ก.แรงงานเตรียมปรับสิทธิประโยชน์ประกันสังคมเท่าบัตรทอง
รบ.เตรียมทบทวนสิทธิประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ขรก.-ประชาชน-ผู้ประกันตน รมว.แรงงานสั่งเพิ่มสิทธิรักษา สปส.ไม่น้อยหน้าบัตรทอง ยืนยันยังดีกว่าทั้งบำเหน็จบำนาญ-ชดเชยว่างงาน สั่งตั้ง กก.สอบร้องเรียน รพ.เพิ่ม ผู้นำแรงงานค้านเหมาจ่ายรายหัวทำ รพ.บริการแย่ เสนอ สปส.รักษาได้ทุกโรค-ทุก รพ.
นายสุธรรม นทีทอง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประกันสังคม เปิดเผยว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มอบนโยบายแก่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ตั้งคณะอนุกรรมการติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียนโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมเพิ่ม เนื่องจากคณะอนุกรรมการที่มีในปัจจุบันทำงานไม่ทันกับจำนวนข้อร้องเรียน
ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักบริการทางการแพทย์ระบุว่าในปี 2551 ได้รับเรื่องร้องเรียน 1,469 ราย ปี 2552 จำนวน 996 ราย และปี 2553 มี 1,028 ราย
นอกจากนี้ในส่วนของสิทธิ์การรักษาพยาบาลที่ยังน้อยกว่าสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ตามที่มีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขทำวิจัยออกมานั้น นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.แรงงานได้ให้นโยบายคณะกรรมการประกันสังคมพิจารณาการเพิ่มสิทธิ์ให้เทียบเท่าหรือดีกว่าบัตรทอง
อย่างไรก็ตามนายสุธรรมยืนยันว่าโดยภาพรวมระบบประกันสังคมดีกว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีสิทธิ์ประโยชน์อื่น โดยเฉพาะสิทธิ์บำเหน็จ บำนาญชราภาพ การจ่ายชดเชยการขาดรายได้ รวมทั้งจ่ายค่าชดเชยการว่างงาน ทั้งนี้รัฐบาลกำลังจะมีนโยบายทบทวนสิทธิ์ประกันสุขภาพที่มีทั้ง 3 ระบบ คือ ข้าราชการ ประชาชนทั่วไป และผู้ประกันตน เนื่องจากรัฐบาลมีหน้าที่อุดหนุนค่ารักษาพยาบาลทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ส่วนการบริการที่ยังด้อยคุณภาพก็ได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะตรวจสอบมากขึ้น
โฆษกกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงกรณี 5 โรงพยาบาลเรียกร้องขอเพิ่มค่าหัวการรักษาพยาบาล พร้อมทั้งระบุว่าอาจมีการทยอยออกจากโรงพยาบาลคู่สัญญาหากไม่มีการปรับเพิ่มค่าหัว ว่ามีโรงพยาบาลอีกกว่า 1 , 000 แห่งที่สนใจเข้าร่วมและพร้อมรับอัตราค่าบริการรายหัวปัจจุบัน
ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ สปส.ต้องเร่งปฏิรูปให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาที่อย่างน้อยเท่ากันหรือดีกว่าบัตรทอง เพราะเป็นคนกลุ่มเดียวในประเทศที่ต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลจากการหักเงินสมทบ
“ผู้ใช้แรงงานไม่เห็นด้วยกับวิธีจ่ายเงินให้โรงพยาบาลแบบเหมาจ่ายรายหัว เพราะทำให้เกิดปัญหาคุณภาพการรักษา โดยโรงพยาบาลพยายามหลีกเลี่ยงการรักษาที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และขอเรียกร้องให้สปส.ขยายความคุ้มครองให้บัตรประกันสังคมสามารถรักษาได้ทุกโรคและทุกโรงพยาบาล รวมถึงการตั้งโรงพยาบาลประกันสังคม 4 มุมเมือง สนองความต้องการของผู้ประกันตน”นายมนัส กล่าว
นางสมพร ทองชื่นจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สปส.กล่าวว่า ระบบการรักษาพยาบาล สปส.กับ สปสช.นั้นต่างกัน เช่น ผู้ป่วยยาเสพติดประกันสังคมไม่คุ้มครองเพราะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ส่วนโรคไตประกันสังคมให้ฟอกไตด้วยเครื่องทันทีไม่จำเป็นต้องล้างไตผ่านช่องท้องก่อนเหมือนบัตรทอง หากผลการรักษาทำให้ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตก็มีเงินทดแทนให้ เรื่องการฟื้นฟูร่างกายหลังรักษาประกันสังคมจะใช้วิธีจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ ประกันสังคมยังมีการจ่ายเงินเพิ่มให้กับโรงพยาบาลนอกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว เช่น 26 โรคเรื้อรังที่เหมาจ่ายให้ 1,404 บาท แต่หากมีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มก็จะจ่ายให้อีกหัวละ 100 บาทต่อคนต่อปี ส่วนโรคที่มีภาวะเสี่ยงจะเป็นโรคเรื้อรังจะเหมาจ่ายให้อีกหัวละ 469 บาท และหากเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองว่ามีมาตรฐานจะได้รับเพิ่มอีก 77 บาทต่อคนต่อปี
“สำหรับข้อเสนอให้ผู้ประกันตนเลือกใช้สิทธิการรักษาพยาบาลในระบบบัตรทองหรือประกันสังคมได้นั้น ต้องหารือในคณะกรรมการประกันสังคม ฝากให้คิดว่ารัฐบาลจ่ายให้ประกันสังคมเรื่องการรักษาพยาบาล 800 บาทต่อคนต่อปี ขณะที่จ่ายให้บัตรทอง 2,544 บาทต่อคนต่อปี จะเป็นการสร้างภาระให้กับระบบการเงินการคลังระยะยาวหรือไม่” นางสมพร กล่าว.