แอมเนสตี้เรียกร้องไทยยกเลิกการดำเนินคดีฝ่ายค้าน-นักกิจกรรมที่จัด ‘แฟลชม็อบ’
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้ยุติการคุกคามด้วยกระบวนการกฎหมายต่อสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวในประเทศไทย ที่ผ่านมาทางการเริ่มดำเนินคดีอาญาครั้งใหม่ต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่และนักเคลื่อนไหวเนื่องจากการชุมนุมประท้วงอย่างสงบที่ผ่านมา
ข้อหาเหล่านี้เป็นผลมาจากการที่ประชาชนชาวไทยหลายหมื่นคน ร่วมชุมนุมในตอนค่ำวันที่ 14 ธ.ค. เป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงที่เรียกว่าแฟลชม็อบที่กรุงเทพฯ รวมทั้งที่เชียงใหม่ ขอนแก่น และจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย การประท้วงอย่างสงบเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการกการเลือกตั้งประกาศที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อยุบพรรคอนาคตใหม่
ทางการไทยได้แจ้งข้อหาหลายคดีทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต่อแกนนำระดับสูงของพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคฝ่ายค้านใหม่ที่ชนะการเลือกตั้งได้ส.ส. 81 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 แต่ก่อนและหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ทางการได้เริ่มกระบวนการที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธินายธนาธรในฐานะรัฐสภา
ในวันที่มีการชุมนุมประท้วง ตำรวจแจ้งข้อหาต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ฐานที่ใช้เครื่องขยายเสียงในที่สาธารณะอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
ในวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค. นายสนธิญา สวัสดี ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคเสียงข้างมาก ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อสมาชิกพรรคอนาคตใหม่สี่คน ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค นางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยกล่าวหาว่าจำเลยไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อเจ้าพนักงาน จัดชุมนุมสาธารณะภายในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน และจัดชุมนุมขวางทางเข้าออกที่สาธารณะ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ว่าด้วยความมั่นคงของรัฐ และการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หากศาลตัดสินว่ามีความผิด สมาชิกพรรคเหล่านี้อาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี
ที่จังหวัดเขียงใหม่ แอดมินของเฟซบุ๊กเพจ สมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ ถูกดำเนินคดีเนื่องจากไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ตามข้อกำหนดในพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีโทษปรับไม่เกิน 10.000 บาท และที่ผ่านมาทางการมักนำมาตรานี้มาใช้เพื่อแทรกแซง และขัดขวางการชุมนุมทั่วประเทศไทย นับแต่รัฐบาลทหารประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ตั้งแต่ปี 2558
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทย ให้ยุติการฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งเป็นการจำกัดจนเกินขอบเขตต่อสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ และยุติการใช้มาตรา 116 หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างอย่างสงบของนักเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักข่าว และนักกฎหมาย โดยควรยกเลิกข้อบทเหล่านี้ หรือแก้ไขเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับพันธกรณีและพันธกิจด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย ทางการไทยต้องเคารพ คุ้มครอง ส่งเสริม และปฏิบัติให้เป็นผลอย่างเต็มที่ ซึ่งเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และการสมาคม