สับขาหลอก? คดียิง 3 ศพที่ระแงะ ทหาร 2 นายดอดมอบตัว สภ.เมือง
ผ่านมา 4 วันของเหตุการณ์ที่ฝ่ายทหารใช้อาวุธปืนยิงประชาชนเสียชีวิต 3 ราย บนภูเขาอาปี หรือที่ทางราชการระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาตะเว อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส
ปรากฏว่าวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.62 มีกำลังพลของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 จำนวน 2 นาย เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส และมอบอาวุธปืนที่เป็นของกลางในคดี ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เกิดขึ้นที่ตำบลบองอ อำเภอระแงะ แต่กลับไม่ไปมอบตัว ณ โรงพักในท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งแม้ตามกฎหมายจะสามารถทำได้ แต่ก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะครอบครัวผู้สูญเสีย
เหตุการณ์ยิงกันบนภูเขา เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงสายวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.62 หลังเกิดเหตุในช่วงแรกมีการออกข่าวว่าเป็นการยิงปะทะกันระหว่างชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ ของหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 กับกองกำลังของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กระทั่งฝ่ายทหารสามารถวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยได้ 3 ราย พร้อมยึดอาวุธปืนอาก้า และปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ได้อย่างละ 1 กระบอก
ทว่าต่อมาเหตุการณ์กลับตาลปัตร กลายเป็นว่าไม่มีการยิงปะทะ ผู้ตายไม่ใช่คนร้าย แต่เป็นชาวบ้านขึ้นไปหาทำไม้และหาของป่า รวมทั้งไม่มีปืนของกลาง ทำให้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ต้องออกแถลงการณ์ยอมรับตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยืนยันว่าคนตายไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคง และไม่ได้เป็นสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบ
หลังเกิดเหตุใหม่ๆ มีการอ้างว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 3 คนเป็นกลุ่มทำไม้เถื่อน แต่หลังจากเกิดเหตุก็ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดีใดๆ ทั้งๆ ที่มีคนในกลุ่มนี้รอดชีวิตลงมาที่หมู่บ้านเชิงเขาด้วย
สิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง ก็คือการประกาศห้ามประชาชนขึ้นไปหาของป่าและล่าสัตว์บนภูเขา รวมทั้งในเขตป่าสงวนโดยเด็ดขาด อ้างว่ามีกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงจ้องทำร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ และอาจเกิดความเข้าใจผิดกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง
จริงๆ แล้วมาตรการห้ามขึ้นภูเขาในเวลากลางคืน ดำเนินการมาตั้งแต่หลังเกิดเหตุโจมตีป้อม ชรบ.ในตำบลลำพะยา อำเภอเมืองจังหวัดยะลา จนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 ศพ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.62 ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเปิดปฏิบัติการไล่ล่าคนร้าย และนำกำลังขึ้นพิสูจน์ทราบบนภูเขาหลายลูกที่เชื่อว่าเป็น "แหล่งพักพิง" หรือ support site หลังปิดจ๊อบก่อเหตุรุนแรง
อีกด้านหนึ่ง มีการลงบันทึกประจำวันที่ สภ.ระแงะ จนกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะมีการลงบันทึกไว้กับฝ่ายตำรวจทำนองว่า มีกลุ่มคนพยายามลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ จึงมีการแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน 1 เหตุการณ์ และข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา 1 เหตุการณ์ ทั้งยังมีการตั้งสำนวนคดีชันสูตรพลิกศพ ทำให้มีการตีความว่า เจ้าหน้าที่แจ้งความลงบันทึกประจำวันว่ามีการปะทะต่อสู้กัน และมีการวิสามัญฆาตกรรม จนทำให้เกิดการตายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จึงต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
แต่หลังจากมีการเผยแพร่บันทึกประจำวัน ก็ไม่มีคำชี้แจงใดๆ กระทั่งล่าสุดวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. มีเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 มอบตัวและมอบอาวุธปืนต่อเจ้าพนักงานตำรวจ สภ.เมืองนราธิวาส
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะเข้ามอบตัวในเวลา 10.00 น.ที่ สภ.ระแงะ ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุ แต่ปรากฏว่าฝ่ายทหารเดินทางไปที่ สภ.เมืองนราธิวาสแทน และยังขยับเวลาเป็น 07.00 น. ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่พอใจ และเรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 4 นำตัวผู้กระทำผิดมาขอโทษครอบครัวต่อหน้าสื่อมวลชน
พล.ต.ต.นรินทร์ บูสะมัญ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนราธิวาส ให้ข้อมูลกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ผู้ต้องหาคดียิงชาวบ้านทำไม้บนเขาตะเว 2 ราย ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าพนักงานตำรวจประจำ สภ.เมืองนราธิวาส แล้วเมื่อเวลา 07.00 น. จากเดิมนัดเจ้าหน้าที่ไว้เวลา 10.00 น. โดยทหาร 2 นายเป็นอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) 1 นาย และเป็นทหารชั้นสัญญาบัตร 1 นาย แต่ตนจำรายชื่อไม่ได้
ข้อมูลการมอบตัว นอกจากไม่ตรงกับที่แจ้งประสานงานไว้ในตอนแรกแล้ว ยังมีข้อมูลจากฝ่ายทหารที่ไม่ตรงกับฝ่ายตำรวจด้วย
โดย พ.อ.ธีร์พัชร์ เอมพันธุ์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45 กล่าวว่า "วันนี้ได้มอบตัวแล้วเมื่อเช้า 7 นาย แต่อยากให้คุยกับโฆษก กอ.รมน.มากกว่า จะสามารถให้รายละเอียดได้มากกว่านี้"
ตลอดทั้งวัน "ทีมข่าวอิศรา" ได้พยายามติดต่อขอสัมภาษณ์กับโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (โฆษก กอ.รมน.) แม้จะติดต่อได้ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ
ญาติผู้เสียชีวิตรายหนึ่ง กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ทหารเป็นลูกผู้ชาย ทหารกล้ายิงพวกเขา ต้องกล้าออกมายอมรับและแสดงตัว แต่ทหารกลับปกปิด แบบนี้จะให้ความเป็นธรมกับชาวบ้านได้อย่างไร
"ผมคิดว่าไม่คุ้มเลยที่พยายามปกป้องคนทำผิดเพียงไม่กี่คน น่าจะพาเขามายอมรับและมาขอโทษครอบครัวจะดีกว่า เพราะสิ่งที่พวกเราต้องการหลังจากสูญเสียคนในครอบครัวไปแล้ว คือความเป็นธรรม และคนที่ทำผิดถูกลงโทษ ไม่น่ามาปกป้องกันแบบนี้ มันทำให้เราเห็นชัดว่าแค่เริ่มกระบวนการ เราก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว"
ญาติผู้เสียชีวิตรายนี้ ยังฝากเรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผบ.ทบ.นำตัวคนผิดมาลงโทษ เลิกปกป้องคนผิด เพราะการแอบเข้ามอบตัว แสดงว่าทหารกลุ่มนี้ไม่ได้ยอมรับผิดจริงๆ และสุดท้ายเรื่องก็จะเงียบหายไป จุดนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านไม่ไว้วางใจทหารตลอดมา
ขณะที่ นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า คงต้องเลิกพูดเรื่องจะให้ความยุติธรรม เพราะทั้งหมดคือวาจาเท่านั้นเอง
------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศหน้า สภ.ระแงะ เงียบเหงา ไร้เงาเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามอบตัว
2 ป้ายห้ามชาวบ้านขึ้นภูเขาที่ประกาศโดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 45
3 บันทึกประจำวันที่สร้างกระแสวิจารณ์อย่างกว้างขวาง
อ่านประกอบ :
สั่งสอบยิงปะทะบนเขาตะเวดับ 3 หลังชาวบ้านร้องเรียนอาจไม่ใช่คนร้าย
คนดีหรือคนร้าย? ชาวบ้านข้องใจ-รวมตัวรอฟังคำตอบเหยื่อปะทะ 3 ศพ
แม่ทัพ 4 แจง จนท.สำคัญผิดยิงชาวบ้านตัดไม้ 3 ศพ สั่งตั้งทีมสอบสวน
35 ชั่วโมงแห่งความทุกข์ใจ รอ 3 ศพคนตายจากเขาอาปี
เสียงเพรียกจากบองอ...เมื่อเสียงร้องขอความเป็นธรรมดังกว่าเสียงปืน