กรมการเกษตรยืนยัน "ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย" มือปราบศัตรูพืช
กรมวิชาการเกษตร ส่งต่อเทคโนโลยีพร้อมนวัตกรรมโรงผลิตชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยแบบง่ายผ่านเกษตรกรต้นแบบผลิตใช้เองพร้อมขยายผลสู่พื้นที่ข้างเคียง วางเป้าติดตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ 100 โรง เผยตลุยผลิตแล้ว 65 โรง ทึ่งนักรบใต้ดินช่วยลดต้นทุนใช้สารเคมีเกินคาดกว่า 3,000 บาท / ไร่
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า นอกจากงานวิจัยและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชกรมวิชาการเกษตรยังมีภารกิจสำคัญเป็นหน่วยงานวิจัยพัฒนาสารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชเพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรลดการใช้สารเคมี โดยสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวต้องผ่านการทดสอบศักยภาพในระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และทดสอบประสิทธิภาพในแปลงร่วมกับเกษตรกร เป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นองค์ความรู้ที่พร้อมถ่ายทอดนำไปต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์
ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทย เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด ได้แก่ หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก หนอนคืบ ด้วงหมัดผัก ด้วงเต่าแตง ด้วงทำลายใบกุหลาบและใบมะนาว หนอนแมลงนูนหลวง และปลวกทำลายรากมันสำปะหลัง โดยไส้เดือนฝอยจะเข้าไปขยายพันธุ์ในตัวแมลง จนแมลงเหลือแต่ซากไส้เดือนฝอยจะเคลื่อนที่ลงมาในดินเพื่อรอแมลงเป็นเหยื่อรายใหม่ต่อไป หรือหากไม่สามารถเข้าถึงตัวแมลงได้จะอาศัยอยู่นิ่งๆ ในดินมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าดินมีความชื้นเล็กน้อยแสงแดดส่องไม่ถูกตัวไส้เดือนฝอยจะมีชีวิตอยู่ได้นานเป็นปี จึงเป็นเสมือนกับนักรบใต้ดินที่คอยป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชไม่ให้เข้าทำลายพืชเป็นด่านแรก
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีความพร้อมในเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตขยายไส้เดือนฝอยอย่างง่ายระดับเกษตรกรทำใช้เอง รวมทั้งได้พัฒนาวิธีการเพาะขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยในโรงผลิตขยายระดับชุมชน ในรูปแบบโรงผลิตขยายขนาดเล็กโครงสร้างน๊อกดาวส์ที่มีความสะดวกในการขนย้ายและประกอบติดตั้งง่าย วัสดุมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้นานมากกว่า 10 ปี โดยโรงผลิตขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยจะช่วยให้การเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยแบบทำใช้เองประสบผลสำเร็จดีขึ้นในระดับชุมชน มีกระบวนการเพาะเลี้ยงแบบง่ายขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก สามารถผลิตไส้เดือนฝอยในโรงผลิตดังกล่าวได้จำนวนมาก เกษตรกรนำ ชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยไปใช้ทดแทนสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม สามารถลดต้นทุนการผลิตจากการใช้สารเคมีได้ถึง 3,000–4,000 บาท/ไร่/ครั้ง ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรจำนวน 12,000 บาท/ไร่/ครั้ง
โรงผลิตขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง เป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่เพื่อชุมชนเกษตรปลูกพืชปลอดภัยจากสารเคมีและเกษตรอินทรีย์ สามารถผลิตไส้เดือนฝอยได้จำนวนมากต่อรอบการผลิต เพียงพอต่อการนำไปใช้พ่นกำจัดแมลงครอบคลุมพื้นที่ปลูก 30 ไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการเพาะขยายไม่เกิน 100 บาท/ไร่ ที่สำคัญเกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะเลี้ยงด้วยตนเอง เพื่อให้มีไส้เดือนฝอยใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชตลอดฤดูปลูกเป็นการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยกรมวิชาการเกษตรมีเป้าหมายติดตั้งโรงผลิตชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 100 โรง ปัจจุบันได้ดำเนินการติดตั้งแล้ว 65 โรง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินเกษตรกรต้นแบบที่จะรับการถ่ายทอเทคโนโลยีการผลิตรวมทั้งความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้ง
“โรงผลิตขยายชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลงระดับชุมชน” ทุกโรงที่กรมวิชาการเกษตรผลิตขึ้นมา จะมี QR Code ติดอยู่ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้า เกษตรกรหรือผู้สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิตและใช้ไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง สามารถใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code เพื่อเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายรวดเร็ว ทันสมัย โดยไม่ต้องพึ่งพาเอกสารสิ่งพิมพ์ที่เป็นเล่มอีกต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว