แอมเนสตี้แถลงหลังอองซานซูจีโต้ข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงหลังจาก อองซานซูจี ได้โต้ข้อกล่าวหาเรื่องฆ่าล้างเผ่าพันธ์ุชาวโรฮิงญา ว่า อองซานซูจีไม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจของคนทั่วโลกจากวิกฤตที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับชาวโรฮิงญา
หลังฟังถ้อยแถลงของอองซานซูจีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธแลนด์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมาแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า อองซานซูจีต้องไม่เบี่ยงเบนความสนใจของคนทั่วโลกจากวิกฤตที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกับชาวโรฮิงญา การตอบโต้ข้อกล่าวหาเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจ หลอกลวง และเป็นอันตราย
นิโคลัส เบเคลัง ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า อองซานซูจีพยายามลดภาพความรุนแรงของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มประชากรชาวโรฮิงญา อันที่จริงเธอไม่ได้เรียกชื่อพวกเขาด้วยซ้ำ หรือไม่ยอมรับระดับความรุนแรงของการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้น การตอบโต้ข้อกล่าวหาเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างจงใจ หลอกลวง และเป็นอันตราย
การอพยพของคนเกือบล้านจากบ้านเรือนและประเทศของตนเอง ไม่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยอื่น นอกจากปฏิบัติการที่มีการประสานงานอย่างเป็นระบบเพื่อสังหาร ข่มขืน และสร้างความหวาดกลัว การระบุว่ากองทัพ ‘ไม่ได้แยกแยะอย่างชัดเจนเพียงพอระหว่างบุคคลที่เป็นนักรบกับพลเรือน’ เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ ในทำนองเดียวกัน การชี้ว่าทางการเมียนมามีศักยภาพเพียงพอที่จะสอบสวนและดำเนินคดีในตอนนี้อย่างเป็นอิสระ กับผู้ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นเรื่องในจินตนาการเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินคดีกับผู้บัญชาการทหารระดับสูงผู้ก่ออาชญากรรม ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาต่างลอยนวลพ้นผิดอย่างสิ้นเชิง
“แม้ในวันนี้โลกให้ความสนใจกับอองซานซูจี แต่โปรดระลึกว่า การดำเนินคดีครั้งนี้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริงกับความยุติธรรมสำหรับชุมชนชาวโรฮิงญา ซึ่งยังมีเหลืออยู่อีก 600,000 คนที่อาศัยอยู่ในรัฐยะไข่ พวกเขาเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมเพิ่มเติม และจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองอย่างเร่งด่วน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยอีกหลายแสนคนซึ่งไม่สามารถเดินทางกลับเมียนมาได้ แม้อองซานซูจีจะพูดอย่างไรในวันนี้ แต่ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอให้พวกเขาเดินทางกลับได้
“ศาลและประชาคมระหว่างประเทศควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองชาวโรฮิงญา และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ทารุณโหดร้ายยิ่งขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการสั่งการให้เมียนมายกเลิกมาตรการจำกัดสิทธิที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ดูแลให้มีการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับการสอบสวนใดๆ ก็ตามขององค์กรระหว่างประเทศ” นิโคลัสกล่าว
อองซานซูจี เป็นมุขมนตรีแห่งเมียนมาและประมุขโดยพฤตินัยของประเทศ ได้นำคณะผู้แทนจากเมียนมาไปที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาว่าเมียนมาละเมิดพันธกรณีของตนตามอนุสัญญาว่าด้วยการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ พ.ศ. 2491 เป็นคดีที่ฟ้องโดยประเทศแกมเบีย เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562
ในครั้งนี้เมียนมาได้ให้การต่อศาลเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของแกมเบียเป็นครั้งแรก โดยแกมเบียได้ขอให้ศาลสั่งให้เมียนมาใช้ ‘มาตรการชั่วคราว’ ‘เพื่อคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาวโรฮิงญา’ และป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำใดๆ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นหรือสนับสนุนให้เกิดอาชญากรรมการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ที่กระทำต่อชุมชนเหล่านี้ ระหว่างรอการไต่สวนอย่างเป็นทางการในคดีนี้
การวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูง 13 คนรวมทั้งพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.ทหารสูงสุดเมียนมา ควรถูกสอบสวนและดำเนินคดีจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญา