คนอุบลฯ ร้องคณะกรรมการสิทธิ์ ยับยั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่
เครือข่ายคนอุบลฯ ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิ์ฯผ่านหมอนิรันดร์ ระงับโครงการนิวเคลียร์ในพื้นที่ด่วน หวั่นภัยแบบเชอร์โนบิลรัสเซีย มอนจูญี่ปุ่น หาคนรับประกันไม่ได้ ขอมีอำนาจตัดสินอนาคตตนเองแทน กฟผ.และรัฐบาล
วันที่ 8 ก.พ. ที่ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ยื่นจดหมายร้องเรียนต่อ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
โดยระบุว่าตามที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานไฟฟ้า 2010 ให้บรรจุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 5,000 เมกกะวัตต์ และมีข่าวการเสนอให้อุบลราชธานีเป็นจังหวัดลำดับแรกในการสร้าง โดยจะดำเนินการในเขตอำเภอสิรินธร เห็นได้จากการจัดเวทีประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ และมีการสำรวจพื้นที่ ทำงานมวลชนสัมพันธ์มาโดยตลอด จนกระทั่งมีความคืบหน้าว่าจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเดือนกุมภาพันธ์
ประชาชนอุบลราชธานีได้เคยรวมตัวกันคัดค้านเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย เพราะเป็นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นจึงมีข้อร้องเรียน ได้แก่ 1.ที่ผ่านมามีการจัดประมาณสื่อสารสาธารณะและสร้างการยอมรับของประชาชน 205 ล้านบาท แต่การประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลด้านเดียว และเลือกให้ข้อมูลกับประชาชนบางกลุ่มเท่านั้น ไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง
2.ผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรงได้ ดังเช่นกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของรัสเซียที่คาดการณ์ว่าประชาชน 1 ล้านคนเสียชีวิตอันเป็นผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุ ปัจจุบันเมืองพรีเพียตอันเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลก็ยังตกอยู่ในสภาพเมืองร้างไม่สามารถควบคุมการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ทั้งๆที่เวลาผ่านมาถึง 25 ปี จากการศึกษายังพบอีกว่าแม้จะพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาโดยตลอด แต่ปัจจุบันกลับยังไม่มีหลักประกันใดๆว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะปลอดภัยอย่างเต็มที่ ข่าวอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเคลียร์ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ธ.ค.38 โรงไฟฟ้ามอนจูของญี่ปุ่นซึ่งเป็นโครงการนิวเคลียร์ที่ทันสมัยที่สุดของโลก หลังจากเปิดเดินเครื่องเพียง 4 เดือนก็เกิดอุบัติเหตุจนต้องปิดโรงงานไม่มีกำหนด 3 ปี จากนั้นไม่นานก็มีอุบัติเหตุในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 2 แห่งของญี่ปุ่นจนต้องปิดกะทันหัน และอุบัติเหตุลักษณะเดียวกับในญี่ปุ่นก็เคยเกิดในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
3.การคัดเลือกพื้นที่อุบลราชธานีไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากมีข่าวระบุว่าเหตุผลที่เลือกเนื่องจากมีประชาชนคัดค้านน้อยกว่าจังหวัดอื่น แต่กลับละเลยความไม่เหมาะสมหลายด้านของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการที่อุบลราชธานีเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเขตชายแดน รวมทั้งการขนส่งและการกำจัดกากนิวเคลียร์ ด้วยองค์ประกอบดังกล่าวการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อุบลราชธานีจึงไม่น่าจะมีความเหมาะสม แต่กลับมีการเสนอว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด
จดหมายร้องเรียน ยังระบุว่าประชาชนในจังหวัดมีข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตรวจสอบข้อเท็จจริงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานี ระงับและยับยั้งการก่อสร้างโดยด่วน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน รวมทั้งขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นกลไกสนับสนุนให้ประชาชนอุบลราชธานีมีอำนาจตัดสินใจอนาคตตนเองในฐานะเจ้าของพื้นที่แทนที่จะให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจแทน
ทั้งนี้เครือข่ายคนไทยไม่เอานิวเคลียร์ จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วย เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลฯ กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูลและเขื่อนสิรินธร กลุ่มเยาวชนสืบสานภูมิปัญญา สภาองค์กรประชาชน เครือข่ายคนฮักน้ำของ กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลกลางหมู่บ้านคำสร้างไชย อาจารย์-นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ชมรมข้าราชการบำนาญและผู้สูงอายุ และประชาชนอุบลราชธานี .