‘แก้วสรร’ขยับ!นำผู้เสียหายสหกรณ์คลองจั่นฯ ร้องอสส.สั่งฟ้อง‘อนันต์’ฟอกเงินขายที่ดิน
‘แก้วสรร’ขยับ!นำผู้เสียหายสหกรณ์คลองจั่นฯ ร้องอสส.สั่งฟ้อง‘อนันต์’ฟอกเงินขายที่ดิน
เว็บไซต์แนวหน้าออนไลน์รายงานว่าที่ห้องประชุม 303 สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ ชมรมคุ้มครองสิทธิสมาชิกเจ้าหนี้รายย่อยสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ประกอบด้วย ผู้เสียหายคดีฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯ นำโดยนายธรรมนูญ อัตโชติ ผู้รับมอบอำนาจ และนายแก้วสรร อติโพธิ ที่ปรึกษากฎหมายชมรมฯ เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด(อสส.) ขอให้มีคำสั่งฟ้องนายอนันต์ อัศวโภคิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกาย คดีฟอกเงินสหกรณ์คลองจั่นฯ โดยมีนายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนรับเรื่อง
นายแก้วสรร กล่าวว่า คดีนี้พบการส่งเงินจำนวน 321 ล้านบาท เข้ามูลนิธิวัดพระธรรมกาย เป็นเงินจากบัญชีนายอนันต์ที่อ้างว่าขายที่ดินได้ 1 แปลง จึงแบ่งมาถวายทำบุญ แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สอบสวนพบว่าที่ดินแปลงนี้แท้จริง นายศุภชัยใช้เงินที่ยักยอกจากสหกรณ์ฯ 321 ล้านบาท มาซื้อบริษัทเอ็มโฮม ฯเพื่อจะนำที่ดินของบริษัท 3 แปลงไปขายค้ากำไร แต่เพื่อซ่อนเร้นจึงต้องฟอกชื่อบริษัท เอ็มโฮมฯไม่ให้ปรากฏ แล้วปลอมสัญญาให้บริษัท เอ็มโฮมฯขายที่ดินให้นายอนันต์ก่อน โดยไม่มีการชำระเงินค่าที่ดินกันจริงๆ จากนั้นจึงใช้ชื่อนายอนันต์ขายที่จริงๆ อีกครั้งหนึ่ง จนได้เงินมา 421 ล้านบาท แล้วใช้ชื่อนายอนันต์แบ่งถวายให้วัด 301 ล้านบาทในที่สุด
นายแก้วสรร กล่าวต่อไปว่า คดีนี้ดีเอสไอสรุปสำนวนว่าเป็นการฟอกเงิน 3 ครั้ง กลายเป็นเงินถวายวัดทำบุญ แต่อัยการกลับมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า หลักฐานการกระทำของนายอนันต์ไม่เพียงพอให้ฟังได้ว่าร่วมฟอกเงินกับนายศุภชัย ผู้เสียหายเห็นว่าแม้ความจริงอาจจะตกลงกันให้นายอนันต์ทำเพียงเซ็นใบมอบฉันทะซื้อขายที่ดินและใบฝากถอนเงินธนาคาร ก็ถือเป็นการสมคบแบ่งงานกันทำได้
ส่วนคดีแพ่งที่ยุติไป เพราะนายศุภชัยขายที่ดินบริษัทฯเอ็มโฮมแปลงหนึ่ง แล้วนำเงินมาชำระคืนผู้เสียหายครบ 321 ล้านบาท ทำให้อัยการเห็นว่าผู้เสียหายได้เงินครบจากการขายที่ดินแล้ว ที่ดินที่เหลือจึงเป็นกรรมสิทธิ์โดยแท้ของบริษัท เอ็มโฮม ฯไม่ใช่ของโจรอีกต่อไป
“ผู้เสียหายเห็นว่า เมื่อนายศุภชัยใช้เงินยักยอกซื้อกิจการบริษัททั้งหมดแล้ว ที่ดินทั้งหมด 3 แปลง ของบริษัทต้องเป็นของไม่ถูกต้อง ฟอกแปลงใด เมื่อใดก็ผิดฟอกเงินเมื่อนั้น อัยการจะนำการชดใช้ทางแพ่งมาทำให้ที่ดินแปลงใดหมดความผิดไม่ได้ คดีฟอกเงินเป็นอาญาแผ่นดินยอมความกันไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการปราบปรามองค์การอาชญากรรมที่เป็นภัยต่อสังคม แม้ผู้เสียหายจะได้เงินจนยอมความทางแพ่งแล้วก็ตาม แต่กฎหมายก็จะไม่สนใจ ยังให้ลงโทษและริบเป็นของแผ่นดินอยู่ดี” นายแก้วสรร กล่าวแย้งอัยการปมชำระเงินคืนผู้เสียหาย
นายแก้วสรร ยังเรียกร้องให้นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ในฐานะอดีตอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ มอบอำนาจให้แก่รองอัยการสูงสุดในการสั่งสำนวนคดีนี้แทน โดยเขามองว่านายวงศ์สกุลในฐานะอดีตอธิบดีฯ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่อัยการผู้รับผิดชอบสำนวนมาก่อน ถ้าขณะนั้นเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง ปัจจุบันเป็นอัยการสูงสุดก็ต้องสั่งไม่ฟ้องอีก และตั้งข้อสงสัยประเด็นเหตุผลสั่งไม่ฟ้องที่ว่าคืนเงินไปแล้วที่ดินที่เหลือจึงไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย มีในสำนวนดีเอสไอมาตั้งแต่แรก เมื่ออัยการรับสำนวนแล้วก็สั่งไม่ฟ้องได้เลย แต่กลับมีการสั่งสอบเพิ่มเติม ทำให้คลางแคลงใจว่าวางแผนดึงรอจังหวะกันหรือไม่
ด้านนายประยุทธ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า คดีนี้อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 สั่งไม่ฟ้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน แต่กระบวนการสั่งสำนวนยังไม่จบ ขณะนี้เสนอไปยังอธิบดีดีเอสไอพิจารณา ยังไม่ถึงที่สุด จะถึงที่สุดเมื่ออธิบดีดีเอสไอเห็นพ้องด้วย แต่ถ้าดีเอสไอเห็นแย้ง จะส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเป็นคนสุดท้ายว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ส่วนที่คณะทำงานอัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น คณะทำงานรายงานว่าศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้คืนเงิน นายอนันต์ถือครองที่ดินหลังจากศาลแพ่งพิพากษาตามยอม จึงไม่มีจุดเชื่อมโยงนายอนันต์ ประเด็นที่ดีเอสไอเห็นไม่ตรงกับทางอัยการคณะทำงาน เป็นเรื่องดีเอสไอสามารถแย้งได้อยู่แล้ว
ส่วนประเด็นการสั่งสำนวนนั้น นายประยุทธ ชี้แจงว่า ผู้ที่สั่งสำนวนคดีนี้คือนายธนวรรษ ว่องไวทวีวงศ์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ ไม่ใช่นายวงศ์สกุล โดยหลักการทำงานอยู่บนสำนวน มีกฎหมายรองรับ มีหน่วยงานตรวจสอบ ออกแบบให้ถ่วงดุลตรวจสอบอยู่แล้ว อย่าเอาความรู้สึกมาประกอบ ทางดีเอสไอก็มีอิสระในการพิจารณา ตนไม่รู้ทราบเท็จจริงในสำนวน ทั้งหมดเป็นประเด็นที่ต้องรับฟัง ซึ่งตนไม่สามารถสรุปได้