สช.จับมือบีโอไอ ศึกษาการลงทุนสุขภาพเพื่อสังคม
“หมออำพล” เตือนนโยบายลงทุนสุขภาพรัฐ ทำแพทย์สมองไหล ถ่างช่องว่างเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข เตรียมทำหนังสือถึง สธ.ชี้ “เมดิคัลฮับ” ผิดธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ เสนอปรับทิศหนุน รพ.เล็ก-สร้างหมอประจำครอบครัว
วันที่ 2 ก.พ.ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. พร้อมด้วยนางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาการลงทุนคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และนายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุนบีโอไอ ร่วมเวที สช.เจาะประเด็น กรณีปรับทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมสุขภาพ
นพ.อำพล กล่าวว่าต้องระวังการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพ ที่เกิดผลกระทบภาวะสมองไหลของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขไปยังโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นโดยเฉพาะกรณีศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิเคิลฮับ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการอยู่นั้นทาง สช.กำลังให้คณะทำงานศึกษาและจะมีหนังสือถึงกระทวงอย่างเป็นทางการ เนื่องจากนโยบายเมดิเคิลฮับได้มุ่งไปสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งผิดหลักการของธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุว่ารัฐไม่พึงให้การสนับสนุนหรือสิทธิพิเศษทางภาษีและการลงทุนกับบริการสาธารณสุขที่มุ่งเน้นผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
“การส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจบริการสุขภาพ จะยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะทุกวันนี้ก็มีการดูดแพทย์ระดับผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐไปสู่ภาคเอกชนมากขึ้นอยู่แล้ว ควรปรับทิศทางมาสนับสนุนบริการสุขภาพที่จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทย เช่น สนับสนุน รพ.ขนาดเล็กระดับปฐมภูมิ ซึ่งในกทม.จะมีปัญหามาก เนื่องจาก รพ.ในปัจจุบันมีการตรวจร่างกายแบบแยกส่วน ไม่มีระบบครบวงจร ควรสร้างให้เกิดหมอประจำครอบครัวที่มีข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบและสามารถส่งต่อไปยังรพ.ใหญ่ในกรณีที่มีความจำเป็นซึ่งในประเทศไทยยังไม่เคยมี” เลขาธิการสช.กล่าว
นางหิรัญญา กล่าวว่าบีโอไอดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะในภาคเอกชน ก่อนเสนอขยายขอบข่ายการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพได้มีการศึกษาและจัดประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ทราบว่าขัดต่อธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ แต่เมื่อมีคำสั่งให้ชะลอมติดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดผลต่อการดำเนินงานในภาพรวม แต่ได้หารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาบีโอไอจะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพแบ่งเป็น 3 เขต โดยเขตเมืองจะได้รับสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด ทำให้ 10 ปีที่ผ่านมีเฉพาะ รพ.เอกชนในต่างจังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการลงทุนด้วยการยกเว้นภาษีเพียง 18 แห่ง ดังนั้นในการประชุมครั้งล่าสุดได้มีข้อเสนอเตรียมขยายสิทธิประโยชน์ให้กับเขตเมืองด้วย อย่างไรก็ตามได้มีการตั้งคณะทำงานระหว่างบีโอไอกับ สช.ขึ้นเพื่อหารือถึงทางออกร่วมกัน เพราะแม้ว่าบีโอไอจะมีอำนาจตาม พ.ร.บ. แต่เมื่อมีธรรมนูญซึ่งถือเป็นนโยบายเรื่องหนึ่งก็ควรได้หารือเพื่อปรับแนวทางการลงทุนให้สอดคล้องกับหลักกิจการเพื่อสังคมซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกวันที่ 7 ก.พ. นี้
นางหิรัญญา กล่าวว่าสำหรับการลงทุนให้กับ รพ.ระดับปฐมภูมิที่มีการเสนอนั้น มองว่าเครื่องมือของบีโอไอคงไม่เพียงพอ แต่บีโอไอจะสามารถประสานหน่วยงานอื่นๆให้เข้ามาดำเนินการได้ เนื่องจาก กิจการขนาดเล็กจะมีความต้องการเรื่องเงินลงทุนระยะแรกมากกว่าเครื่องมือยกเว้นภาษี
ด้านนายยุทธศักดิ์ กล่าวว่าจากข้อมูลการศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งในการทำให้ประเทศไทยเป็นเมดิเคิลฮับ พบว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์ยังได้รับความนิยมจากนานาชาติในการเดินทางไปผ่าตัด ในขณะที่แพทย์ไทยฝีมือไม่ได้ด้อยกว่า และมีจุดแข็งในเรื่องการดูแลเอาใจใส่ แต่กันสิงคโปร์ยังมีจุดแข็งที่มีการจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยต่างชาติตั้งแต่สนามบินมายังโรงพยาบาลในเวลาอันรวดเร็วกว่า มีการกฎเกณฑ์การต่อวีซ่าที่ให้ความสะดวกกับผู้มาพักรักษาตัว มีอุตสาหกรรมทางยาที่เข้มแข็ง มีการลงทุนธุรกิจสุขภาพแบบครบวงจร อีกทั้งประชากรน้อยกว่าไทย หากไม่รับรักษาชาวต่างชาติ แพทย์สิงคโปร์จะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงจะไม่ได้ใช้คุ้มราคา แต่ประเทศไทยซึ่งมีประชากรมากกว่า หากจะเป็นเมดิเคิลฮับต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร .