มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาลปกครองระงับขึ้นค่าโทลล์เวย์ 15 บาท
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฟ้องศาล ปค. ระงับค่าทางด่วนโทลล์เวย์ขึ้นราคา 15 บาท เหตุสัญญาปรับราคาขึ้นทุก 5 ปี ไม่เป็นธรรม กระทบผู้ใช้เส้นทาง ซัดหนักรัฐเอื้อเอกชน ขยายสัมปทานผูกขาดอีก 27 ปี มีผลกระทบโครงการสาธารณะระยะยาว
เว็บไซต์ข่าว ไทยพีบีเอส รายงานว่า วันที่20 ธ.ค.2562 เวลา 10.00 น. ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และทนายความ เดินทางมาที่ศาลปกครองเพื่อยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนโทลล์เวย์ ที่บริษัทจะปรับขึ้นราคารอบใหม่ ในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ ซึ่งแม้เป็นการปรับขึ้นตามสัญญาทุก 5 ปี แต่ก็เห็นว่า ไม่มีความชอบธรรม ซึ่งการปรับขึ้นราคา อีก 15 บาท จะมีผลทั้งกลุ่มรถยนต์ 4 ล้อ และ กลุ่มที่มากกว่า 4 ล้อ เป็นสัญญาที่ทำไว้ ในช่วงสัมปทานเดิมเส้นทางดินแดงถึงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ รวม 21.9 กิโลเมตร
สำหรับการปรับแก้สัญญาที่มีนัยยะสำคัญ เกิดขึ้นอีก 3 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ 3 ปี 2550 ให้สิทธิ์บริษัทปรับขึ้นค่าผ่านทางได้ทุก 5 ปี โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐ และขยายระยะเวลาสิ้นสิ้นสัญญาจากเดิม 25 ปี สิ้นสุดปี 2557 ขยายออกไปอีก 27 ปี จะสิ้นสุดปี 2577 จึงส่งผลให้การปรับขึ้นค่าผ่านทางเป็นแบบผูกพันระยะยาว ทั้งๆ ที่เป็นโครงการสาธารณะที่มีผลต่อประชาชน
การขึ้นค่าผ่านทาง ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า การทำสัญญาไม่ชอบธรรม เอื้อต่อเอกชน ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังรวมถึงการขัดรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และ ไม่เปิดกว้างให้เกิดการแข่งขันลงทุนประมูลส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิตและยิ่งประเทศ กำลังเผชิญกับ สถานการณ์เศรษฐกิไม่ดี ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นมากแล้ว การขึ้นค่าผ่านทาง จึงเป็นการซ้ำเติมประชาชน โดยที่บริษัท ไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ
ขณะที่ผลประกอบการของบริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลัง บริษัทมีกำไรปีละกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเส้นทางโทลล์สามารถรองรับรถยนต์สัญจร ได้มากถึงชั่วโมงละ 1 แสน 8 หมื่นคัน ล้วนเป็นเหตุผลที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เห็นว่า ไม่ควรปรับขึ้นค่าผ่านทางในช่วงระยะเวลานี้
น.ส.สารี ยังเห็นว่า ข้อแก้ปัญหาของกระทรวงคมนาคม ที่ข้อเสนอการลดราคา 5 % ให้ผู้ขับขี่ใช้คูปองส่วนลดค่าผ่านทาง ไม่ใช่การแก้ปัญหาได้จริง แต่เป็นเพียงการส่งเสริมการขายให้เอกชนเท่านั้น
นอกจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแล้ว เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2562 ยังมีความเคลื่อนไหวจากคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติทำหนังสือด่วนที่สุดถึง นายกรัฐมนตรี ขอให้ระงับการปรับขึ้นค่าผ่านทาง และขอให้กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวง และคณะรัฐมนตรี ร่วมกันหาทางออก เพื่อปกป้องประโยชน์ให้ประชาชน และรักษาผลประโยชน์ของรัฐ โดยเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม ยกเลิกสัญญากับบริษัทที่ทำไว้ในปัจจุบัน ทบทวนการทำสัญญาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบผูกขาด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้บริโภค