล่อยกู้ 1 พันล้าน ไปลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมระบุว่า "สุดท้ายเงินหลายร้อย หลายพัน หลายหมื่นล้านในกองทัพ ที่เราแทบจะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลยนี้ ก็คือเงินภาษีที่มาจากพวกคุณ ประชาชนคนไทยทั้งนั้น เงินภาษีที่เราสามารถนำมาพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสำหรับบุตรหลานของเราทุกคน เงินภาษีที่เราสามารถนำมาสร้างโรงพยาบาลที่ดีสำหรับประชาชนทุกคน"
จากนั้น สำนักข่าวอิศราตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติม พบว่า
1) บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) แห่งนี้ มีตัวตนอยู่จริง จดทะเบียนจัดตั้ง เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2546 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ทำธุรกิจเข้าถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ ดำเนินธุรกิจด้านกิจการสื่อสารโทรคมนาคมแบบครบวงจร ปรากฏชื่อ พลเอกกิตติเชษฐ์ ศรดิษฐพันธ์ พลเอกกิจพันธ์ ธัญชวนิช พลตรีบุญญฤทธิ์ วิสมล พลตรีสกล โชติปัทมนนท์ พลเอกณัฐเทพ สมคะเน พลเอกพีรพร ศรีพันธุ์วงศ์ พลโทไกรสร ศรีสุข เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ณ 30 เมษายน 2562 กองทัพบกถือหุ้นใหญ่สุด 50.0004% มูลค่า 5,000,040 บาท
นำส่งข้อมูลงบการเงินล่าสุด ณ 31 ธันวาคม 2561 แจ้งว่า มีรายได้รวม 88,057,555.80 บาท รวมรายจ่าย 83,638,589.68 บาท กำไรสุทธิ 2,872,277.18 บาท ในส่วนหนี้สิน แจ้งว่า มีเจ้าหนี้การค้า 2,064,176.47 บาท เจ้าหนี้อื่น ๆ 3,584,416.86 บาท มีเงินกู้ยืมระยะยาว 1,236,800,000 บาท รวมหนี้สิน 1,243,206,329.07 บาท
2) ตั้งแต่ ปี 2554 - ปัจจุบัน บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สำนักงานเลขานุการกองทัพบก และหน่วยงานในสังกัด กรุงเทพมหานคร จำนวน 17 สัญญา รวมวงเงินกว่า 528,358,581 บาท
3) ในช่วงปี 2547 ยุคสมัยรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ เคยปรากฏชื่อถูกคณะรัฐมนตรี (ครม.) สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง จากกรณีปัญหาการโอนการบริหารเวลาการออกอากาศและผังรายการของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ให้กับ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ โดยมีเอกชนเข้าร่วมถือหุ้นด้วยเพื่อดำเนินการนำสถานีโทรทัศน์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากมีการท้วงติงว่า เป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ทำให้รัฐเสียประโยชน์และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
4) พบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาเงินกู้ยืมระยะยาว 1,236,800,000 บาท ว่า เป็นเงินที่ บริษัท อาร์ทีเอ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) กู้ยืมมาจาก กองทัพบก ผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยได้รับมอบหมายจาก ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้ให้กู้
โดยข้อมูลงบการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2546 ซึ่งเป็นงบการเงินปีแรกที่จัดส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ หลังจากบริษัทแห่งนี้ ยังใช้ชื่อเดิมว่า บริษัท ททบ.5 จำกัด แปรสภาพบริษัทเป็นมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2546
ระบุรายละเอียดเรื่องเงินกู้ยืมระยะยาวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน ว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2546 และ 2545 ได้เงินกู้ยืมจากกองทัพบกโดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกองทัพบก และทำการโดยได้รับมอบหมายจาก ผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ให้กู้) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของบริษัท ในปี 2545
รวมวงเงินทั้งหมด 1,400,274,940 บาท แบ่งออกเป็น 2 ก้อน
1. ก้อนแรก วงเงิน 32,500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5 % วันครบกำหนด 31 ธ.ค. 2555
2. ก้อนสอง วงเงิน 1,367,774,940 บาท ไม่มีอัตราดอกเบี้ย วันครบกำหนด 18 ม.ค. 2553
แต่ในปี 2546 เงินกู้ก้อนที่สอง 1,367,774,940 บาท ปรับลดลงไป 80,000,000 บาท เหลือ 1,287,774,940 บาท
ทำให้ยอดวงเงินกู้ทั้งสองก้อนเหลืออยู่ 1,320,274,940 บาท
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้แจ้งข้อมูลในส่วนเงินให้กู้ยืมระยะยาว ว่า บริษัทฯ ได้ให้ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก กู้ยืมไปเป็นจำนวน 1,536,298,000 บาท พร้อมระบุว่า ยอดเงินกู้ ทั้งเงินกู้ยืมระยะยาว กับเงินให้กู้ยืมระยะยาว บริษัทฯ และ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ทำสัญญาเพื่อหักกลบลบหนี้ระหว่างกันด้วย
เมื่อตามไปตรวจสอบข้อมูลเงินกู้ระยะยาว และเงินให้กู้ยืมระยะยาว ในงบการเงิน ณ 31 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นงบการเงินปีล่าสุดที่บริษัทนำส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับทราบ พบว่ามีการแจ้งข้อมูลความเปลี่ยนแปลงเงินกู้ทั้งสองส่วนไว้ดังนี้
เงินกู้ยืมระยะยาวจากกิจการที่เกี่ยวข้องกัน มีการแจ้งยอดคงเหลือต้นปี อยู่ที่ 1,246,800,000 บาท แต่มีหักจ่ายชำระระหว่างปี 10,000,000 บาท ทำให้เหลือตัวเลข 1,236,800,000 บาท
ระบุรายละเอียดเงินกู้ทั้งสองก้อน ว่า ก้อนแรก วงเงินจำนวน 32.5 ล้านบาท กู้เต็มจำนวนแล้ว โดยมีกำหนดชำระคืนเงินต้นทั้งหมดภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 และชำระดอกเบี้ยเป็นรายปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
ก้อนสอง วงเงินจำนวน 1,287.7 ล้านบาท กู้เต็มจำนวนแล้ว โดยมีกำหนดชำระคืนเงินต้นทั้งหมดภายในวันที่ 18 ม.ค. 2553 โดยไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างกัน ในปี 2553 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขยายเวลาการจ่ายคืนเงินต้นใหม่ โดยมีการจ่ายชำระคืนเงินต้นทั้งหมดภายในวันที่ 18 ม.ค. 2558
ส่วนข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมระยะยาว แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ระบุตัวเลขอยู่ที่ 159,387,367.46 บาท แต่หักรับชำระระหว่างปีไปหมดแล้ว พร้อมระบุว่า เงินกู้ส่วนนี้ เกิดจากการที่บริษัทเข้าทำสัญญาสนับสนุนทางการเงินกับธนาคารในประเทศแห่งหนึ่งแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันดังกล่าวได้รับเงินสนับสนุนดังกล่าวแล้ว
ขณะที่ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ณ วันที่ 30 เม.ย. 2562 บริษัทฯ ระบุข้อมูลเรื่องการกู้ยืมเงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,615,298,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนในธุรกิจของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2541 ว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2561 บริษัทฯ มียอดค้างชำระจำนวน 111,013,174.88 บาท จึงได้ชำระเงินให้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) เต็มจำนวนไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.2561 บริษัทฯ จึงได้หมดภาระหนี้สินกับธนาคารทหารไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เท่ากับว่า ณ ปัจจุบัน สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ไม่ได้เป็นหนี้กับ บริษัทฯ แล้ว
แต่บริษัทฯ ยังเหลือภาระชำระเงินกู้ยืมระยะยาวให้กับ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก 1,236,800,000 บาท และเลยกำหนดการจ่ายชำระคืนเงินต้นทั้งหมดภายในวันที่ 18 ม.ค. 2558 มานานหลายปีแล้ว
ขณะที่พรรคอนาคตใหม่ ออกมายืนยันว่า เตรียมจะบรรจุเรื่องนี้เพื่ออธิปรายการทำงานของรัฐบาลในสภาฯ ด้วย
บทสรุปข่าวชิ้นนี้ จะเป็นอย่างไรต่อ คงต้องรอฟังคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงต้นปี 2563 นี้ (อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน : จี้ ทหาร-บิ๊กตู่ แจงสังคม! อนค.ชงเรื่องกองทัพปล่อยกู้RTAเข้าสภาฯ-ชี้ทำพิสดารไม่เอาดอกเบี้ย)
3. เจาะกลุ่มเอกชน คว้างานกำจัดปลวก สำนักการศึกษา-สนง.เขต กทม. 156 ล.
ข่าวชิ้นนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างรับเหมาป้องกันและกำจัดปลวกภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ของสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2551 - ปัจจุบัน มีเอกชนจำนวน 4 ราย ปรากฏชื่อเข้ามารับงานต่อเนื่อง รวมวงเงินกว่า 155.04 ล้านบาท ได้แก่
1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) มวลนิยมรัฐ จำนวน 5 สัญญา รวมวงเงิน 60,448,953 บาท
2. บริษัท บาลานซ์ จำกัด จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 13,223,434 บาท
3. หจก.บ้านพิกุล จำนวน 5 สัญญา รวมวงเงิน 65,735,000 บาท
4. หจก.ยู เอฟเวรี่ติง จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 15,640,000 บาท
ขณะที่จากการตรวจสอบพบว่า หจก. มวลนิยมรัฐ หจก.บ้านพิกุล และ หจก.ยู เอฟเวรี่ติง อาจจะมีความเชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจาก
1.) ที่ตั้ง หจก.บ้านพิกุล คือ เลขที่ 578 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และเป็นที่อยู่ของ นายบูรพา สว่างสุข หุ้นส่วนใหญ่ หจก.บ้านพิกุล อีกทั้งเป็นที่อยู่ของ นางสายเงิน สิทธิวงศ์ ผู้แจ้งจองชื่อจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.มวลนิยมรัฐ และยังเคยเป็นหุ้นส่วนใหญ่ หจก.มวลนิยมรัฐ ช่วงแรก ก่อนที่จะแจ้งเปลี่ยนชื่อออกไปช่วงปลายปี 2558
2.) หจก. มวลนิยมรัฐ และ หจก.ยู เอฟเวรี่ติง ใช้บริการผู้รับมอบอำนาจและพยานในการติดต่องานราชการกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เหมือนกัน คือ น.ส.ปาณชนก บุญมา และ น.ส.ชนนิกานต์ แสงสุวรรรณ ขณะที่ น.ส.ชนนิกานต์ แสงสุวรรรณ ยังเป็นผู้ทำบัญชีให้บริษัทเอกชนทั้ง 2 แห่งด้วย
ส่วนรายละเอียดการประกวดราคาจ้างเหมาป้องกันและกำจัดปลวกภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ของ สำนักการศึกษา จำนวน 12 สัญญาดังกล่าว พบว่า มี 5 สัญญา วงเงิน 66,132,387 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ที่ เอกชนทั้ง 3 รายดังกล่าว ปรากฏชื่อเข้าร่วมการเสนอราคางานพร้อมกัน
อีกทั้ง สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า นับตั้งแต่ช่วงปี 2558-ปัจจุบัน หจก.บ้านพิกุล ยังปรากฏชื่อเข้าไปรับจ้างงานกำจัดปลวกให้หน่วยงานสังกัด กทม. อื่น ๆ ด้วย อาทิ สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานเขตตลิ่งชัน สำนักงานเขตบางพลัด และสำนักการศึกษา รวมทั้งสิ้น 14 สัญญา มูลค่ารวม 1,410,500 บาท แบ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง 7 สัญญา และวิธีตกลงราคา 7 สัญญา
เท่ากับว่า เอกชนทั้ง 3 ราย คือ หจก.มวลนิยมรัฐ หจก.บ้านพิกุล และ หจก.ยู เอฟเวรี่ติง ปราฏรายชื่อเข้าร่วมการเสนอราคารับงานกำจัดปลวกในหน่วยงานสังกัด กรุงเทพมหานคร รวม 25 สัญญา วงเงินรวม 143,234,453 บาท ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ 11 สัญญา วิธีเฉพาะเจาะจง 7 สัญญา และวิธีการตกลงราคา 7 สัญญา
แบ่งเป็น 1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) มวลนิยมรัฐ จำนวน 5 สัญญา รวมวงเงิน 60,448,953 บาท 2. หจก.บ้านพิกุล จำนวน 19 สัญญา รวมวงเงิน 67,145,500 บาท และ 3. หจก.ยู เอฟเวรี่ติง จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 15,640,000 บาท
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท บาลานซ์ จำกัด ที่ปรากฏชื่อได้รับงานจ้างรับเหมาป้องกันและกำจัดปลวกภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ของสำนักการศึกษา กทม. จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 13,223,434 บาท ลงนามในสัญญาเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2558
สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบข้อมูลว่า บ.บาลานซ์ เคยถูกสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร ขีดชื่อออกจากทะเบียน ในช่วงปี 2555 เนื่องจากไม่ได้รับคำตอบว่ายังทำการค้าขายหรือประกอบการ
ก่อนที่บริษัทแห่งนี้ จะยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้มีการจดชื่อบริษัทคืนเข้าสู่ทะเบียนการค้า และศาลฯ มีคำพิพากษาสั่งให้จดชื่อคืนสู่ทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2558 ก่อนหน้าที่จะเข้ามารับงานรับเหมาป้องกันและกำจัดปลวกภายในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร ของสำนักการศึกษา กทม. จำนวน 1 สัญญา วงเงิน 13,223,434 บาท ดังกล่าว หรือประมาณเกือบ 3 เดือน เท่านั้น และยังมีข้อสังเกตเรื่องการลงนามสัญญาก่อนประกาศชื่อผู้ชนะด้วย
ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงข้อมูลเป็นทางการ จากผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ในสำนักการศึกษา กทม. แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน เผยโฉมตึก 3 ชั้น ที่ตั้ง หจก. ผูกรับกำจัดปลวก กทม.60 ล.-สำนักศึกษาฯ ยังนิ่งไม่ชี้แจงปมสอบ)
4. เจาะ 3 เอกชนกลุ่มเดียวกัน ตัวแทนบริษัทขายสารผสมยางพาราทำถนน กรมชลประทาน 24 ล.
เป็นการขยายผลตรวจสอบข่าวกรณีการคัดเลือกบริษัทเอกชน ที่ผ่านการรับรองสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา นำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ วงเงินนับหมื่นล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของ คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มเติม ที่แต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งถูกร้องเรียนเรื่องปัญหาการผูกขาดในการออกใบอนุญาตให้เอกชนบางกลุ่ม ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในช่วงเดือน ก.ค.2562 อย่างหนัก
โดย สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลบริษัทเอกชน 3 ราย คือ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ที่ผ่านการรับรองสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา นำไปใช้ทำถนนดินซีเมนต์ผสมยางพารา พบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากแจ้งที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ขณะที่กรรมการผู้ถือหุ้น บางบริษัทเป็นกลุ่มเดียวกัน เช่น นางสาวชนม์นาถ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด มีนามสกุลเดียวกับ นายชัยอรุณ วุฒิชาญ กรรมการผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด เป็นต้น
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกว่า บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท สยามนวกรรม จำกัด และ บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด ได้แต่งตั้งตัวแทนขึ้นมาดำเนินธุรกิจขายสารผสมเพิ่มน้ำยางพารา ให้กับหน่วยงานราชการ คือ
บริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท จำกัด แต่งตั้ง หจก.โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2561
บริษัท สยามนวกรรม จำกัด แต่งตั้ง หจก.พัชราการยาง เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย. 2561
บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด แต่งตั้ง บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเพียงผู้เดียวในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารหลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้ง หจก.โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง หจก.พัชราการยาง และ บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด พบว่า แท้จริงแล้วเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกันอีก
เนื่องจากปรากฏข้อมูลว่า นายชัยรัชต์พงษ์ กุลรัตนจินดา ผู้แจ้งจองชื่อ กรรมการผู้มีอำนาจ ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เป็นผู้แจ้งจองชื่อจดทะเบียนจัดตั้ง หจก. พัชราการยาง และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง (ช่วง ก.ค. 2561)
ขณะที่ นายพงษ์พัฒน์ ทองวงศ์ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) พัชราการยาง เป็นพยานลงนามการก่อตั้งบริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด
และ หจก. พัชราการยาง และบริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ใช้ผู้ทำบัญชีคนเดียวกันคือ นายอนุชา ธนวรารักษ์
ขณะที่ จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ถึง ก.พ. 2562 หจก.พัชราการยาง ปรากฏเป็นคู่สัญญาขายน้ำยางพาราผสมให้กับ กรมชลประทาน จำนวน 17 สัญญา รวมวงเงิน 23,652,850 บาท โดยใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างแบบเสนอราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) 16 สัญญา และแบบเฉพาะเจาะจง 1 สัญญา
ส่วน บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด ปรากฏชื่อคู่สัญญาขายน้ำยางพาราข้นผสมลดแรงตึงผิว ให้กับกรมชลประทาน อีกจำนวน 1 สัญญา มูลค่า 506,688 บาท ซึ่งใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)
โดยทั้ง 18 โครงการดังกล่าว พบว่า หจก. พัชราการยาง และหจก. โชคประดิษฐ์ก่อสร้าง และ บริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด เข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาพร้อมกัน
เท่ากับว่า มี 18 โครงการ ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า เอกชนกลุ่มนี้ เข้าร่วมประกวดราคาแข่งขันงานพร้อมกัน (หจก.พัชรการยาง 17 โครงการ และบริษัท ไทย ภัสนันท์ พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด 1 โครงการ) รวมวงเงินกว่า 24,159,538 บาท
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ออกมายืนยันว่า เตรียมจะบรรจุเรื่องนี้เพื่ออธิปรายการทำงานของรัฐบาลในสภาฯ ด้วย
บทสรุปข่าวชิ้นนี้ จะเป็นอย่างไรต่อ คงต้องรอฟังคำชี้แจงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในช่วงต้นปี 2563 นี้
(อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน โปรดดูอีกครั้ง! หลักฐาน 3 บ. ตัวแทนฯ แข่งงานกรมชลฯ17ส.'ผู้จองชื่อ-พยาน-คนทำบัญชี' เดียวกัน)
5. เจาะเอกชน 2 กลุ่ม ขายสารสกัดพืช อบจ.กำแพงเพชร 240 ล.
เป็นอีกหนึ่งกรณี ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบยืนยันฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า ในช่วงปี 2557-2559 อบจ.กำแพงเพชร ได้ทำสัญญาซื้อสารสกัดเพื่อใช้เป็นวัสดุอุปกรณ์ประกอบการจัดทำโครงการฝึกอบรมเกษตรกร จากเอกชนจำนวน 5 ราย รวมวงเงินทั้งสิ้น 273,887,000 บาท ดังนี้
บริษัท แกรนด์วินเทรดดิ้ง จำกัด จำนวน 2 สัญญา รวมวงเงิน 8,490,000 บาท
บริษัท ใบธง จำกัด จำนวน 3 สัญญา รวมวงเงิน 56,103,000 บาท
บริษัท นิวเน็ตเวิร์ค ไอโอเทค จำกัด จำนวน 4 สัญญา รวมวงเงิน 80,714,000 บาท
บริษัท บีที กรีนเวิลด์ จำกัด จำนวน 4 สัญญา รวมวงเงิน 71,075,000 บาท
หจก.เฮย์ เดย์ เซอร์วิส เทรดดิ้ง จำนวน 3 สัญญา รวมวงเงิน 57,505,000 บาท
เมื่อตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเอกชนทั้ง 5 ราย ที่แจ้งไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีเอกชน 4 ราย มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกัน 2 กลุ่ม ดังนี้
บริษัท นิวเน็ตเวิร์ค ไบโอเทค จำกัด และ บริษัท ใบธง จำกัด มีกรรมการผู้มีอำนาจ และผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบุคคลเดียวกัน โดยทั้ง 2 ราย ขายสารสกัดให้ อบจ.กำแพงเพชร รวมจำนวน 7 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 136,817,000 บาท
บริษัท แกรนด์วินเทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท บีที กรีนเวิลด์ จำกัด มีกรรมการผู้ถือหุ้นคนเดียวกัน คือ นางสาวศิริพรรณ ไชยวงค์ โดยทั้ง 2 ราย ขายสารสกัดให้ อบจ.กำแพงเพชร รวมจำนวน 6 สัญญา รวมวงเงินทั้งสิ้น 79,565,000 บาท
เท่ากับว่า เอกชนทั้ง 2 กลุ่ม ได้ทำสัญญาขายสารสกัดพืชให้ อบจ.กำแพงเพชร รวม 14 สัญญา วงเงิน 240,914,000 บาท
ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงข้อมูลเป็นทางการ จากผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน เปิดตัว 3 เอกชน ซื้อซองแข่งขายสารสกัดพืชอบจ.กำแพงเพชร240 ล.-ได้งานรัฐเพียบ 351ล.)
6. เจาะกลุ่ม 2 เอกชน รับงาน ศูนย์สร้างทางขอนแก่น สร้างสนามกีฬา จ.อำนาจเจริญ
เป็นกรณีสำนักข่าวตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกโครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างสนามกีฬาหลายจังหวัด ที่อยู่ในความรับผิดชอบของ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ใช้วงเงินงบประมาณกว่า 965 ล้านบาท และมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับ กรมทางหลวง ก่อนมีการมอบหมายให้ ศูนย์สร้างทางขอนแก่น เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งนี้
ซึ่งถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการจัดหาตามระเบียบพัสดุ ว่าจ้างให้เอกชน 4 ราย คือ หจก.พีดี รีโนเวชั่น (จดทะเบียนเลิกห้างไปแล้ว) บริษัท จัสมิน เทรดเดอร์ จำกัด (จดทะเบียนเลิกบริษัทไปแล้ว) หจก.นภนท เอ็นจิเนียริ่ง (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น หจก.นภัทร พัฒนา) และ หจก.ต.มีทรัพย์รุ่งเรืองไพศาล เข้าไปรับงานก่อสร้าง พร้อมจัดทำเอกสารให้เข้าใจว่าเป็นการจัดซื้อ เพื่อให้ตนเองและพวกพ้องได้รับประโยชน์ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย พร้อมส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบอยู่ในขณะนี้
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเอกชนทั้ง 4 ราย พบว่า มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเดียวกันเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่ม บริษัท จัสมิน เทรดเดอร์ จำกัด และ หจก.นภนท เอ็นจิเนียริ่ง ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น หจก.นภัทร พัฒนา ของ นางมนัสนันท์ พัฒนศิริโชติกุล (นางมนัสนันท์ พัฒนศิริโชติกุล ถือหุ้นใหญ่สุดและเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ บริษัท จัสมิน เทรดเดอร์ จำกัด และยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และหุ้นส่วนผู้จัดการ หจก. นภนท เอ็นจิเนียริ่ง หรือ หจก.นภัทร พัฒนา อีกด้วย)
2. กลุ่ม หจก.พีดี รีโนเวชั่น และ หจก.ต.มีทรัพย์รุ่งเรืองไพศาล ของ นายศุภชัย แสนสุด (นายศุภชัย แสนสุด มีนามสกุล และแจ้งที่อยู่เดียวกับ นางสุพรรณ์ แสนสุด ผู้ถือหุ้น หจก.พีดี รีโนเวชั่น คือ เลขที่ 14 ถนน ทุ่งนางโอก เขตเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นที่อยู่ที่ใช้จดทะเบียนจัดตั้ง หจก.ต.มีทรัพย์รุ่งเรืองไพศาล ด้วย)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน ศูนย์สร้างทางขอนแก่น ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้เอกชนกลุ่มนี้ เข้าไปรับงานก่อสร้างกีฬาจังหวัดอำนาจเจริญได้ เป็นเพราะเจ้าของเอกชนรายหนึ่ง รู้จักกับนายช่างโครงการศูนย์สร้างทางขอนแก่น ในฐานะเป็นศิษย์รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลปรากฏว่า ในขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้านั้น นายช่างโครงการ จะจัดทำเอกสารใบสั่งซื้อพัสดุครั้งละไม่มาก แต่สั่งซื้อสัปดาห์ละหลายครั้ง บางครั้งก็ระบุวันที่ส่งมอบสินค้าก่อนวันจัดซื้อด้วย
ขณะที่ในขั้นตอนการตรวจรับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุมิได้ร่วมตรวจรับจริง บางคนก็ยังไม่ทราบว่ามีการส่งมอบพัสดุตามเอกสารด้วย
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อแบ่งรายการพัสดุ/วัสดุ ที่จะซื้อรวมแล้ว ให้ราคาต่ำกว่า 50,000 บาท เพื่อให้อำนาจการจัดซื้อเป็นของนายช่างโครงการ
(อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน ไขปริศนา4เอกชน รับงานส.กีฬาอำนาจเจริญ-ที่แท้ศิษย์รุ่นน้องม.ดัง 'นายช่าง'ศูนย์ฯทางขอนแก่น)
7. คลิปเสียงอ้างชื่อ'อัยการ' จว.ดัง เรียก10ล.วิ่งเต้นคดีรุกที่สาธารณะ
เป็นข่าวใหญ่ในช่วงปลายปี 2562 กรณีมีผู้นำคลิปเสียงสนทนาความยาวกว่า 21 นาที ของผู้หญิงรายหนึ่ง ระบุสถานะตนเองในคลิปเสียงว่า เป็นลูกน้องนักธุรกิจต่างประเทศ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกระทำความผิดบุกรุกที่สาธารณะในจังหวัดแห่งหนึ่ง กับผู้ชายรายหนึ่ง กำลังเจรจาต่อรองเรื่องการจ่ายเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการช่วยวิ่งเต้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ทำความเห็นแย้งเห็นตามความเห็นของอัยการที่จะไม่สั่งฟ้องคดีนี้ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ไปร้องเรียนต่ออัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริง ขณะที่คลิปเสียงสนทนาดังกล่าว ถูกนำไปเผยแพร่ส่งแชร์ต่อตามห้องกลุ่มไลน์อัยการด้วย
โดยในช่วงต้นคลิปสนทนาดังกล่าว ผู้ชายรายนี้ ได้โทรศัพท์มาสอบถามฝ่ายผู้หญิง เกี่ยวกับข้อสรุปตัวเลขวงเงินในการวิ่งเต้นคดี ว่า "ได้ข้อสรุปหรือยัง เพราะทุกฝ่ายกำลังรอคำตอบอยู่"
ขณะที่ฝ่ายหญิง ได้แจ้งตอบกลับว่า แจ้งยอดให้เจ้านายรับทราบแล้วว่าอยู่ที่ตัวเลข 7 หลัก แต่เจ้านายก็มีคำถามว่า ทำไมต้องจ่ายเงินให้ และยอดนี้จะไปสิ้นสุดที่ไหน ถ้าหากผู้ว่าฯ ไม่ยอม
ผู้ชายคนดังกล่าวได้ยืนยันว่า "ยอมซิ เพราะคุยกันแล้ว"
จากนั้นก็มีการเจรจาตกลงวงเงินตัวเลขเพิ่มเติม โดยฝ่ายผู้หญิง ได้แจ้งว่า พอจะลดตัวเลขลงได้หรือไม่ เพราะยังไม่ทราบว่า ตัวเลขวงเงิน 7 หลักดังกล่าว จะอยู่ที่ หลักต้น หลักกลาง หลักปลาย
ฝ่ายชาย ได้ระบุว่า มีการตั้งตัวเลขเอาไว้ว่า 7 หลัก อยู่ที่เลข 2 ตัว ฝ่ายผู้หญิงจึงถามย้ำว่า ถ้าแบบนั้น ตัวเลขก็เป็น 8 หลัก คือ 10 ล้านบาท ใช่หรือไม่
ฝ่ายชาย ตอบว่า "ก็ใช่นะซิ"
เมื่อฝ่ายหญิง พยายามต่อรอง โดยระบุว่า ขอตัวเดียวได้หรือไม่ อยู่ที่หลักกลาง แต่ฝ่ายผู้ชายก็ไม่ให้คำตอบใด ๆ ก่อนที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติม โดยอ้างชื่ออัยการรายหนึ่ง ว่าไม่ได้มีอำนาจธรรมดา แต่เป็นอำนาจพิเศษตามกฎหมายใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมระบุว่า ถ้าคดีนี้มีปัญหาอาจจะมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาโดนขึ้นบัญชีดำ การเดินทางเข้าออกในประเทศจะทำได้ยากมาก
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบข้อมูลข่าวเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จนพบว่า คลิปเสียงบทสนทนา ถูกร้องเรียนไปยัง อสส. และกำลังมีการสอบสวนเรื่องนี้
ขณะที่ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงาน อสส. ออกมายืนยันแล้วว่า เกี่ยวกับกรณีคลิปเสียงแอบอ้างชื่อเรียกรับเงิน 10 ล้านบาท ดังกล่าว อสส. ได้ให้อธิบดีอัยการภาค 8 แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง และมีการย้ายอัยการที่ถูกกล่าวหาออกจากพื้นที่แล้ว
ความคืบหน้าล่าสุด ป.ป.ช. ได้รับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นทางการแล้ว (อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน : 'วัชรพล' เผย ป.ป.ช. ลุยสอบคลิปเสียงอัยการ10ล.แล้ว-'การ์ตูน' แฉอีกโทรเจรจาขอยุติเรื่อง)
8. ดีเอสไอ ลุยสอบบ่อบำบัดน้ำเสีย อบต.เชิงทะเล 355 ล.
เป็นกรณีสืบเนื่องจาก นายดนัย ยาดี ตัวแทนจากเครือข่ายชุมชนชายฝั่ง และ นายจรูญ เกิดดำ ตัวแทนจากเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน เดินทางเข้าร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดภูเก็ต ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค และ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม ให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณ 355,878,802 บาท ในการดำเนินงานก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่ บ้านบางเทาและบ้านหาดสุรินทร์ ของ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ว่ามีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์หรือไม่ เนื่องจากการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียดำเนินการเสร็จนานนับปีแล้ว แต่ไม่เดินเครื่องทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้
ด้าน นายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล ชี้แจงว่า “การก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าว สร้างเสร็จเมื่อปี 2560 ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด แต่ไม่ได้ดำเนินการเพราะว่า ต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนมาดำเนินการและดูแลระบบบำบัด ทั้งนี้ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จถึง เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี 4 เดือน อบต.เชิงทะเล ได้ประกาศเชิญชวนจัดซื้อจัดจ้างหาผู้รับจ้างเข้ามาดูแลระบบดังกล่าวถึง 4 ครั้ง แต่ไม่มีผู้ใดประสงค์จะเข้าเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถเดินเครื่องบำบัดได้ โดยต่อมาได้ปรึกษา องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) และได้เสนอความประสงค์ที่จะให้ อจน. เข้ามาดูแลระบบบำบัด แต่ต่อมา อจน. แจ้งว่า ยังไม่พร้อมดำเนินการ อบต.เชิงทะเล จึงได้ประกาศจัดซื้อจัดจ้างหาเอกชนเข้ามาดูแลระบบบำบัดไปก่อน ซึ่งทำสัญญาและดำเนินการเดินระบบไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 30 ก.ย. 2562 โดยก่อนหน้านี้ มีการตรวจสอบและซ่อมแซมระบบบำบัดไปแล้ว”
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า การก่อสร้างก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย ของ อบต.เชิงทะเล มีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างระบบรวบรวม และระบบบำบัดน้ำเสีย ระยะที่ 1 ในเขต อบต.เชิงทะเล (เลขที่โครงการ : 55064003422 เลขที่สัญญา 40/2555) งบประมาณ 355,878,802 บาท มูลค่าตามสัญญา 346,000,000 บาท ทำสัญญาเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2555 สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2558 ปรากฏรายชื่อ หจก.ประยงค์ศิลป์การโยธา เป็นคู่สัญญา
กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2562 พนักงานสอบสวนดีเอสไอ ประกอบด้วย ร.ต.อ.ประสิทธิ์ ขันซ้าย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 8 นายศุภชัย คำคุ้ม รักษาในตำแหน่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ และนายพันธมิตร ช่วยบำรุง เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ ลงพื้นที่ตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่ บ้านบางเทาและบ้านหาดสุรินทร์ พร้อมทั้งสอบสวนข้อมูลจากนายมาแอน สำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล รวมถึงเจ้าหน้าที่อบต.ฯ แล้ว
(อ่านรายละเอียดข่าวทั้งหมด ใน : ดีเอสไอ ลุยสอบพยานบ่อบำบัด อบต.เชิงทะเล 355ล.-อดีตกก.ตรวจจ้างแฉโครงการไม่มีแบบแปลน)
ทั้งหมดนี่ เป็นรายละเอียด 8 'ข่าวเด่นสืบสวน' ประจำปี 2562 ของ ศูนย์ข่าวสืบสวน สำนักข่าวอิศรา ที่ได้รวบรวมนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกัน
ส่วนปี 2563 จะมีข่าวเด่นสืบสวนเรื่องอะไรเพิ่มเติม โปรดติดตามดูกันต่อไป
โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานการทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะในฐานะสื่อมวลชน ผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวน เช่นเดิม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/