ละเอียด!คำพิพากษาฎีกา‘เบญจา-พวก’ช่วย‘โอ๊ค-เอม’เลี่ยงภาษีหุ้นชินฯหมื่น ล.คุกจริง 2 ปี
“…การตอบข้อหารือดังกล่าวของนางเบญจา กับพวก ทำให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท โดยตามคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า นายพานทองแท้ ได้รับส่วนต่างจากราคาในการซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี 7,941,950,000 บาท น.ส.พินทองทา 7,941,950,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,883,900,000 บาท หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาทเศษ…”
ปิดฉากมหากาพย์คดีที่เกี่ยวเนื่องกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปไปอีกคดี!
เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2562 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนางเบญจา หลุยเจริญ อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และอดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ อดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร นายกริช วิปุลา นุสาสน์ ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร และ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร อดีตภรรยานายทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1-5 กรณีให้การช่วยเหลือนายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (คุณากรวงศ์) บุตรของนายทักษิณ ซื้อหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่อยู่ในการถือครองของบริษัท แอมเพิลริช อินเวสเมนท์ ลิมิเต็ด (สัญชาติบริติชเวอร์จิ้นส์) โดยไม่ต้องเสียภาษีอากร ทำให้กรมสรรพากร และราชการเสียหาย
เบื้องต้นศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาทุกข้อของจำเลยที่ 1-5 ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 1-4 อ้างว่า ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนทั้งทางอาญาและทางวินัย ขอให้ศาลลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า พฤติการณ์การกระทำผิดดังกล่าวร้ายแรง ส่วนจำเลยที่ 5 มีพฤติการณ์ปกปิดข้อเท็จจริงการกระทำความผิดในคดีนี้ จึงไม่ลงโทษสถานเบา อย่างไรก็ดีจำเลยที่ 1-5 ให้ทางนำสืบพอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงพิพากษาแก้ลดโทษให้ 1 ใน 3 โดยจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 5 ฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา (อ่านประกอบ : พฤติการณ์ร้ายแรง!ฎีกาคุกจริง 2 ปี 'เบญจา-พวก'ช่วย'โอ๊ค-เอม'ไม่เสียภาษีซื้อหุ้นชินคอร์ป)
ที่มาที่ไปของคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2548 หรือราว 14 ปีก่อน เมื่อ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพ็ชร เมื่อครั้งเป็นที่ปรึกษาบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือถามกรมสรรพากรว่า ถ้าบริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ครอบครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา จะเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องมีการคำนวณเสียภาษีในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ โดยนางเบญจา กับพวก ทำหนังสือตอบ น.ส.ปราณีว่า การกระทำดังกล่าวไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ในการเสียภาษี
ถัดจากนั้นมาประมาณ 4 เดือน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 บริษัท แอมเพิลริชฯ ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อยู่ที่ 49.25 บาท ต่างกัน 48.25 บาท หลังจากนั้นอีก 3 วัน เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2549 นายพานทองแท้ น.ส.พินทองทา รวมถึงวงศ์วานว่านเครือตระกูลชินวัตร เช่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรพจน์ ดามาพงศ์ (พี่ชายบุญธรรมคุณหญิงพจมาน) ได้ขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รวมกันประมาณ 48.75% ของมูลค่าทั้งหมด ให้แก่กลุ่มเทมาเส็กในประเทศสิงคโปร์
เมื่อเรื่องราวนี้ถูกตีแผ่ขึ้น ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า การกระทำดังกล่าวเพื่อต้องการให้ ‘ตระกูลชินวัตร’ หลบเลี่ยงการชำระภาษีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯหรือไม่ จนนำไปสู่การปลุกระดมมวลชนลงท้องถนนนำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนฯ และท้ายที่สุดเกิดรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ดังที่ทราบกัน
เพื่อให้สาธารณชนเข้าใจคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปคำพิพากษาศาลฎีกากรณีดังกล่าวมานำเสนอ ดังนี้
@‘เบญจา-พวก’อ้างคำวินิจฉัย กก.วินิจฉัยภาษีไม่ขึ้น-ไม่เคยมีแนวคำพิพากษาฎีกามาก่อน
ศาลฎีกา พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า น.ส.ปราณี ทำหนังสือถึงกรมสรรพากร เพื่อขอหารือว่า หากบริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ถือครองหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ถ้าขายให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ในราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตามตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) 49.25 บาท การซื้อหุ้นดังกล่าวจะต้องนำส่วนต่างราคามาคำนวณเป็นรายได้พึงมีตามประมวลรัษฎากร เพื่อจ่ายเป็นภาษีอากรในแบบแสดงภาษีรายได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
เบื้องต้น นางเบญจา กับพวก มีหนังสือตอบกลับไปยัง น.ส.ปราณี สรุปได้ว่า ขอให้ น.ส.ปราณี ชี้แจงรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท แอมเพิลริชฯ โดยประเด็นสำคัญคือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และกรรมการบริษัท แอมเพิลริชฯ คือใคร ต่อมา น.ส.ปราณี ทำหนังสือตอบกลับกรมสรรพากร แต่มิได้ชี้แจงรายละเอียดสำคัญข้างต้นแต่อย่างใด
หลังจากนั้น นางเบญจา กับพวก ทำหนังสือตอบกลับ น.ส.ปราณี โดยอ้างอิงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร เมื่อครั้งที่ 23/2538 สรุปได้ว่า บริษัท แอมเพิลริชฯ จดทะเบียนที่หมู่เกาะบริติเวอร์จิ้นส์ มิได้มีสถานะในการประกอบธุรกิจ และอนุสัญญาการเสียภาษีซ้ำซ้อนให้กับประเทศไทย จึงยังไม่ถือว่าเป็นบริษัทที่ทำการในไทย จึงไม่เข้าข่ายถูกบังคับให้เสียภาษี ส่วนเรื่องส่วนต่างในราคานั้นเป็นเรื่องของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติทางการค้า ดังนั้นการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่มีหน้าที่ในการเสียภาษี
อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางเบญจา กับพวก อ้างอิงคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรครั้งที่ 23/2538 นั้น เป็นการอ้างอิงที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรครั้งที่ 23/2538 หมายความถึง กรณีการขายหุ้นที่เกิดจากการเพิ่มทุนของบริษัท มิใช่การขายหุ้นที่บริษัทครอบครองเป็นสินทรัพย์ นอกจากนี้การที่บริษัท แอมเพิลริชฯ ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา มิใช่นิติบุคคลที่จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทได้ จึงมิใช่เรื่องปกติธรรมดาทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ดังนั้นการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถือเป็นสินทรัพย์ครอบครองโดยบริษัท แอมเพิลริชฯ และนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นดังกล่าว เข้าข่ายจะต้องนำส่วนต่างราคามาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร
นอกจากนี้ศาลฎีกา เห็นว่า การกระทำของนางเบญจา กับพวก คือการทำแนวทางคำวินิจฉัยใหม่ โดยไม่เคยมีแนวทางคำพิพากษาของศาลฎีกามาเทียบเคียงมาก่อน
(นางเบญจา หลุยเจริญ, ภาพจาก แนวหน้า)
@ยกแนวปฏิบัติกองนิติการ กรมสรรพากร ถ้าข้อหารือ ‘ไม่สุจริต’ ไม่ตอบก็ได้
ศาลฎีกา อ้างอิงแนวปฏิบัติของกองนิติการ (เดิม ปัจจุบันคือกองกฎหมาย) กรมสรรพากร ที่ระบุตอนหนึ่งว่า ในการตอบข้อหารือเกี่ยวกับกรณีการเสียภาษีนั้น ปัจจุบันมีบุคคลและนิติบุคคลที่ไม่สุจริตต้องการหารือเพื่อชักนำให้กรมสรรพากรหาจุดบกพร่อง หรือช่องโหว่ทางกฎหมายให้เกิดการกระทำที่ไม่สุจริตได้ประโยชน์ ดังนั้นทุกข้อหารือด้านกฎหมายหากเห็นว่ามีข้อไม่สุจริตจึงไม่จำเป็นต้องตอบข้อหารือได้
โดยพฤติการณ์ของ น.ส.ปราณี ที่หารือเกี่ยวกับกรณีการงดเว้นไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข้อมูลของบริษัท แอมเพิลริชฯ ที่มีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ถือหุ้น และเป็นกรรมการบริษัท เพื่อจะได้ไม่ต้องพิจารณาประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างในการตอบข้อหารือ นั่นจึงทำให้ข้อหารือของ น.ส.ปราณี เป็นไปโดยไม่สุจริต
ขณะที่นางเบญจา กับพวก ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง และเคยตรวจสอบเกี่ยวกับด้านภาษีอากรมาก่อน ย่อมมองเห็นถึงพฤติการณ์ความไม่สุจริตนี้ จึงสามารถใช้เหตุไม่ตอบข้อหารือตามแนวปฏิบัติของกองนิติการ กรมสรรพากรได้ แต่นางเบญจา กับพวก กลับตอบข้อหารือของ น.ส.ปราณี โดยตอบเกินข้อหารือด้วยว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ที่ได้รับผลประโยชน์จากการซื้อหุ้นดังกล่าว ส่วนต่างของราคานั้นไม่ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้พึงมีตามประมวลรัษฎากร
@‘เบญจา-พวก’สู้ ต่อให้ตอบข้อหารือแต่เจ้าพนักงานสอบภาษีสามารถตรวจย้อนหลังได้
นางเบญจา กับพวก ฎีกาสู้ว่า การตอบข้อหารือดังกล่าวไม่มีผลผูกพันหากเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีไม่เห็นด้วย สามารถเก็บภาษีย้อนหลังได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดจากหนังสือตอบข้อหารือของกรมสรรพากรอย่างเดียว อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า นางเบญจา กับพวก เป็นข้าราชการระดับสูง เป็นระดับ ‘คลังสมอง’ ของกรมสรรพากร หากนางเบญจา กับพวกตอบข้อหารือกรณีดังกล่าวไปแล้ว ย่อมทำให้เจ้าพนักงานตรวจสอบภาษีไม่กล้าตัดสินใจเข้าไปประเมินการตรวจสอบภาษีการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว
ศาลฎีกา ระบุด้วยว่า หากนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ไม่แสดงรายได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร ในแบบแสดงรายการภาษีบุคคลธรรมดา ต่อมาหากเจ้าพนักงานตรวจสอบภาษี ที่ประเมินภาษีเห็นต่างจากนางเบญจา กับพวก ก็ไม่สามารถดำเนินการเรียกเก็บภาษีได้ เพราะนายพานทองแท้ กับพวก จะอ้างได้ว่า เคยทำหนังสือหารือกับกรมสรรพากรแล้ว และดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว จึงไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
ดังนั้นการตอบข้อหารือดังกล่าวของนางเบญจา กับพวก ทำให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ได้รับผลประโยชน์จากส่วนต่างของราคาจากการซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นเงินนับหมื่นล้านบาท โดยตามคำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า นายพานทองแท้ ได้รับส่วนต่างจากราคาในการซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ โดยไม่ต้องเสียภาษี 7,941,950,000 บาท น.ส.พินทองทา 7,941,950,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,883,900,000 บาท หรือราว 1.5 หมื่นล้านบาทเศษ
(นายพานทองแท้ (ซ้าย) น.ส.พินทองทา (กลาง) และคุณหญิงพจมาน (ขวา), ภาพจาก ไทยรัฐ)
@จำเลยนำสืบพอเป็นประโยชน์อยู่บ้าง พิพากษาแก้ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือคุก 2 ปีไม่รอลงอาญาทั้งหมด
ศาลฎีกา ระบุว่า เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ของ น.ส.ปราณี ที่ทำหนังสือหารือกรมสรรพากรดังกล่าว มีการเตรียมการ และมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด แม้มิใช่เจ้าพนักงานของรัฐ จึงลงโทษฐานสนับสนุนนางเบญจา กับพวก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
จึงเหลือประเด็นให้วินิจฉัยว่า นางเบญจา กับพวก และ น.ส.ปราณี ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา โดยขอให้รอการลงโทษได้หรือไม่
ศาลฎีกา พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้นางเบญจา กับพวก 4 ราย ไม่ปรากฏว่าเคยกระทำความผิดมาก่อน แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นความผิดร้ายแรง ส่วน น.ส.ปราณี มีพฤติการณ์ในการปกปิดข้อเท็จจริงในคดีนี้ ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไม่รอการลงโทษ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีการนำสืบของนางเบญจา กับพวก และ น.ส.ปราณี พอจะเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงพิพากษาแก้ลดโทษให้ 1 ใน 3
โดยนางเบญจา กับพวก (จำเลยที่ 1-4) มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา (เดิมจำเลยที่ 1-4 โดนโทษคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา) ส่วน น.ส.ปราณี (จำเลยที่ 5) มีความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/