คัดกรองเข้มนักโทษบัญชีเฝ้าระวังพิเศษ 3 พันรายที่รอการปล่อยตัว
กระทรวงยุติธรรมเคาะ 3 กลุ่มนักโทษบัญชีเฝ้าระวังพิเศษ ราชทัณฑ์ส่งมาแล้ว 3,000 คน รอคัดกรอง-สอบพฤติการณ์ย้อนหลังอีกรอบ ก่อนส่งรายชื่อเสนอคณะกก.ฯดูแลผู้ต้องขังภัยสังคมเพื่อชะลอการปล่อยตัว
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่าเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองและพิจารณาบุคคลที่เป็นภยันอันตรายต่อสังคม เปิดเผยถึงการพิจารณาหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและกำหนดแนวทางการดูแลผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคมว่า เบื้องต้นมีการหารือเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องระวังเป็นพิเศษ โดยมีการสำรวจจำนวนผู้ต้องขังในคดีความผิดต่อชีวิต เช่น ฆ่า ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ข่มขืนกระทำชำเรา พบว่า มีนักโทษกลุ่มดังกล่าว จำนวน 20,000 คน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้กลั่นกรองแล้วเหลือจำนวน 3,000 คน ในจำนวนนี้จะต้องมีการกลั่นกรองเพื่อจำแนกกลุ่มนักโทษอีกรอบหนึ่ง ซึ่งกลุ่มนักโทษประเภทนี้จะต้องเข้าสู่กระบวนการชะลอการปล่อยตัว แต่เดิมกรมราชทัณฑ์มีระบบชะลอการปล่อยตัวอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการแยกหรือทำทะเบียนประวัติ จึงทำให้ผู้ต้องขังเข้าสู่เกณฑ์การพักโทษหรือได้รับวันลดโทษตามปกติ ดังนั้น หลังจากนี้จะมีการจำแนกกลุ่มนักโทษเป้าหมาย โดยต้องตรวจสอบพฤติการณ์ย้อนหลังในการก่อคดีก่อนที่ผู้ต้องหาจะพ้นโทษ โดยจะมีคณะกรรมการจำแนกของเรือนจำทำบัญชีรายชื่อเพื่อส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้นักจิตวิทยาประเมินความเสี่ยงอีกครั้งหนึ่ง
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการฯจะนัดหารือรายละเอียดอีกครั้งเพื่อพิจารณารายชื่อบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม หากได้รับการปล่อยตัวออกมา เช่น นักโทษที่ก่อเหตุในคดีฆ่าข่มขืน เพื่อนำไปจำแนกแยกการควบคุม ก่อนเสนอนายวิศิษฎ์ วิศิษฎ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อนำเสนอนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม โดยกลุ่มนักโทษในคดีดังกล่าวจะต่างจากกลุ่มนักโทษในคดีบิ๊กเนมที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักค้ายาเสพติด กลุ่มมือปืนรับจ้าง กลุ่มทำผิดซ้ำซากที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษเช่นกัน รวมทั้งนักโทษกลุ่มแบรนด์เนมที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง แต่มีคดีติดตัว
สำหรับ การจำแนกกลุ่มนักโทษในคดีต่างๆ ยอมรับว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ไม่เคยลงลึกถึงรายละเอียด หลังเกิดคดีฆ่ากรรมต่อเนื่องจึงต้องนำเรื่องนี้มาหารือกำหนดมาตรการสร้างความปลอดภัยให้สังคม โดยมาตรการที่กำหนดมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะเมื่อครบกำหนดปล่อยตัวกฎหมายปกติอาจใช้ไม่ได้กับบุคคลที่เคยมีพฤติกรรมก่อเหตุร้ายแรง จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการพิเศษ