นราฯจมบาดาล ตันหยงมัส-โกลกสำลักน้ำ!
"ปีนี้น้ำมาเยอะมาก เดือดร้อนเข้าไปถึงคนข้างในหมู่บ้าน เพราะน้ำเข้ามาเยอะ น้ำสีน้ำตาลเลย คนแถวตันหยงมัสโดนหนัก เพราะตรงนั้นน้ำไหลออกช้า ชาวบ้านเดือดร้อนเยอะมาก"
เป็นเสียงจาก รอมียะ ดอเลาะ ชาวบ้านนราธิวาสแท้ๆ ที่ปีนี้เจออุทกภัยใหญ่ส่งท้ายปี
บ้านของรอมียะ อยู่หมู่ 2 ต.ดูซงญอ อ.จะแนะ นางเล่าว่าจุดที่ตนเองอาศัยอยู่ยังไม่เดือดร้อนหนักมาก เพราะน้ำลงเร็ว แต่ที่หนักและรู้สึกเป็นห่วงแทนคือที่ตันหยงมัส ศูนย์กลางเศรษฐกิจและการคมนาคมสำคัญของ อ.ระแงะ ต้นกำเนิดลองกองตันหยงมัสที่โด่งดังไปทั้งประเทศ
สถานการณ์น้ำท่วมสูงถึง 2 เมตร แทบมิดหลังคา ทำให้ผู้ว่าฯเอกรัฐ หลีเส็น ลงพื้นที่เป็นการด่วน เมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค. พร้อมมอบข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม ให้กับประชาชนผู้ประสบภัย ชาวบ้านสว่นใหญ่อพยพไปอาศัยอยู่ที่มัสยิด ขณะที่ทางราชการเปิดศูนย์ช่วยเหลือที่เทศบาลตำบลตันหยงมัส
ที่ตันหยงมัส หลายครอบครัวมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ เมื่อน้ำท่วมทำให้ยากแก่การเคลื่อนย้ายและอพยพ ผู้ว่าฯเอกรัฐ จึงเดินทางไปเยี่ยมถึงเรือนชาน เช่น ที่บ้านเลขที่ 11 หมู่ 2 ต.ตันหยงมัส ไปมอบข้าวสาร อาหารแห้ง และให้กำลังใจครอบครัว นายเจิม อยู่ดี ผู้สูงอายุของตำบล
กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กทารก เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องเร่งค้นหาเพื่อให้ความช่วยเหลือช่วงน้ำท่วมใหญ่ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้ตั้งศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาคารอำนวยการ ชั้น 1 ศอ.บต. ในอำเภอเมืองยะลา มีการมอบหมายให้บัณฑิตอาสา นักประชาสัมพันธ์ และเครือข่ายวิทยุในแต่ละพื้นที่ สำรวจข้อมูลและความต้องการความช่วยเหลือของผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มของผู้ป่วยที่จะต้องได้รับการฟอกไต และกลุ่มของเด็กแรกเกิดที่ต้องการนมผง หรืออาหารเสริมต่างๆ เป็นการด่วน
สำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือด่วน สามารถประสานมายังเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ได้ที่สายด่วน 1880
จังหวัดนราธิวาสมีทั้งสิ้น 13 อำเภอ ทางราชการได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้ว 11 อำเภอ ได้แก่ อ.สุไหงโกลก อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี อ.ระแงะ อ.ยี่งอ อ.จะแนะ อ.เมืองนราธิวาส อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.แว้ง และ อ.ตากใบ จำนวน 49 ตำบล 209 หมู่บ้าน 39 เขตเทศบาล มีผู้ประสบภัยทั้งสิ้น 30,573 คน จำนวน 16,051 ครัวเรือน และมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ อ.สุไหงโกลกไปยังโรงเรียนเทศบาล 4 จำนวนทั้งสิ้น 150 คน 36 ครัวเรือน
ผู้ว่าฯนราธิวาสยังได้ประชุมทางไกลแบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ กับนายอำเภอหรือผู้รับผิดชอบทั้ง 13 อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยย่างใกล้ชิด เน้นย้ำทุกอำเภอให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุด พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยทุกระยะผ่านสื่อทุกช่องทาง
ความเดือดร้อนอีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ดินสไลด์ถล่มปิดทับเส้นทาง ส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ติดภูเขา แต่ละจุดทางจังหวัดได้ส่งเครื่องจักรกลหนักเข้าคลี่คลายสถานการณ์
นายมาหะมะพีสกรี วาแม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 12 สงขลา ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในนราธิวาส และได้สั่งการให้ดึงมวลน้ำจากในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส บริเวณคลองยะกัง เพื่อระบายออกสู่ทะเล โดยให้สำนักงานชลประทานจังหวัดนราธิวาสติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 5 เครื่องระดมสูบน้ำ
ส่วนที่สะพานโกลก ด่านศุลกากรสุไหงโกลก ที่มีน้ำล้นตลิ่ง สูงกว่าตลิ่งเกือบ 2 เมตร ล่าสุดท้องฟ้าเปิด ฝนไม่ตกเพิ่ม คาดว่าน้ำจะค่อยๆ ลดระดับ และเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 7-10 วัน ขณะนี้ได้นำเรือออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพื่อให้แสงส่องสว่าง
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 3-7 ธ.ค.62 คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไป ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
----------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเจ้าหน้าที่ชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย