ฉบับเต็ม! สตง.ชำแหละ พม.ซื้อผ้าห่มแจกคนจน122 ล. ปี 55 ข้อบกพร่องเพียบ- 'คนกลาง' โผล่
"...กรณีที่นำปลอกผ้าห่มซึ่งเป็นผ้า POLYESTER 100% มาดำเนินการ เกิดจากความไม่รู้หรือไม่มีความรู้ด้านเส้นใยผ้าห่มของผู้ตัดเย็บ ประกอบกับการสั่งซื้อผ้า กลุ่มอาชีพไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อด้วยตนเอง แต่จะมีคนกลาง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มเป็นผู้จัดซื้อและผู้จัดซื้อซึ่งเป็นคนกลางจะยืนยันว่าเป็นผ้าฝ้ายผสม POLYESTER..."
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำข้อมูลมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปก่อนหน้านี้แล้วว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มนวมกันหนาว ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นทางการแล้ว โดยพบข้อบกพร่องในหลายประเด็น อาทิ การจัดส่งสำเนาสัญญาว่าจ้างงานกับกลุ่มอาชีพ/ วิสาหกิจชุมชน ล่าช้า , คุณลักษณะของผ้าห่มไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและปลอกผ้าห่มนวมตัดเย็บไม่เรียบร้อย ไม่ประณีต และข้อกำหนดตามสัญญา สาเหตุทำให้การตัดเย็บผ้าห่มยังมีลักษณะที่แตกต่างกัน และไม่ได้มาตรฐานการตัดเย็บผ้าห่ม ทั้งด้านการตีลาย ฝีเข็มที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดจากการนำปลอกผ้าห่มซึ่งเป็นผ้า POLYESTER 100% มาดำเนินการ ซึ่งกลุ่มอาชีพไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อด้วยตนเอง แต่จะมีคนกลาง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มเป็นผู้จัดซื้อ (อ่านประกอบ : มี 'คนกลาง' สั่งซื้อของให้! ล้วงผลสอบผ้าห่มกันหนาว พม.1.2 พันล.-สตง.พบข้อบกพร่องเพียบ)
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า ในช่วงปี 2554-2560 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้จัดซื้อผ้าห่มนวมกันหนาวอย่างน้อย 44 ครั้ง จากวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ จำนวน ผืน ๆ ละ 240 บาท รวมทั้งสิ้น 1,250,877,000 บาท ทั้งหมด 863 สัญญา โดยทั้งหมดเป็นการจัดซื้อวิธีกรณีพิเศษจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเย็บผ้า อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มขวัญฤดีการค้า ,วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสุนทรการค้า วิสาหกิจชุมชนกรกนกผ้าห่มบ้านโพธิ์ชัยวิสาหกิจชุมชนวิไลวรรณเครื่องนอน จ.สกลนคร เป็นต้น โดยการจัดซื้อผ้าห่มดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีราคาสูงกว่าท้องตลาดที่ตั้งราคาขายส่งทั่วไปในราคาผืนละ 170 บาท เท่านั้น (อ่านประกอบ : ใช้วิธีพิเศษทั้งหมด!สาวลึกยอดจัดซื้อผ้าห่มแจกคนจน พม. พุ่ง1.2 พันล.อธิบดียันโปร่งใส, เจาะข้อมูลกรมพัฒนาสังคมฯจัดซื้อผ้าห่ม1.6ล้านผืนๆละ240บ.-ร้านขายส่งผืนละ170 บาท?, โชว์สเปคผ้าห่ม พม.ผืนละ 240 บาท อ้างอิงราคาปภ.-ร้านทั่วไปขายถูกกว่า 65 บ.?)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มนวมกันหนาว ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประจำปีงบประมาณ 2555 รวมวงเงินกว่า 122 ล้านบาท เป็นทางการ
โดยในปี 2555 กรมพัฒนาสังคมและ สวัสดิการ ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มนวมกันหนาวตามใบสั่งซื้อ-สั่งจ้าง จำนวน 84 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 122,680,000 บาท โดยมีกลุ่มอาชีพ/วิสาหกิจชุมชน เป็นผู้รับจ้าง
จากการตรวจสอบพบข้อบกพร่อง ดังนี้
1. การจัดส่งสำเนาสัญญาล่าช้า
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ จัดส่งสำเนาใบสั่งซื้อ-สั่งจ้าง ให้ สตง.ตามหนังสือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ที่ พม 0316.5/1272 ลงวันที่ 30 มกราคม 2555 จำนวน 82 ฉบับ คือ สำเนาใบสั่งซื้อ-สั่งจ้าง เล่มที่ 72 เลขที่ 09 - 53 และเล่มที่ 66 เลขที่ 77 - 96 รวม 80 ฉบับ ซึ่งทั้ง 80 ฉบับ ลงวันที่เดียวกัน คือ วันที่ 15 ธันวาคม 2554 และสำเนาใบสั่งซื้อ-สั่งจ้าง เล่มที่ 72 เลขที่ 70 - 71 รวม 2 ฉบับ ซึ่งทั้ง 2 ฉบับ ลงวันที่เดียวกัน คือวันที่ 20 ธันวาคม 2554 คิดเป็นเวลา 47 วัน และ 42 วัน ตามลำดับ นับแต่วันลงนามในสัญญาจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 135 ที่กำหนด “ให้หัวหน้าส่วนราชการส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ซึ่งมีมูลค่าตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปให้ สตง.ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลง”
2. คุณลักษณะของผ้าห่มไม่เป็นไปตามข้อกำหนดและปลอกผ้าห่มนวมตัดเย็บไม่เรียบร้อย ไม่ประณีต
2.1 ตามบันทึกข้อความ สำนักบริหารกลาง ส ่วนการคลัง ที่ พม 0316.5/13570 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2554 เรื่อง ขออนุมัติจัดซื้อผ้าห่มนวมกันหนาว โดยวิธีกรณีพิเศษ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอนุมัติให้ใช้ปลอกผ้าห่มที่ทำจากผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์ลายเดียวกันตลอดทั้งผืน หากต้องมีการต่อผ้าต้องทำด้วยฝีมือประณีตเรียบร้อยและให้ต่อผ้าได้ไม่เกินด้านละ 3 ชิ้น
แต่จากการตรวจสอบคุณลักษณะของผ้าห่ม พบว่า เส้นใย ปลอกผ้าห่มนวม มีคุณลักษณะเฉพาะไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการและข้อกำหนดตามสัญญากล่าวคือจากการส่งตัวอย่างผ้าที่ใช้ทำปลอกผ้าห่มที่นำมาจากผู้รับจ้างและผู้ใช้ประโยชน์ส่งไปทดสอบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร จำนวน 6 ตัวอย่าง และสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 3 ตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างผ้าที่ส่งไปทดสอบทุกชิ้น เป็นผ้าที่มีเส้นใย POLYESTER 100%
2.2 การตีลายปลอกผ้าห่ม ผู้รับจ้างมีการตีลายไม่ เหมือนกัน บางกลุ่มมีการตีลายรัดมุมผ้าห่มบางกลุ่มมีการเย็บขอบผ้าห่มโดยการเดินทับใยผ้าห่ม บางกลุ่มมีการตีลาย (เดินลาย) ในรูปแบบต่าง ๆ กัน และบางกลุ่มเย็บเพียงปลอกผ้าห่มเท่านั้น โดยไม่มีการเดินลายเพื่อตรึงเส้นใยสังเคราะห์กับปลอกผ้าห่ม ซึ่งการตรึงปลอกผ้าห่มกับใยสังเคราะห์นั้นจะมีผลทำให้ผ้าห่มมีคุณภาพดีขึ้น คงทนต่อการใช้งาน เนื่องจากใยสังเคราะห์จะไม่ไปรวมตัวกันเป็นก้อน เมื่อมีการใช้งานหรือนำไปซักเพื่อทำความสะอาด ดังนั้น การตัดเย็บผ้าห่มนวมโดยลดขั้นตอนดังกล่าว จะส่งผลให้ผ้าห่มนวมที่ได้รับมีคุณภาพที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
2.3 ฝีเข็มในการเย็บไม่เรียบร้อย ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากการตรวจสอบผ้าห่มที่ตัดเย็บแล้ว พบว่าการเย็บปลอกผ้าห่มในบางพื้นที่ผ้าห่มผืนเดียวกัน มีฝีเข็มที่ไม่เท่ากัน ห่างบ้างถี่บ้าง เย็บคดไปคดมาไม่เป็นเส้นตรงไม่สวยงามและไม่ได้มาตรฐาน
สาเหตุที่ทำให้การตัดเย็บผ้าห่มยังมีลักษณะที่แตกต่างกัน และไม่ได้มาตรฐานการตัดเย็บผ้าห่มทั้งด้านการตีลาย ฝีเข็มที่ไม่ได้มาตรฐาน เกิดจาก
1. กรณีที่นำปลอกผ้าห่มซึ่งเป็นผ้า POLYESTER 100% มาดำเนินการ เกิดจากความไม่รู้หรือไม่มีความรู้ด้านเส้นใยผ้าห่มของผู้ตัดเย็บ ประกอบกับการสั่งซื้อผ้า กลุ่มอาชีพไม่ได้เป็นผู้จัดซื้อด้วยตนเอง แต่จะมีคนกลาง ซึ่งไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มเป็นผู้จัดซื้อและผู้จัดซื้อซึ่งเป็นคนกลางจะยืนยันว่าเป็นผ้าฝ้ายผสม POLYESTER
2. กรณีการเย็บ เกิดจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการไม่ได้มีข้อกำหนดความชัดเจนในการเย็บ ผ้าห่มว่ามีลักษณะลายเช่นไร หรือต้องมีการตีลายเพื่อตรึงหรือยึดปลอกผ้าห่มกับเส้นใยสังเคราะห์หรือไม่ไม่ได้กำหนดความละเอียดของฝีเข็ม และมาตรฐานการตัดเย็บ
3.คณะกรรมการตรวจรับ ตรวจรับผ้าห่มไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา โดยตรวจรับผ้าห่มที่มีปลอกผ้าห่มนวมที่ไม่ได้ทำจากผ้าฝ้ายผสม POLYESTER สาเหตุอาจเนื่องมาจากคณะกรรมการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นใยที่นำมาใช้ในการทำปลอกผ้าห่ม
กรณีดังกล่าวส่งผลให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับผลกระทบ ดังนี้
ก. ผ้าPOLYESTER 100% โดยปกติแล้วจะมีราคาถูกกว่าผ้าฝ้ายผสม POLYESTERอยู่ประมาณ 30% และจากการสืบราคาตามท้องตลาดที่อยู่ทั่วไป พบว่า ผ้า POLYESTER 100% ถูกกว่า POLYESTER ผสมผ้าฝ้ายเสมอ กรณีดังกล่าวอาจมีผลทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย เนื่องจากกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับผ้าห่มที่ทำจากผ้าPOLYESTER 100% ซึ่งมีราคาถูกกว่าผ้าฝ้ายผสมผ้าPOLYESTERและไม่ถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา
ข.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจ่ายเงินในการจัดทำผ้าห่มตามสัญญาในราคาผืนละ 240 บาท เท่ากันทุกผืนและเท่ากันทุกสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่ไม่ได้กำหนดการเดินลาย การตรึงปลอกผ้าห่มกับเส้นใยสังเคราะห์ หรือรูปแบบและมาตรฐานการเย็บที่ชัดเจนไว้ทำให้ได้รับผ้าห่มที่มีการตัดเย็บที่แตกต่างกัน
มีผลทำให้ดังนี้
1) ผู้รับจ้างลดขั้นตอนในการตัดเย็บเพื่อลดเวลาและต้นทุนในการผลิตเพื่อให้เกิดผลต่างในด้านกำไรสูงสุด ซึ่งคุณภาพของผ้าห่มอาจได้คุณภาพต่ำลงเมื่อเทียบกับราคา
2) ผู้รับได้ของที่ไม่มีคุณภาพหรือคุณภาพที่แตกต่างกัน เมื่อเทียบกับราคา เช่น ความคงทนต่อการใช้งาน ความคงทนต่อการซัก
3)กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการอาจเสียภาพลักษณ์เนื่องจากไม่ได้ควบคุมให้ของที่จัดทำออกมาและแจกจ่ายให้กับประชาชนมีคุณภาพเดียวกัน
4) หากปล่อยปละละเลยในระยะยาวจะเป็นการส่งเสริมให้กลุ่มอาชีพมุ่งลดต้นทุนทางด้านการผลิต และไม่มีการพัฒนาทางด้านคุณภาพของสินค้า
5) การเย็บที่ไม่ได้กำหนดความชัดเจนของการเดินลาย การตรึงปลอกผ้าห่มกับเส้นใยสังเคราะห์และรูปแบบมาตรฐานการตัดเย็บ อาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของกลุ่มแม่บ้าน
ทั้งหมดนี่ คือ รายละเอียดผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มนวมกันหนาว ของ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ประจำปีงบประมาณ 2555 รวมวงเงินกว่า 122 ล้านบาท ของ สตง. ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลล่าสุด
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้รับแจ้งผลการตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างผ้าห่มนวมกันหนาวดังกล่าวเป็นทางการแล้วหรือไม่? ถ้าได้รับแล้วดำเนินการอย่างไรต่อบ้าง?
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/