ธปท.เผยระบบแบงก์ล่มลดลง 2 เท่า-'กรุงไทย'แชมป์ล่มบ่อย
“แบงก์ชาติ” เปิดสถิติระบบแบงก์ล่มไตรมาส 3 เกิดเหตุทั้งหมด 12 ครั้ง ลดลงกว่า 2 เท่าตัว จากไตรมาสก่อนหน้าที่มีถึง 38 ครั้ง เผย “ระบบโมบายแบงกิ้ง” ขัดข้องมากที่สุด 8 ครั้ง "กรุงไทย" ยังครองแชมป์ล่มมากที่สุด ธปท.สั่งทุกแบงก์เกาะติดช่วงพีคสิ้นปี
เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้อง ที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี2563 พบว่า ระบบการให้บริการของสถาบันการเงินมีเหตุขัดข้องทั้งหมด 12 ครั้ง ลดลงเกือบ 2 เท่าตัว หากเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาทั้งหมด 38 ครั้ง
ทั้งนี้ เหตุขัดข้องดังกล่าว รวมการให้บริการผ่านโมบายแบงกิ้ง อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง เอทีเอ็ม เครื่องซีดีเอ็ม และสาขา พบว่าจากเหตุขัดข้องทั้งหมด 12 ครั้ง เป็นเหตุของระบบโมบายแบงกิ้ง 8ครั้ง โดยธนาคารที่เจอเหตุขัดข้องมากที่สุดคือ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 3 ครั้ง รองลงมาคือธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำนวน 2 ครั้ง ส่วนธนาคารกรุงเทพ ทหารไทย ธนาคารทิสโก้ เกิดเหตุ 1 ครั้ง ขณะที่ช่องทางผ่านตู้เอทีเอ็ม ซีดีเอ็ม มี 3 ครั้ง โดยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และเกียรตินาคิน ธนาคารละ1 ครั้ง และเกิดเหตุที่สาขา 1 ครั้ง คือธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าวว่า จากสถิติดังกล่าว พบว่าระบบแบงก์ขัดข้องน้อยลง โดยเฉพาะปัญหาที่พบจากธนาคารกรุงไทยเริ่มดีขึ้น จากช่วงที่ผ่านเจอเหตุขัดข้องติดต่อกันมาก ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี ที่ธปท.อยากเห็นธนาคารต่างๆปรับปรุงระบบและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น
“ปัญหาแบงก์ล่มในไตรมาส 3 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่าที่คาด จาก 1 เท่าเป็น 2 เท่าตัว ทำให้การจัดคิวและปริมาณท่อไม่พอ พวกนี้คือสิ่งที่เค้าเรียนรู้และพยายามแก้ไขจุดอ่อน”
ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4 ปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่จะมีปริมาณธุรกรรมมากที่สุด ธปท.ได้ให้ธนาคารพาณิชย์ยกระดับการเฝ้าระวังเต็มที่ หวังว่าจะเห็นปัญหาการขัดข้องน้อยลง โดยที่ผ่านมาธปท.ได้หารือกับธนาคารมาโดยตลอด ให้เตรียมแผนระยะยาวเพื่อดูแลระบบให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาวมากขึ้น
สำหรับการพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เควายซีนั้น คาดว่าเดือนม.ค.ปี2563 ธปท.จะออกหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติเกี่ยวกับอี-เควายซีออกมาอีกครั้ง เพื่อให้แบงก์ใช้เป็นแนวปฏิบัติในอนาคต โดบขณะนี้ มีแบงก์ขอยื่นออกจากแซนด์บ็อกซ์แล้ว แต่ยังมีอีกเล็กน้อยที่ยังไม่เรียบร้อย เพราะระบบดังกล่าวต้องรองรับ NDID ที่จะออกมาด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ข้ามธนาคารได้ต้นปีหน้า
ในด้านแพลตฟอร์มกู้ยืมเงินออนไลน์ระหว่างบุคคล หรือพีทูพีเลนดิ้ง ขณะนี้มีผู้ยื่นแล้ว 3 ราย ซึ่งประกอบธุรกิจนอนแบงก์ มีทั้งลักษณะเป็นพันธมิตร หรือเป็นการรวมกลุ่มกันเข้ามาขอดำเนินธุรกิจ โดยทั้ง 3 รายจะต้องทดสอบระบบและแอพพลิเคชั่นในแซนด์บ็อกซ์ช่วงต้นปี 2563
“ หากมีการให้บริการพีทูพีเลนดิ้ง จะเป็นผลดีต่อรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวกขึ้น เพราะการให้กู้ผ่านพีทูพีเลนดิ้ง ไม่ใช่ดูเฉพาะข้อมูลทางการเงินเท่านั้น แต่ประเมินจากพฤติกรรมการใช้น้ำ ใช้ไฟฟ้า ใช้โทรศัพท์ต่างๆมาประเมินด้วย เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนของรายย่อย ทั้งนี้ การปลอ่ยสินเชื่อผ่านพีทูพีเลนดิ้ง กรอบกติกา คือสามารถคิดดอกเบี้ยได้สูงสุดคือไม่เกิน 15 % ”