WHO ยกไทยมีความสำเร็จสูงด้านอนามัยเจริญพันธุ์
คณะศึกษาดูงานภูมิภาคเอเชีย โครงการความร่วมมือองค์การอนามัยโลก (WHO) ดูงาน “กองทุนบัตรทอง สิทธิประโยชน์อนามัยเจริญพันธุ์” ยกไทยมีความสำเร็จสูงด้านอนามัยเจริญพันธุ์ อัตราตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ลดลงต่อเนื่อง ชื่นชมไทยมีแผนดูแลสุขภาพประชาชนที่ดี มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยเป็นพื้นฐานในการสนับสนุน ทำให้การรักษา ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ส่งผลคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพ
ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ - เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษา สปสช. ให้การต้อนรับ พญ.สมสุข สันติเบญจกุล อาจารย์ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะศึกษาดูงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์จากประเทศภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วย ประเทศบังคลาเทศ ภูฏาน อินโดนีเซีย มัลดีฟ ติมอร์-เลสเต และอินเดีย ภายใต้โครงการความร่วมมือองค์การอนามัยโลกด้านการเจริญพันธุ์ในมนุษย์ (WHO CCR) ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้เข้าศึกษาดูงานการดำเนินการ “กองทุนหลักสุขภาพแห่งชาติ” ในหัวข้อ การบูรณาการสุขภาวะทางเพศในวัยรุ่นและอนามัยเจริญพันธุ์เข้ากับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Integrating Adolescent Sexual and Reproductive Health into Universal Health Coverage)
พญ.สมสุข กล่าวว่า การดูงานของคณะศึกษาดูงานด้านอนามัยเจริญพันธุ์ฯ ครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) ได้ประสานมายังองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยและภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความสำเร็จอย่างสูงในด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกประเทศอื่นในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงให้ไทยเป็นประเทศต้นแบบในการศึกษาดูงานครั้งนี้ นอกจากในด้านงานวิชาการ การรักษาและการส่งเสริมและป้องกันที่ได้เข้าดูงานทั้งที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลต้นแบบการป้องกันการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น คือ โรงพยาบาลบัวใหญ่ และโรงพยาบาลพิมายแล้ว คณะศึกษาดูงานฯ ยังให้ความสนใจในเรื่องงบประมาณและสิทธิประโยชน์อนามัยเจริญพันธุ์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นที่มาของการเข้าดูงานที่ สปสช.
พญ.สมสุข กล่าวต่อว่า การดูงาน สปสช.ในวันนี้คณะศึกษาดูงานฯ ได้เห็นภาพรวมสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค บริการอนามัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการป้องกันการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและแผนการจัดสรรงบประมาณดำเนินการเพื่อสนับสนุนการจัดบริการ ตลอดจนภาพรวมการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย ซึ่งการดูแลสุขภาพของแพทย์ แม้ว่าความรู้ด้านวิชาการจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการของคนไข้ก็นับเป็นเรื่องหลักเช่นกัน เพราะการตัดสินเข้ารับบริการของคนไข้นอกจากคำแนะนำจากแพทย์แล้ว ค่าใช้จ่ายก็เป็นปัจจัยหลักในการเข้าถึงบริการสุขภาพ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเป็นพื้นฐานในการสนับสนุน
“การศึกษาดูงานในวันนี้คณะศึกษาดูงานฯ ได้ความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับระบบ จากข้อมูลที่ได้รับฟังทำให้รู้สึกว่าประเทศไทยมีการจัดทำแผนการดูแลสุขภาพที่ดีและครอบคลุม ไม่เพียงเฉพาะการรักษา แต่รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ทำให้คนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าด้วย” พญ.สมสุข กล่าว