ไขปม บ.เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี กับข้อกังวล TISA กรณี กม.ธุรกรรมฯ ให้เอกชนเข้าถึงข้อมูล ปชช.
"...ในปัจจุบันหลังจากที่ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้แล้ว มีบริษัทชื่อว่า บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกรรมออนไลน์ของคนไทยในยุคดิจิทัล การติดต่อกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ต้องให้บริษัท NDID มารับรองตัวตนเรา โดยมีค่าหัวคิว รายการละไม่เกิน 300 บาท อาทิเช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การซื้อประกันออนไลน์ การยื่นภาษีบุคคลและนิติบุคคล การต่อทะเบียนรถ การโอนรถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะจะทำให้บริษัทเอกชนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทางธุรกรรมทางการเงินของคนไทยได้ ..."
ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับที่ 4 ในช่วงรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าอาจจะมีการกำหนดให้มีการผูกขาดสัมปทานธุรกิจการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
เนื่องจากในมาตราที่ 34/4 ระบุว่า “เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน ให้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบธุรกิจ บริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลใดเป็นการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อน และให้นำบทบัญญัติในหมวด 3 ธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรม ทางอิเล็กทรอนิกส์ มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ขณะที่ในพระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งอาจกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลจะต้องปฏิบัติ และให้มีอำนาจพิจารณามีคำสั่งและดำเนินการอื่นใดตามมาตรา 34 ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจก็ได้
เพื่อไขข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการผูกขาดสัมปทานธุรกิจการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ที่ระบุไว้ในกฎหมายฉบับนี้ ตามที่ได้รับข้อร้องเรียน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ติดต่อไปยัง นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) เพื่อขอให้อธิบายที่มาที่ไปเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ และข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการผูกขาดสัมปทานธุรกิจการพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลดังกล่าว
นพ.สุธี อธิบายว่า ผู้ที่เสนอกฎหมายฉบับนี้ในช่วง คสช. ก็คือ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางด้านกระทรวงการคลัง เคยเสนอร่าง พ.ร.บ.การพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิทัลมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
นพ.สุธี ชี้ว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 4 ดังกล่าว จะส่งผลสำคัญคือทำให้มีบริษัททำหน้าที่เป็นบุคคลที่ 3 เป็นผู้ที่คอยดูรายละเอียดและเข้าถึงการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของคนไทย
"ในปัจจุบันหลังจากที่ พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลบังคับใช้แล้ว มีบริษัทชื่อว่า บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกรรมออนไลน์ของคนไทยในยุคดิจิทัล การติดต่อกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ต้องให้บริษัท NDID มารับรองตัวตนเรา โดยมีค่าหัวคิว รายการละไม่เกิน 300 บาท อาทิเช่น การเปิดบัญชีธนาคาร การซื้อประกันออนไลน์ การยื่นภาษีบุคคลและนิติบุคคล การต่อทะเบียนรถ การโอนรถยนต์ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเพราะจะทำให้บริษัทเอกชนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลทางธุรกรรมทางการเงินของคนไทยได้ จึงอยากฝากให้ทางสำนักข่าวอิศราและสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้องช่วยติดตามเรื่องนี้ด้วย"
@ นพ.สุธี ทุวิรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA)
ขณะที่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ทางกรรมาธิการฯ แม้จะยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเรื่องบริษัท NDID และการนำบริษัทที่เป็นบุคคลที่ 3 เข้ามาเกี่ยวข้องกับการยืนยันเรื่องธุรกรรมทางการเงินของประชาชน
อย่างไรก็ดี เท่าที่พอจะทราบรายละเอียดที่มาที่ไปของเรื่องนี้ คือ สาเหตุที่ต้องมีบริษัท NDID เข้ามาเพื่อมายืนยันธุรกรรมตัวตนทางออนไลน์นั้น มีปัญหามาจากการที่รัฐบาลซึ่งควรจะทำหน้าที่ในการยืนยันตัวบุคคลนั้นไม่ยอมทำ ก็เลยต้องมีเอกชนที่ว่านี้เข้ามาทำกันเอง ซึ่งเอกชนกลุ่มนี้ ก็คือ กลุ่มธนาคารที่ได้ลงขันกันทำบริษัทขึ้นมา และผลักดันฝ่ายรัฐให้ออกกฎหมายรับรองตัวตนของบริษัทนี้ขึ้นมา
“ตอนนี้มีประเด็นในเรื่องการคิดเงินอยู่ว่า ถ้าฝ่ายรัฐทำไม่ต้องคิดเงินก็ได้ แต่ปัญหาก็คือภาครัฐโดยกรมการปกครองนั้นไม่ยอมทำ เลยต้องมีบริษัทขึ้นมาทำส่วนว่าจะคิดเงินเท่าไรนั้น ผมเข้าใจว่าเขาคุยกันภายในแล้วนะ แต่ว่าเขาไม่ได้เสียเงินทุกครั้งที่โอนเงิน แต่จะเสียเงินทุกครั้งที่มีการยืนยันตัวตนออนไลน์"
"สมมติว่าผมมีบัญชีบริษัท S. อยู่ แล้วอยากจะไปเปิดบัญชีธนาคารกรุงเทพ แล้วผมอยากทำออนไลน์ ไม่อยากจะไปที่สาขาธนาคาร ผมก็ไปเปิดบัญชีว่าจะสมัครบัญชีหรือจะกู้เงินธนาคารกรุงเทพ ทางธนาคารกรุงเทพเขาก็โยนหน้าจอคุณไปที่ S. เพื่อให้คุณไปเข้าระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ของคุณ ซึ่งทาง S.เขาก็จะยืนยันตัวตนว่าเป็นตัวเราเข้ามาล็อกอินจริงๆไม่ใช่คนอื่นมาสวมรอยแทน ดังนั้นธนาคารกรุงเทพก็จะต้องจ่ายเงินให้กับทาง S. เพราะว่าธนาคารกรุงเทพได้ลูกค้า ส่วนว่าธนาคารกรุงเทพจะคิดเงินกับลูกค้าก็อยู่ที่การตัดสินใจของธนาคารกรุงเทพ”นายวรภพระบุ
เมื่อถามถึงข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของ TISA ว่าการที่มีบุคคลที่ 3เข้ามามีส่วนในการยืนยันตัวตนออนไลน์ทางธุรกรรมนั้นจะส่งผลต่อความปลอดภัยในด้านข้อมูลส่วนบุคคลหรือไม่ นายวรภพกล่าวว่า "เข้าใจในเรื่องการวางระบบของเขาว่าตัวบริษัท NDID นั้นเป็นระบบกลาง อย่างที่เล่าไปว่าเขาจะไม่เอาข้อมูลอะไรมาเลย แต่แค่จะส่งข้อมูลไปว่ามีคนล็อกอินเท่านั้น สมมติว่า ล็อกอินผ่านระบบบัญชีธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ของ S. ทางบริษัท NDID ก็จะส่งข้อมูลไปหาธนาคารกรุงเทพว่ามีการยืนยันตัวตนสำเร็จ เป็นเจ้าตัวจริงๆ เขาจะบอกแค่นี้แต่ไม่บอกอย่างอื่นเลยแต่ว่าทาง S. จะให้อะไรกับธนาคารกรุงเทพก็อยู่ที่จะมีการตกลงกัน โดยต้องมีความยินยอมจากเจ้าตัวด้วย แต่จะไม่มีการส่งข้อมูลไปให้ NDID เลย ทาง NDID จะเก็บข้อมูลแค่ว่ามีคนมาล็อกอินขอให้ยืนยันตัวตน ณ วันนี้ เวลานี้เท่านั้นเพื่อให้เจ้าตัวไปตรวจสอบทีหลังได้
“เท่าที่ผมทราบ ระบบเขาวางไว้ดีอยู่ แต่ว่าถ้าติดเรื่องค่าใช้จ่ายผมก็เข้าใจ แต่ผมคิดว่าตรงนี้ผู้บริโภคน่าจะได้ประโยชน์ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นทำอย่างไรให้มันลดลงก็ขึ้นอยู่กับว่าทางภาครัฐเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแบกรับในเรื่องของการยืนยันตัวตนบุคคลหรือยัง ซึ่งตรงนี้ถ้าจะบอกให้ภาครัฐเขามาทำทั้งหมดแทนก็คงจะไม่ทันแล้ว เพราะทางกลุ่ม NDID เขาก็ลงทุนไปแล้ว ส่วนถ้าภาครัฐบอกว่าอยากให้มันฟรีไปเลยในกระบวนการยืนยันตัวตน เขาก็ไปทำอีกระบบหนึ่งแล้วทุกคนมาใช้แบบฟรีๆ อันนี้ก็สามารถทำได้ แต่ก็อาจจะไปมีปัญหากับการที่เอกชนได้ลงทุนเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว” นายวรภพระบุ
@ นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด นั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2561 ทุน 350,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 252/125(A-B) อาคารเมืองไทย-ภัทร คอมเพล็กซ์ บี ชั้น 27 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร
แจ้งประกอบธุรกิจให้บริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ปรากฎชื่อ นาย ฐากร ปิยะพันธ์ นางสาว สุธีรา ศรีไพบูลย์ นาย ญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ม.ล. จิรเศรษฐ ศุขสวัสดิ์ นาย อานนท์ วังวสุ นางสาว อรรัตน์ ชุติมิต นาย สุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท นาง ประราลี รัตน์ประสาทพร นางสาว สุชาดา พุทธรักษา นาย ธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ นาย พงษ์พันธุ์ สุขยางค์ นาง สุภาภรณ์ สายทองอินทร์ นาย วีระชัย อมรถกลสุเวช นาย กิตติ สุทธิอรรถศิลป์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ 20 สิงหาคม 2562 ธนาคารออมสิน ถือหุ้นใหญ่สุด 15.0000% 52,500,000 บาท ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 7 % 24,500,000 บาท บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 7% มูลค่า 24,500,000 บาท บริษัท แอสโก้ส่งเสริมธุรกิจ จำกัด 7% 24,500,000 บาท บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 6.8531% 23,985,700 บาท บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 6.3469% 22,214,300 บาท บริษัท ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) 6.1535% 21,537,400 บาท บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด 5.8343% 20,420,000 บาท บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 5.8154% 20,353,800 บาท บริษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4.4504% 15,576,300 บาท บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด 2.4666% 8,633,200 บาท บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด 2.4665% 8,632,900 บาท บริษัท ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) 2.0166% 7,058,000 บาท บริษัท ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) 1.8% 6,300,000 บาท บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 0.7074% 2,476,000 บาท บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด 0.7074% 2,476,000 บาท บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด 0.7074% 2,476,000 บาท บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด 0.7074% 2,476,000 บาท บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบัวหลวง จำกัด 0.7074% 2,476,000 บาท บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 0.6480% 2,267,900 บาท บริษัท พรูเด็นเชียล ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 0.6480% 2,267,900 บาท บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 0.6480% 2,267,900 บาท บริษัท เอ ไอ เอ จำกัด สัญชาติฮ่องกง 0.6480% 2,267,900 บาท บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 0.6480% 2,267,900 บาท บริษัท ฟิลลิปประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) 0.6479% ไทย 2,267,700 บาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/