ตีแผ่ชีวิตเหยื่ออุบัติเหตุปีใหม่ 41% เป็นเสาหลักครอบครัว ต้องกลายเป็นคนพิการ
"ปีใหม่นี้จึงอยากเตือนไปถึงคนที่ยังใช้ชีวิตประมาท อยากให้ดูเป็นตัวอย่าง คนเราไม่ได้โชคดีแบบนี้ทุกคน อยากให้ใช้สติ ถ้าวันนั้นผมยอมฟังเพื่อนก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คิดแค่ว่าระยะทางไม่กี่ร้อยเมตร ดื่มแล้วขับทุกวันไม่เห็นเป็นอะไร แต่สุดท้ายเพียงแค่เสี้ยววินาทีตอนนั้น ทำให้ผมกลายเป็นคนพิการนั่งบนรถเข็นไปตลอดชีวิต”
ข้อมูลผู้เสียชีวิตอุบัติเหตุ ปี 2562 จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อุบัติเหตุบนท้องถนน ระบุว่า ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 48 เดินทางใกล้ๆ บ้านไม่เกิน 5 กิโลเมตร จักรยานยนต์ ถือเป็นพาหนะที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 323 ราย และกว่า ร้อยละ 41 ไม่มี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ทำให้ไม่มีเงินมาช่วยเหลือเยียวยาทั้งตัวเองและคู่กรณี
ขณะที่ ผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 41 เป็นเสาหลักครอบครัว...
อยู่ห่างจากบ้านแค่ 800 เมตร 'ศักดา บุญสุขศรี' หนึ่งในเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ ถ่ายทอดประสบการณ์ ในเวทีเสวนา “ปัญหาสุขภาพจิต ในวิกฤตชีวิตญาติและเหยื่ออุบัติเหตุทางถนน” จัดโดย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ณ เดอะฮอล์กรุงเทพ
เขาเล่าย้อนไปเมื่อปี 2540 ที่ประสบอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ หลังไปดื่มเหล้ากับเพื่อนช่วงหลังเลิกงาน พอเหล้าหมดจึงอาสาขี่รถจักรยานยนต์ออกไปซื้อ แม้เพื่อนจะห้าม แต่ก็ไม่ฟัง เพราะมั่นใจว่า ไม่เมา ประกอบกับร้านจำหน่าย อยู่ห่างจากบ้านแค่ 800 เมตร ด้วยความชะล่าใจบวกกับความประมาท ขี่รถจักรยานยนต์ชนกำแพง ร่างกระแทกลงไปนอนสลบกับพื้น
ความรุนแรงจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นส่งผลให้เขากลายเป็นคนพิการอัมพาตครึ่งท่อน ต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต จากเดิมที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัว ต้องกลายเป็นภาระให้พ่อแม่เลี้ยงดู น้อง 2 คน ไม่ได้เรียนต่อ ครอบครัวต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำเงินมารักษา จากอาการบาดเจ็บทางกายเริ่มก่อตัวเป็นความเครียด
" ตอนนั้นตัวเองเหมือนคนเป็นโรคจิต รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวังไม่อยากมีชีวิตอยู่ อยากที่จะฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ไม่รู้ว่ามีหน่วยงานไหนที่เขาอยากช่วยอยากคุยกับเรา ชีวิตเหมือนล้มละลาย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย พ่อแม่ต้องคอยดูแลตลอด ไปทำงานพักเที่ยงก็ต้องรีบกลับมาป้อนข้าว หายาให้กิน รู้สึกเป็นภาระของครอบครัว มีหนี้สินไปกับการรักษาทำกายภาพนานถึง 2 ปี
ตอนนั้นท้อแท้มาก เครียด คิดแต่ว่าอยากตายจะได้ไม่ต้องลำบากครอบครัว แต่โชคดีที่ได้กำลังใจจากครอบครัวและเพื่อนจากมูลนิธิเมาไม่ขับ ดึงมาเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยรณรงค์ให้สังคมเห็นโทษจากการเมาแล้วขับ ได้ไปฝึกอาชีพกับโรงเรียนสอนคนพิการ ทำให้มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองได้และมีพลังที่จะดำเนินชีวิตต่อ"
ความประมาทในครั้งนั้น ศักดา ฝากบอกว่า "ปีใหม่นี้จึงอยากเตือนไปถึงคนที่ยังใช้ชีวิตประมาท อยากให้ดูเป็นตัวอย่าง คนเราไม่ได้โชคดีแบบนี้ทุกคน อยากให้ใช้สติ ถ้าวันนั้นผมยอมฟังเพื่อนก็คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ คิดแค่ว่าระยะทางไม่กี่ร้อยเมตร ดื่มแล้วขับทุกวันไม่เห็นเป็นอะไร แต่สุดท้ายเพียงแค่เสี้ยววินาทีตอนนั้น ทำให้ผมกลายเป็นคนพิการนั่งบนรถเข็นไปตลอดชีวิต”
ส่วน รัชฐิรัชฎ์ ซุ่นสั้น ภรรยาที่ต้องสูญเสียสามีจากคนเมาแล้วขับ ขณะปฏิบัติหน้าที่ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ครอบครัวต้องสูญเสียเสาหลักไปอย่างกะทันหันจากอุบัติเหตุคนเมาขับรถกระบะชน ขณะไปปฏิบัติหน้าที่เคลียร์พื้นผิวจราจร
เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นอุบัติเหตุซ้ำซ้อนสะเทือนขวัญที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ถึง 5 ราย หนึ่งในนั้นเป็นสามีของเธอ ซึ่งเป็นตำรวจกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่
จากครอบครัวที่สมบูรณ์ ครอบครัวนี้ลูกต้องขาดพ่อ เธอต้องดูแลครอบครัวเพียงลำพัง แม้จะเสียใจกับความสูญเสียแต่ชีวิตต้องเดินหน้าต่อ จึงเอาคำสอนของสามีที่เคยบอกไว้มาเป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เข้มแข็งเพื่อที่จะเป็นแบบอย่างให้กับลูก
"ช่วงนั้นรู้เลยว่าสภาพจิตใจตัวเองย่ำแย่มาก ไม่ปกติและไม่รู้จะคุยจะระบายจะปรึกษาใครได้ แต่เราต้องทำตัวให้เข้มแข็ง เพราะไม่อยากให้ลูกไม่สบายใจ แต่จริงๆแล้วในใจเราแทบสลาย ตอนนั้นโชคดีที่พี่ๆน้องๆเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเป็นคนแปลกหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ ในเรื่องคดี และที่สำคัญคือการพูดคุยกับเราอย่างเข้าใจ สร้างพลังใจ จนเป็นเหมือนญาติ เขาทำทุกอย่างเพื่อหวังให้เราอยากก้าวผ่านจุดนี้ไปให้ได้ถือว่าเราโชคดีมากว่าคนอื่นๆ
ปีใหม่นี้จึงอยากเตือนประชาชนทุกคนในฐานะครอบครัวที่เคยสูญเสียคนรักจากการถูกคนเมาขับรถชน ถ้าดื่มอย่าขับรถเด็ดขาดต้องมีสติ และอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง อย่าเลือกปฏิบัติ ถ้าคนทำผิดกฎจราจรเมาแล้วขับก็ต้องโดนลงโทษสถานหนักเสียที” นางรัชฐิรัชฎ์ ระบุ
สำหรับปัญหาสุขภาพจิต ในวิกฤตชีวิตญาติ และเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนนั้น รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า นี่คือความยากลำบากในการใช้ชีวิต นอกจากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายแล้ว ในบางรายอาจได้รับผลกระทบทางจิตใจจากสภาวะความเครียดที่รุนแรง จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญที่ต้องเผชิญกับความสูญเสียอวัยวะหรือถึงขั้นชีวิต
ความเครียดนี้ คุณหมอรัศมน บอกว่า สามารถแบ่งได้หลายระดับ เช่น
- โรคความเครียดจากการได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วยจะมีภาวะครุ่นคิดกับสิ่งที่เจอ ส่งผลทำให้สภาพจิตใจแย่ลง เริ่มรู้สึกโทษตัวเองที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ท้อแท้ สิ้นหวัง ไม่อยากทำอะไร เศร้า หดหู่ หมดกำลังใจ ทานอาหารและการนอนเริ่มเปลี่ยนแปลง ขั้นหนักสุดคือไม่อยากมีชีวิตอยู่ เป็นหลายสัปดาห์ติดต่อกัน และไม่สามารถพยุงความรู้สึกตัวเองได้ อันนี้จะถือว่าเป็น “โรคซึมเศร้า”
- โรคเครียดเกิดจากการเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือเรียกว่า PTSD (Post traumatic Stress Disorder) เป็นโรคที่ก่อตัวขึ้นจากการที่ต้องเผชิญเหตุการณ์ที่กระทบเทือนจิตใจถึงขั้นชีวิต
รศ.พญ.รัศมน อธิบายต่อว่า อาการของโรคจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหวาดผวา เหมือนเหตุการณ์น่ากลัวยังเกิดขึ้นซ้ำๆ แม้จะจบไปแล้ว ตื่นกลางดึกเพราะฝันร้าย รู้สึกใจสั่นและกลัวอยู่ตลอดว่าจะมีอันตรายเกิดขึ้นกับตัวเอง ดังนั้นคนรอบข้างต้องระวัง เมื่อผู้ป่วยเจอเหตุสะเทือนขวัญ การที่ให้เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟังมากเกินไป อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกหวาดผวาขึ้นมาได้ ต้องประเมินความพร้อม การเล่าอยากให้ผ่อนคลายในสิ่งที่อยากเล่าจริงๆ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสภาพจิตใจ
“การฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยที่มีสภาวะความเครียดทางอารมณ์นั้น คนรอบข้างครอบครัวช่วยได้ ให้ใช้วิธีพูดคุยและคอยรับฟังในเวลาที่ต้องการให้ช่วยเหลือ หรือหากมีอาการของโรคที่รุนแรงมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต เช่น ไม่สามารถทำงานได้ กระทบความเป็นอยู่ ถึงขั้นเป็นอันตราย อยากทำร้ายตัวเองบ่อยครั้ง คิดเรื่องความตาย ให้ชักชวนผู้ป่วยไปพบผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาลทางด้านจิตเวช สถานพยาบาลด้านจิตเวชที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ เรามีนักจิตบำบัด จิตแพทย์ นักจิตวิทยาที่จะคอยให้คำปรึกษาและดูแลด้วยการใช้จิตบำบัด ขณะที่บางรายอาจมีการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการร่วมด้วยตามความรุนแรงของโรค” รศ.พญ.รัศมน ให้คำแนะนำทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/