สสส. ชู ต.นาข้าวเสีย จ.ตรัง ต้นแบบ “ตำบลปลอดเหล้าเข้าพรรษา”
สสส. ชู ต.นาข้าวเสีย จ.ตรัง ต้นแบบ “ตำบลปลอดเหล้าเข้าพรรษา” ใช้พลังสตรีขับเคลื่อนขบวนการ “สาวพักตับฯ” จากพื้นที่สีแดงกลายเป็นพื้นที่คนงดเหล้ามากที่สุดในจังหวัด พร้อมชื่นชมการขับเคลื่อนอำเภอต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนนรับเทศกาลปีใหม่ ถอดรหัส “นาโยงบูรณาการลดอุบัติเหตุ” ได้สำเร็จ
เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2562 นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในการศึกษาดูงานพื้นที่ต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยเชิงบูรณาการประเด็นแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในพื้นที่ อบต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ว่า สสส. ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดหล้า (สคล.) ริเริ่มโครงการรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อเชิญชวนให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มเหล้า โดยใช้แนวทางจากการสร้างชุมชนคนสู้เหล้า โดยมีแกนนำชุมชน อสม. และแกนนำนักรณรงค์คนหัวใจเพชร(เลิกเหล้าตลอดชีวิต) ที่เป็นจิตอาสา ช่วยสื่อสารและร่วมขับเคลื่อนงานรณรงค์เลิกเหล้าในชุมชนโดยชวนให้งดเหล้าเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นของการงดตลอดชีวิต พื้นที่ต.นาข้าวเสีย ถือเป็นหนึ่งใน 892 ชุมชนทั่วประเทศที่ร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษาของ สสส. และประสบความสำเร็จในการกระตุ้นให้ชุมชนลุกขึ้นมาจัดการแก้ปัญหาประเด็นเหล้า โดยสร้างแกนนำในชุมชนเป็นพี่เลี้ยง ชี้ชวนให้ตระหนักถึงผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อชีวิตของตนและครอบครัว
“ขอชื่นชม ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่สีแดงของจำนวนผู้ติดสุราและขึ้นชื่อว่ามีภาษีสรรพสามิตมากที่สุด แต่ปัจจุบันตำบลแห่งนี้สามารถแก้ปัญหาที่น่าสนใจ โดยใช้พลังของสตรีขับเคลื่อนผ่านขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" ภายใต้โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา ที่สสส. สคล. ให้การสนับสนุน ซึ่งสามารถเข้าถึงคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี จนได้รับการยอมรับให้เป็นต้นแบบของตำบลปลอดเหล้าเข้าพรรษา” นพ.คำนวณกล่าว
นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า จากการประเมินผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2562 โดยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) และสสส. พบมีผู้ร่วมงดเหล้าเข้าพรรษา 53.5% แบ่งเป็น ผู้ที่งดเหล้าตลอดพรรษา 31% และผู้ที่งดบางช่วงและลดการดื่ม 22.5% กลุ่มที่ลด ละ เลิกดื่ม ส่วนใหญ่ระบุว่าทำให้สุขภาพร่างกายดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายได้ เฉลี่ยรายละ 1,284 บาท ภาพรวมทั้งประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้นับหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนที่มีรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วยลดผู้เสียชีวิตจากทุกสาเหตุลง 9% การเสียชีวิตจากแอลกอฮอล์ลดลง 25% และยังส่งผลให้การดื่มลดลง 10% อีกด้วย นอกจากนี้ ผลสำรวจตั้งแต่ปี 2559-2561 พบว่า มีคนอยากเลิกดื่มตลอดชีวิต 13% อยากลดปริมาณลง 58% แสดงให้เห็นว่ากลุ่มตัวอย่างมีแนวโน้มที่จะลด ละ เลิกดื่มมากถึง 71%
นางพยอม หนูนุ่ม ชาวบ้าน ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง หนึ่งในสมาชิกสาวพักตับผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการดำเนินงานขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" กล่าวว่า คำว่าสาวพักตับได้เรียกติดปากกันมาตั้งแต่ปี 2558 มาจากเครือข่ายอาสาสมัครสตรี ซึ่งเป็นแกนนำชวนเลิกเหล้า เริ่มจากชักชวนคนใกล้ตัวคือสามีเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นชวนลูกหลาน คนใกล้บ้านเข้าร่วม ระยะแรกมีคนต่อต้านและมีผู้เข้าร่วมเพียงเล็กน้อย จึงได้พัฒนากลยุทธ์สำคัญคือการสร้างพลังทางใจและแรงจูงใจให้กับผู้ดื่มเหล้า ช่วยให้คนที่อยากเลิกเหล้าทำสำเร็จ ทำให้มีจำนวนผู้ดื่มเหล้าลงลงทุกปี ปัจจุบันขบวนการ "สาวพักตับ ช่วย ชม เชียร์ คนสู้เหล้า" มีสมาชิก 110 คน โดยปี 2562 นี้ ได้ชักชวนคนเลิกเหล้ารวม 66 คน สามารถเลิกเหล้าตลอดพรรษาเป็นคนหัวใจหิน 56 คน และสามารถเลิกเหล้าตลอดชีวิตเป็นคนหัวใจเพชร 10 คน จากการได้ติดตามผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมพบว่าครอบครัวประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ครอบครัวไม่ทะเลาะกัน สร้างความอบอุ่นในครอบครัว นอกจากนี้ กลุ่มสาวพักตับยังได้ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ ในอ.นาโยง เช่น การช่วยเหลือ เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ยากไร้ เมาไม่ขับ ขับปลอดภัย สวมหมวกนิรภัย มอบอาหารเครื่องดื่มให้กับจุดตรวจช่วงสงกรานต์ ปีใหม่ ฯลฯ
ต่อมาเวลา 13.30 น. คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานจัดการด้านความปลอดภัยทางถนนในพื้นที่ อ.นาโยง จ.ตรัง เพื่อเตรียมความพร้อมมาตรการรับเทศกาลปีใหม่ โดยนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนกลไกการจัดการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในอำเภอและพื้นที่ เนื่องจากถนนในประเทศไทย 78% เป็นถนนของ อปท. และในช่วงเทศกาลอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดในถนนสายรองกว่า 60% ซึ่งหากระดับอำเภอและพื้นที่มีมาตรการเฉพาะของพื้นที่ จะช่วยลดความสูญเสียลงได้ โดย อ.นาโยง เป็นหนึ่งในอำเภอที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นอำเภอต้นแบบการจัดการความปลอดภัยทางถนน ที่สสส. ได้สนับสนุนมีคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) เป็นกลไกทำงานระหว่าง ตำรวจจราจร ชุมชน อำเภอ โรงพยาบาล ร่วมกันแก้ไขจุดเสี่ยง รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนและเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ร่วมกับส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนและเกิดความสูญเสียต่อชีวิต จึงจัดทำ “โครงการรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน” ขึ้น โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย และประชาชนในชุมชนจัดทำและหามาตรการป้องกัน จนสามารถลดผู้เสียชีวิตในปี 2559 จาก 16 ราย เหลือ 9 รายในปี 2562 (ม.ค.-พ.ย.) และยังลดอุบัติเหตุในจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ด้าน ร.ต.อ.ปรีชา ศรีเมือง สารวัตรจราจร สภ.นาโยง กล่าวว่า อ.นาโยง มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ (ศปถ.อำเภอนาโยง) โดยมีภาคราชการ เอกชน ภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ดำเนินการร่วมกัน ได้ถอดรหัส “นาโยงบูรณาการลดอุบัติเหตุ” และมีการดำเนินการขับเคลื่อนมาโดยตลอด มุ่งเน้นการปลูกจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ในการใช้รถใช้ถนน แก้ไขจุดเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ การตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัดของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีการประชุมปรึกษาหารือกันโดยตลอด มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งทาง อบต.ละมอ ร่วมกับ อ.นาโยง จัดทำโครงการรณรงค์ให้ความรู้และส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยกับ เด็ก ครู ผู้ปกครอง ซึ่ง อบต.ละมอ ได้ให้ความสำคัญ และสามารถทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งนี้สวมหมวกกันน็อกได้ 100% ซึ่ง อ.นาโยง เตรียมขยายผลให้ครบทุกศูนย์เด็กเล็ก และเร่งสนับสนุนให้ทุกท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลักในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนนต่อไป