รองโฆษกอัยการ วิเคราะห์ลักษณะสมคิด พุ่มพวง ฆาตกรต่อเนื่อง
รองโฆษกอัยการ แจงข้อ กม. ลงโทษ สมคิด แจ๊ค เดอะริปเปอร์เมืองไทย ตามขั้นตอน ส่วนแก้ไข กม.หรือไม่ต้องวิเคราะห์หลายมุม
เว็บไซต์ www.komchadluek.net รายงานว่า วันที่ 7 ธ.ค.62 เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวข้อกฎหมาย กรณี "นายสมคิด พุ่มพวง" หรือนายชูชาติ ชาญชัย หรือนายชูชาติ กิ่งแก้ว หรือนายชาติ กิ่งแก้ว หรือนายวิชัย พรหมพันธ์ อดีตผู้ต้องโทษคดีฆ่าต่อเนื่องสาวหมอนวด 5 ศพ ฉายา " แจ๊ค เดอะริปเปอร์ เมืองไทย " ซึ่งเพิ่งพ้นโทษ ออกจากเรือนจำหนองเคยเมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 โดยล่าสุดตำรวจได้ออกหมายจับ คดีฆ่านางรัศมี มุลิจันทร์ หรือฝ้าย อายุ 51 ปี แม่บ้านโรงแรมแห่งหนึ่ง ที่ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น สภาพศพท่อนล่างเปลือย บริเวณลำคอถูกพันด้วยเทปใส เมื่อกลางดึกวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา
โดย "นายประยุทธ" รองโฆษกอัยการ กล่าวว่า นายสมคิด เคยก่อเหตุฆ่าเหยื่อมา 5 คดี ซึ่งอัยการได้ยื่นฟ้องศาลให้ลงโทษแล้ว คดีทั้งหมด ได้แก่
1.ก่อเหตุฆาตกรรมชิงทรัพย์ น.ส.วารุณี พิมพะบุตร อายุ 25 ปี นักร้องคาเฟ่ในห้องพัก โรงแรม ต.มุกดาหาร อ.เมือง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 30 ม.ค.48
2.เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.48 ฆ่า น.ส.ผ่องพรรณ ทรัพย์ชัย อาชีพหมอนวดแผนโบราณในโรงแรม ที่ต.สวนดอก อ.เมือง จ.ลำปาง
3.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.48 ฆ่าชิงทรัพย์นางพัชรีย์ อมตนิรันดร์ นักร้องคาเฟ่ ในห้องพักโรงแรม ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง
4.เมื่อวันที่ 18มิ.ย.48 ฆ่าน.ส.พรตะวัน ปังคะบุตร หมอนวดแผนโบราณ ที่โรงแรมใน อ.เมืองอุดรธานี
5.เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 48 ฆ่าชิงทรัพย์ น.ส.สมปอง พิมพรภิรมย์ อาชีพหมอนวดแผน ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
ซึ่งจะเห็นว่าในเดือน มิ.ย 48 เพียงเดือนเดียว นายสมคิดก่อเหตุฆ่าเหยื่อ 4 ศพ ซึ่งเมื่อคดีทั้งหมดพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการ ยื่นฟ้องต่อศาลไปทั้งหมด 5 คดี ผลการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นฎีกา ศาลพิพากษาประหารชีวิต แต่เนื่องจากนายสมคิดให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวน การพิจารณาเป็นประโยชน์ศาลลดโทษให้ เหลือจำคุกตลอดชีวิตทั้ง 5 คดี
ขณะที่ "นายประยุทธ" รองโฆษกอัยการ กล่าวถึงประเด็นข้อกฎหมายว่า เมื่อศาลมีคำพิพากษาประหารชีวิตแล้ว สามารถประหารชีวิตได้เพียงครั้งเดียว แต่สุดท้ายเมื่อศาลลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตทั้ง 5 คดี ซึ่งโทษจำคุกตลอดชีวิตตามกฎหมายนั้นสามารถจำคุกได้ 50 ปี แต่ตามกฎหมายไม่ใช้การนำตัวเลข 50 ปีมาคูณ 5 ซึ่งจะทำให้โทษเป็น 250 ปี แต่กฎหมายให้ลงโทษได้สูงสุด 50 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่วันที่นายสมคิดถูกจำคุกครั้งแรกคือวันที่ 29 มิ.ย.2548 และก็ได้รับการลดหย่อนโทษในขั้นตอนของกรมราชทัณฑ์ กระทั่งถูกปล่อยตัวไปเมื่อช่วงเดือน พ.ค.2562 เมื่อปล่อยตัวก็กลับไปก่อเหตุซ้ำอีกตามที่เป็นข่าว
"คดีที่ผ่านมานั้นทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินคดีทุกคดีตามพยานหลักฐานและข้อกฎหมายครบถ้วน" นายประยุทธ รองโฆษกอัยการกล่าวยืนยัน
ทั้งนี้ "นายประยุทธ" รองโฆษกอัยการ กล่าวอีกว่า ส่วนคดีที่นายสมคิด ก่อเหตุขึ้นใหม่อีกนั้น อัยการจะมีแนวทางในการดำเนินคดีเพื่อให้ความมั่นใจกับสังคมและประชาชน โดยในการพิจารณายื่นฟ้องอัยการจะต้องดูประวัติการกระทำผิด รวมถึงพฤติการณ์เพื่อบรรยายในคำฟ้อง รวมถึงการนำสืบให้ศาลเห็นพฤติการณ์ของจำเลย ซึ่งหากจะต้องมีการดำเนินการฟ้องขอให้ลงโทษเด็ดขาดรุนแรงอัยการก็จะทำหน้าที่ตรงนั้นอย่างสุดความสามารถ เพราะพฤติกรรมการกระทำผิดในลักษณะฆาตกรต่อเนื่องถือว่าเป็นภัยอันตรายต่อสังคม
"ตามกฎหมายแล้วหากมีการกระทำผิดภายในระยะเวลา5 ปีหลังพ้นโทษ อัยการสามารถฟ้องขอให้ศาลเพิ่มโทษ 1 ใน 3 ได้ แต่หากเป็นข้อเท็จจริงว่าคดีใหม่นี้ เป็นคดีฆ่าโดยไตร่ตรองหรือฆ่าชิงทรัพย์ โทษสูงสุดจะประหารชีวิต ก็จะไม่สามารถเพิ่มโทษได้อีก"
เมื่อถามว่า หากยื่นฟ้อง แล้วจำเลยรับสารภาพ อัยการจะขอให้ศาลลงโทษสถานหนัก โดยไม่มีการลดโทษได้หรือไม่ "นายประยุทธ" กล่าวว่า เราจะไม่ก้าวล่วงการใช้ดุลยพินิจลงโทษของศาล แต่ก็มีหลักกฎหมายอยู่ว่า ถ้าการรับสารภาพของจำเลยหรือผู้ต้องหาไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน หรือชั้นพิจารณา เป็นประโยชน์ ศาลก็จะลดโทษให้ แต่ก็มีกฎหมายอีกจุดหนึ่ง ซึ่งตนเชื่อว่าอัยการก็จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าการที่จำเลยรับสารภาพนั้นไม่ใช่การสำนึกผิด แต่เป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน ให้ศาลเห็นว่าการกระทำที่ฆาตกรรมต่อเนื่องมา 5 คดี ไม่ได้ทำให้เข็ดหลาบ ที่ผ่านมาการทำหน้าที่ของอัยการถ้าเรานำสืบให้ศาลเห็นว่ารับสารภาพเพราะจำนนต่อพยานหลักฐาน ศาลก็จะไม่ยกประโยชน์ แต่ทั้งนี้ต้องดูข้อเท็จจริงในสำนวนคดีด้วย
เมื่อถามว่า คดีที่ผ่านมาศาลสั่งลงโทษจำคุกตลอดชีวิต แต่ในความเป็นจริงจำเลยติดคุกจริงเพียง 10 ปีเศษ และยังกลับมาก่อคดีซ้ำอีก มีความเห็นอย่างไร "นายประยุทธ" กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมตั้งคำถามเช่นกัน แต่คนที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดคือกรมราชทัณฑ์ แต่ขั้นตอนปฏิบัติต่างๆของกรมราชทัณฑ์ก็มีกฎหมายรองรับอยู่
"อย่างไรก็ตามหากกฎหมายที่ใช้อยู่นั้นเอื้อต่อผู้ต้องขังมากไป สังคมไม่ได้รับความปลอดภัยมากไปหรือไม่ ก็ต้องกลับพิจารณาที่ตัวบทกฎหมาย ส่วนจะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์กันหลายมุมและหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรมราชทัณฑ์ อัยการ ศาล นักอาชญาวิทยาตลอดจนนักวิชาการ ว่าถึงเวลาที่จะต้องแก้กฎหมายหรือไม่ เพียงใด" นายประยุทธ แสดงความเห็น