สธ.สั่ง รพ.ชายแดนเตรียมพร้อมเต็มพิกัดรับเหตุปะทะ ศธ.ปิด 48 รร.ชายแดน
ก.สาธารณสุข สำรองหมอ-เลือด-เวชภัณฑ์ 100% พร้อมรับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา จัด 7 แผนรับเหตุฉุกเฉิน ส่งทีมแพทย์ดูแลสุขภาพกาย-จิตชาวบ้านอพยพกว่า 6 พันคนที่ อ.กันทรลักษณ์ เฝ้าระวังอุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ มาเลเรีย ศรีสะเกษสั่งปิด 48 รร.หนีเหตุปะทะ 3 วัน
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ว่าทันทีที่เกิดการปะทะกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งศูนย์อำนวยการด้านการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนไทย-กัมพูชา โดยมอบหมายให้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ รองปลัด สธ.เป็นประธานศูนย์ มีคณะทำงานจากทุกกรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานกับกรมแพทย์ทหารบกมาร่วมงาน และได้สั่งการไปยังโรงพยาบาลตามแนวชายแดนทั้งหมดให้เตรียมพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ และให้ปลัดและรองปลัด สธ.เดินทางลงพื้นที่และรายงานความคืบตลอดเวลา
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ระบบบริหารจัดการที่จะเข้าไปดูแลผู้บาดเจ็บจะใช้โรงพยาบาลกันทรลักษณ์เป็นฐานด่านหน้า และมีโรงพยาบาลแม่ข่ายในการประสานงานรับส่งต่อ เช่น รพ.ศรีสะเกษ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และ รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ของกองทัพด้วย สำหรับการเตรียมพร้อมทั้งหมดได้จัดสำรองทีมศัลยแพทย์ 3 ทีมจาก รพ.ศรีสะเกษ รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ และ รพ.ค่ายสุรนารี หมุนเวียนไปประจำที่ รพ.กันทรลักษณ์ตั้งแต่วันเสาร์ และได้สำรองเลือดไว้พอเพียง สำรองห้องผ่าตัดตามโรงพยาบาลต่างๆในเครือข่าย รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลระบบสนับสนุนอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า วิทยุสื่อสาร
นอกจากนี้ยังเตรียมพร้อม 7 แผนงานรับเหตุฉุกเฉิดตลอดระยะเวลา ได้แก่ 1.แผนการป้องกันสถานพยาบาล 2.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ 3.แผนการให้บริการประชาชนในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข 4.แผนดูแลด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีผู้อพยพมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงจำนวนมาก ขณะนี้คาดว่ามีประมาณ 6,000 คน 5.แผนการใช้ อสม.ช่วยดูแลระบบสุขภาพอนามัยในศูนย์พักพิง 6.แผนการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต และ7.แผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือโรคระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคที่เกิดจากแมลงต่างๆ เช่น ยุง แมลงวัน
สถานการณ์ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นทหาร 1 ราย พลเรือน 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 34 ราย เป็นทหาร 30 ราย พลเรือน 4 ราย ส่วนใหญ่บาดเจ็บเล็กน้อย ต้องนอนพักในโรงพยาบาล 27 ราย เป็นทหาร 26 ราย พลเรือน 1 ราย สำหรับที่บาดเจ็บหนักมี 1 รายเป็นทหารส่งไปรักษาต่อที่ รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์แล้ว โดยผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อยู่ที่ รพ.ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ส่วนที่ยังค้างอยู่ที่ รพ.กันทรลักษณ์มี 4 รายเป็นทหาร 3 ราย พลเรือน 1 ราย และ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ อีก 1 ราย
สำหรับที่ศูนย์พักพิง กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และหน่วยปฐมพยาบาลไปให้บริการทุกจุด รวมทั้งหน่วยสุขภาพจิตจาก รพ.พระศรีมหาโพธิ์ และสรรพสิทธิประสงค์ อาการด้านสุขภาพจิตส่วนใหญ่จะวิตกกังวล นอนไม่หลับ ได้ให้ยาคลายประสาท โดยมีผู้มารับการตรวจคัดกรอง 1,165 ราย จำนวนนี้มีผู้รับยา 22 ราย และรับคำปรึกษา 49 ราย ส่วนโรคทางกายส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ยังไม่พบโรคอุจจาระร่วง นอกจากนี้ได้ส่งจิตแพทย์และนักจิตวิทยาจากกรมสุขภาพจิตลงไปดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายแล้ว
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ.กล่าวว่า รพ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาด 120 เตียง มีความพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ในการดูแลผู้เจ็บป่วย สำรองคลังเลือดไว้ 1,000 ยูนิต ส่วนเวชภัณฑ์อื่นมีความพร้อมเต็มที่ มีห้องผ่าตัด 10 ห้อง สำรองทีมแพทย์ศัลยกรรมอย่างน้อย 10 ทีม และได้สั่งการให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงประจำเขตไปช่วยอำนวยการด้านบริการการแพทย์ในพื้นที่ให้คล่องตัว
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่ากรมได้เฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นในจุดอพยพของประชาชนที่ อ.กันทรลักษณ์ เนื่องจากอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย กรมควบคุมโรคได้ส่งมุ้งชุบสารเคมีป้องกันยุงกัด 300 หลัง ยาทากันยุง 5,000 ซอง เจลล้างมือแอลกอฮอล์ 2,000 หลอด และหน้ากากอนามัย 3,000 ชิ้น และให้สำนักงานป้องกันโรคที่จังหวัดอุบลราชธานีดูแลใกล้ชิด .
ด้าน นายวรรณะ บุญสุข ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ศรีสะเกษ เขต 4 เปิดเผยว่าขณะนี้ได้สั่งปิดโรงเรียนใน อ.กันทรลักษ์ และ อ. ขุนหาญ ใน จ. ศรีสะเกษ ไปแล้ว 48 แห่ง จากเดิมที่สั่งปิดไปเพียง 20 แห่ง เนื่องจากโรงเรียนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากการปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชาบริเวณแนวชายแดน อ.กันทรลักษ์ โดยบางแห่งอยู่ในพื้นที่วิถีกระสุนโดยตรง รวมถึงกรณีที่สมาชิกครอบครัวทั้งหมดต้องอพยพไปยังศูนย์พักพิงทำให้บุตรหลานไม่สามารถไปโรงเรียนได้
อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่าครูและนักเรียนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขณะ ที่ ร.ร.ภูมิซรอลวิทยา ที่อาคารเรียน รั้วโรงเรียน ครุภัณฑ์ต่างๆได้รับความเสียหายจากระเบิดนั้น ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายได้
“ขณะนี้ทางเขตพื้นที่ได้ตั้งศูนย์ประสานงานรับความช่วยเหลือ ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่วมกันประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ร่วมกับฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่ายทหาร ทุกวัน โดยเบื้องต้นสั่งปิด 3 วัน ระหว่าง 7-9 ก.พ.นี้ หลังจากนั้นจะดูรออีกครั้ง” นายวรรณะ กล่าว
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่าได้รับรายงานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า ร.ร.ภูมิซรอลวิทยา ได้รับความเสียหายเบื้องต้น 3 ล้านบาท โดยจะของบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อให้ความช่วยเหลือให้สามารถเปิดทำการเรียนการสอนได้โดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ยังให้สานศึกษาในพื้นที่เตรียมความพร้อมช่วยเหลือ เป็นที่พักพิงแก่ประชาชน ในการอพยพเคลื่อนย้าย ตลอดจนให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงตลอดเวลาด้วย .
ที่มาภาพ : http://pantip.com/cafe/social/topic/U10207709/U10207709.html