สปสช.บูรณาการระบบจ่ายชดเชย เพิ่มความสะดวกให้ รพ.
สปสช.เพิ่มศักยภาพบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ “บูรณาการรวมระบบบริหารการจ่ายชดเชย” ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพจัดสรรเงินกองทุน ถูกต้อง ครบถ้วน ตรงเวลา ง่ายต่อการกำกับติดตาม พร้อมช่วยหน่วยบริการประมาณการรายรับและตารางโอนเงินล่วงหน้า เอื้อบริหารจัดการ
นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในการจัดสรรงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.มีการจัดสรรเงินและการจ่ายชดเชยค่าบริการที่หลากหลาย นอกจากการจ่ายตามจำนวนประชากรที่ดูแลในพื้นที่หรือที่เรียกว่างบเหมาจ่ายรายหัวที่จัดสรรงบประมาณให้หน่วยบริการเพื่อจัดบริการให้กับประชากรผู้มีสิทธิในพื้นที่แล้ว ยังมีการจ่ายตามรายการบริการที่หน่วยบริการเรียกเก็บ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับบริการ เช่น การรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉินผู้ป่วยนอกที่ไปรับบริการนอกจังหวัด การรับบริการตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP นอกจากนี้ยังมีการจ่ายตามรายการบริการ (Fee Schedules) ที่เป็นรูปแบบการจ่ายที่มีเพดานกำหนด เพื่อกระตุ้นให้หน่วยบริการจัดบริการ อาทิ การผ่าตัดตาต้อกระจก การใส่สายสวนหัวใจ เป็นต้น
นพ.การุณย์ กล่าวว่า การดำเนินงานภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ได้รับบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน อีกทั้งสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความครอบคลุมที่กว้างขวาง จึงทำให้มีกองทุนย่อยหลายกองทุน มีกลไกการจัดสรรเงินและการจ่ายชดเชยที่หลากหลาย มีผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการหลายกลุ่มภารกิจ และบางกองทุนย่อยก็ได้มอบหมายให้ทาง สปสช.เขตพื้นที่ทั้ง 13 เขตเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ และโปรแกรมการเบิกจ่ายที่แตกต่างกันออกไป ยากต่อการติดตามการเบิกจ่าย เกิดภาระด้านธุรกรรมเบิกจ่าย มีความซ้ำซ้อนการทำหน้าที่เบิกจ่ายในหน่วยงาน ส่งผลให้การกำกับติดตามมีความซับซ้อน ขณะเดียวกันหน่วยบริการก็มีความยุ่งยากในการเบิกจ่ายค่าบริการ
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช.มีนโยบายให้มีการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการเบิกจ่ายโดยให้บูรณาการรวมระบบการบริหารการจ่ายชดเชย และมอบหมายให้กลุ่มภารกิจบริหารกองทุนดำเนินการทำหน้าที่เบิกจ่ายชดเชยให้กับหน่วยบริการ อาทิ บริการตรวจไทรอยด์เด็กแรกเกิด บริการแพทย์แผนไทย บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง บริการส่งเสริมและป้องกันด้านทันตกรรม บริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ บริการตรวจคัดกรองวัณโรค บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ บริการจิตเวชชุมชน และค่าเสื่อมระดับเขต/จังหวัดและสังกัดอื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้การปรับระบบการเบิกจ่ายจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อหน่วยบริการ และต้องมีการแจ้งทำความเข้าใจกับหน่วยบริการให้รับทราบก่อนการดำเนินการ
ด้าน พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ผู้อำนวยการอาวุโส ประธานกลุ่มภารกิจบริหารกองทุน สปสช. กล่าวว่า ผลที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการในครั้งนี้ นอกจากเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการจัดสรรเงินกองทุนแล้ว ยังส่งผลให้การจัดสรรเงินดำเนินไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตรงเวลาตามตารางการจัดสรรเงินและโอนเงิน ซึ่งหน่วยบริการรับรู้ประมาณการรายรับและตารางการโอนเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณเพื่อประกอบการดำเนินกิจการ มีระบบข้อมูลเพื่อการกำกับติดตาม ประกอบด้วย ข้อมูลผลงานการให้บริการ ทั้งจำนวนผู้ป่วยและจำนวนบริการ ที่จำแนกรายการรับบริการ, จำแนกรายหน่วยบริการ/รพ.สต.ที่ให้บริการ ข้อมูลการจัดสรรเงินค่าบริการและการคาดการณ์งบประมาณ และข้อมูลประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบบริการเทียบกับงบประมาณที่ใช้ การกำกับติดตามคลังยาและเวชภัณฑ์ในระบบ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบรายงานที่มีการบูรณาการแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลประเมินผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ที่มีความครบถ้วนเพิ่มขึ้น
“การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงระบบมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ แต่ยังรวมถึงการบริหารจัดการกองทุน การปรับระบบการจัดสรรและกระจายงบประมาณ และการจ่ายชดเชยบริการเช่นในครั้งนี้ ซึ่งแม้จะเป็นการปรับระบบเพื่อประสิทธิภาพภายใต้องค์กรเอง แต่มีประโยชน์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้กับหน่วยบริการที่เป็นภาคส่วนสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเช่นกัน” พญ.กฤติยา กล่าว