งบการเงิน บ.โฮปเวลล์ แจงที่มาคดีค่าโง่ เรียกค่าเสียหายแสนล้าน ชนะ 1.2 หมื่นล.
ดูความเป็นมา ปมพิพาทการรถไฟฯ VS บ.โฮปเวลล์ ฯ จากปี 2541-2562 ผ่านงบการเงิน เรียกค่าสียหายจาก ก.คมนาคม แสนล. หลังกถูกบอกเลิกสัญญา ยันไม่ใช่เหตุจากเอกชน ชั้นอนุญาโตฯลดเหลือ 5.9 หมื่นล. - 2.8 หมื่นล. ก่อนชนะคดีศาลปกครองสูงสุด 1.2 หมื่นล้าน
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2562 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษากลับ ศาลปกครองกลาง ให้บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ชนะคดี มีผลให้กระทรวงคมนาคมโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการคือ จ่ายค่าชดเชย (หรือเรียกกันว่าค่าโง่) เป็นเงินกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ตามปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบงบการเงิน บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน วันที่ 30 มิ.ย.2561 และ 30 มิ.ย.2562 กล่าวถึง ที่มาที่ไปของการพิพาทกับการรถไฟฯ การโต้แย้ง การยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงคมนาคม ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ รายละเอียดค่าชดเชย เรียบเรียงมาเสนอได้ดังนี้
@ เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2541 กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกหนังสือยกเลิกสัญญาสัมปทานที่มีกับบริษัทและสงวนสิทธิที่จะเรียกค่าชดเชยความสียหายที่เกิดขึ้นจากการยกเลิกสัญญา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการโต้แย้ง นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมได้ออกหนังสือเรียกร้องเพื่อขอริบเงินค่าตอบแทนสัญญาที่บริษัทได้จ่ายให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐไว้แล้วทั้งหมด รวมทั้งหลักประกันตามสัญญาค้ำประกันของโครงการดังกล่าวที่ออกโดยธนาคารภายในประเทศแห่งหนึ่งโดยมีเงินฝากธนาคารเป็นหลักประกัน เนื่องจากเหตุผลของการยกเลิกสัญญายังอยู่ในระหว่างการโต้แย้ง ทำให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐยังไม่สามารถริบหลักประกันเพื่อชำระตามหลักประกันเพื่อชำระตามสัญญาค้ำประกันการปฎิบัติงาน จำนวน 501 ล้านบาทได้
@เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 บริษัทได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมต่อกระทรวงคมนาคมว่า ในกรณีที่รัฐบาลเป็นฝ่ายยึดคืนหรือเวนคืนสัมปทานตามที่ระบุไว้ในช้อ 29 ของสัญญาสัมปทาน บริษัทจะได้รับชดเชยค่าเสียหาย นอกจากนี้บริษัทได้มีหนังสือถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยชี้แจงการไม่เห็นด้วยกับเหตุผลของการยกเลิกสัมปทานดังกล่าว
@เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2541 บริษัทได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมต่อกระทรวงคมนาคมและได้เรียกร้องเงินชดเชยจำนวน 1 แสนล้านบาท โดยการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการปฎิเสธจากกระทรวงคมนาคมตามจดหมายลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ซึ่งกระทรวงคมนาคมชี้แจงว่าการยกเลิกดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 388
@บริษัทได้มีจดหมายตอบกลับลงวันที่ 8 สิงหาคม 2541 อ้างถึง การที่คู่สัญญาฝ่ายรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาสัทปทาน ซึ่งกำหนดสิทธิในการเรียกร้องเงินชดเชยจากการไม่ปฎิบัติตามสัญญาและข้อโต้แย้งอื่นๆ รวมถึงการยกเลิกสัญญาตามที่ระบุไว้ในข้อ 27 ข้อ 29.7 และข้อ 31 ของสัญญาสัมปทาน ซึ่งตามประทวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 รัฐบาลจะต้องชดเชยความเสียหายให้กับบริษัททันทีจากการยกเลิกสัญญาสัมปทานและการไม่ได้รับการชดเชยความเสียหายดังกล่าวจากกระทรวงคมนาคม บริษัทได้ร้องขอให้มีการประชุมเพื่อแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญอิสระตามที่ระบุไว้ในข้อ 29 ของสัญญาสัมปทานเพื่อยุติข้อขัดแย้ง บริษัทได้รับจดหมายตอบปฎิเสธจากกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 3 กันยายน 2541 ซึ่งกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้ยืนยันว่าใช้สิทธิการยกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาตรา 388 ซึ่งคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจะคืนสู่สถานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 ดังนั้นข้อ 29 ของสัญญาสัมปทานจึงไม่สามารถใช้ได้
บริษัทมีข้อเสนอถึงกระทรวงคมนาคมในวันที่ 21 เมษายน 2542 เพื่อเจรจากับคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีเพื่อยุติข้อโต้แย้งต่างๆ
บริษัทเสนอความคิดเห็นต่างๆต่อคณะกรรมการที่รายงานต่อกระทรวงคมนาคม 3 วาระ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 13 ตุลาคม และ 18 พฤศจิกายน 2542 บริษัทได้เสนอแนวทางที่ประนีประนอมต่อการโต้แย้งดังกล่าว ซึ่งจะชดเชยให้กับบริษัทโดยเสนอโครงการใหม่ที่ลดขนาดลง โดยขึ้นอยู่กับผลของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย
@ในเดือนกรกฎาคม 2542 บริษัทได้รับสำเนาหนังสือจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อแก้ต่างการกระทำของคู่สัญญาฝ่ายรัฐเกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาสัมปทานและเรียกร้องให้บริษัทประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคู่สัญญาฝ่ายรัฐ
บริษัทได้ชี้แจงว่าค่าเสียหายดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุจากบริษัท ดังนั้นจึงไม่มีภาระหนี้สินและได้ส่งเอกสาร “The Delays” ซึ่งมีรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสาเหตุของความล่าช้าของโครงการ
ในการประชุมครั้งสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน 2542 คณะกรรมการมีข้อสรุปว่าสมควรยืนยันการยกเลิกสัญญา เนื่องจากแนวคิดที่บริษัทเสนอมานั้นไม่สอดคล้องกับแนวคิดของคู่สัญญาฝ่ายรัฐ และข้อโต้แย้งดังกล่าวจะต้องยุติโดยกฎหมาย โดยที่แต่ละฝ่ายจะคืนสู่สถานะเดิม ส่วนค่าเสียหายเป็นการฟ้องร้องตามกระบวนการทางศาล
@ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 บริษัท ได้ยื่นข้อเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงคมนาคมไว้ต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ โดยบริษัทฯ ประเมินค่าเสียหายไว้ประมาณห้าหมื่นเก้าพันล้านบาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อบละ 7.5 ต่อปี ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสถาบันฯ
@ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2548 บริษัท ได้ขอแก้ไขคำเสนอข้อพิพาท และสถาบันอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ซึ่งบริษัทไม่เรียกร้องค่าเสียหายต่างที่เกิดขึ้นจากการผิดสัญญาของรัฐ โดยหลังจากการแก้ไขคำเสนอข้อพิพาทแล้ว ข้อเรียกร้องของบริษัททุนทรัพย์ที่เรียกร้องเหลือเพียงประมาณ สองหมื่นแปดพันล้านบาท
@เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 คณะอนุญาโตตุลาการ ได้มีคำตัดสินเรื่องสัมปทานระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท โดยชี้ขาดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินและคืนเงินค่าตอบแทน หนังสือค้ำประกันธนาคาร ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกันค่าก่อสร้างโครงการให้แก่บริษัท และให้กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายในชั้นอนุญาโตตุลาการ ค่าป่วยการคณะอนุญาโตตุลาการ คืนบริษัท และให้ร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าธรรมเนียม ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแทนบริษัทดังต่อไปนี้
1. จ่ายเงินคืนให้แก่บริษัทจำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันที่กระทรวงคมนาคม/การรภไฟแห่งประเทศไทยได้รับชำระเงินดังกล่าวจากบริษัท
2. คืนหนังสือค้ำประกันที่บริษัทได้วางไว้กับสถาบันการเงินภายในประเทศแห่งหนึ่ง จำนวน 501 ล้านบาท
3. จ่ายคืนค่าธรรมเนียมค้ำประกันธนาคารจำนวน 38.74 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่บริษัทได้จ่ายให้แก่สถาบันการเงิน
4. จ่ายคืนเงินลงทุนเพื่อการได้มาซึ่งสัมปทานจำนวน 9,000 ล้านบาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่คณัอนุญาโตตุลาการได้มีคำตัดสิน
@เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในข้อพิพาทรหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทยและบริษัท ในขณะเดียวกัน กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ไฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อโต้แย้งว่าศาลแพ่งสามารถพิจารณาคดีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งอยุ่ในระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองศาล
เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 บริษัทได้ยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ต่อมาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นและให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยผลของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยคืนหนังสือค้ำประกันของสถาบันการเงินภายในประเทศไทยแห่งหนึ่ง และชำระเงินให้บริษัทดังนี้
1. ค่าตอบแทนที่บริษัทจ่ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 2,850 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ การรภไฟแห่งประเทศไทยได้รับจากบริษัทในแต่ละงวด
2. ค่าธรรมเนียมในการออกหนังสือค้ำประกันจำนวน 38.74 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าธรรมเนียมที่บริษัทชำระให้แก่สถาบันการเงินในแต่ละงวดแต่ต้องไม่เกิน 5 ปี
3. เงินชดเชยค่าก่อสร้างจำนวน 9,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันชี้ขาด
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทยังไม่ได้รับชำระเงินดังกล่าว
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2562 บริษัทยังมิได้เริ่มการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ และสินทรัพย์ของบริษัทยังไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ วันที่ดังกล่าว บริษัทมีหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 5,562 ล้านบาท
ทั้งหมดคือความเป็นมาคดีพิพาทกับการรถไฟฯกรณีค่าเสียหาย 1.2 หมื่นล้านฉบับ บริษัท โฮปเวลล์ฯ
เห็นได้ว่า ในชั้นเจรจากับ กระทรวงคมนาคม เอกชนเรียกร้องเงินชดเชยจำนวน 1 แสนล้านบาท ต่อมาลดวงเงิน เหลือ 2.8 หมื่นล้านบาท กระทั่ง 1.2 หมื่นล้านบาทในที่สุด
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง:
INFO: ผ่าโครงข่ายผู้ถือหุ้น บ.โฮปเวลล์ฯ 1.5 หมื่นล. จากฮ่องกง-มอริเชียส
ก่อนรับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล.บริติชเวอร์จิน! บ.วิชเวลล์‘อนุศักดิ์’ มีเงินสดแค่ 392 บาท
บ.รับโอนหุ้นโฮปเวลล์ 500 ล. บริติชเวอร์จิน ที่แท้ ‘อนุศักดิ์-กฤษนันทร์’ เจ้าของ
ส่องรอบโลกที่ตั้ง บ.ฮ่องกง-มอริเชียส-เวอร์จิน-มาเลฯ ใครเกี่ยวบ้าง? รับโอนหุ้น'โฮปเวลล์'500ล.
บ.เกาะบริติช เวอร์จิน โผล่ถือหุ้น 500 ล.‘โฮปเวลล์’ รับโอนจาก สัญชาติ‘มอริเชียส’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/