ครม.เศรษฐกิจหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมช่วงปลายปี 62
วันที่ 22 พ.ย.62 เวลา 09.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 7/2562 ซึ่งภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
ครม.เศรษฐกิจรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สาม ของปี 2562 ที่ประกาศในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สาม มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2.4% และไตรมาส 4 คาดว่าขยายตัว 2.8% ทั้งปีขยายตัว 2.6% โดยไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ GDP ขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่สอง ซึ่งประกอบด้วยประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ ทั้งนี้ มีหลายประเทศที่ GDP ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง คือสหรัฐฯ จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ขณะที่ยูโรโซนกับเกาหลีใต้ อยู่ในกลุ่มประเทศที่ GDP ขยายตัวต่อเนื่องเท่า ๆ เดิม
ครม. เศรษฐกิจรับทราบภาวะเศรษฐกิจในประเด็นต่าง ๆ โดยเป็นครั้งแรกในรอบหลายไตรมาสที่ผ่านมา ที่ตัวเลขของเศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อปีที่แล้วเริ่มจากประมาณ 5.0 แล้วทยอยลดลงมา ในสามไตรมาสที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 3.6 ลงมาที่ 2.8 และ 2.3 ซึ่งการที่ประเทศไทยสามารถดูแลให้เศรษฐกิจเริ่มกลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกเล็กน้อย ถือเป็นความสำเร็จเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องขับเคลื่อนกันต่อไป และคาดว่าเมื่อดูประมาณการในไตรมาสที่สี่ ก็น่าจะดีกว่าไตรมาสที่สาม จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงที่ปรับดีขึ้นจากเดิม เริ่มทรงตัวได้ และในช่วงถัดไปเมื่อไตรมาสที่สี่ขับเคลื่อนได้ดีกว่านี้ ก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น การจับจ่ายใช้สอย และการขับเคลื่อนการลงทุนภายในประเทศต่อไป
ครม.เศรษฐกิจได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลก ที่ในขณะนี้เศรษฐกิจโลกยังมีการชะลอตัวอีกระยะเวลาหนึ่ง ปกติเวลาที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ช่วงขาลง จะเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 -3 ปี เราเดินมาได้ประมาณเกือบ 1 ปีครึ่งแล้ว ทั้งนี้ จะได้เห็นถึงแรงกดดันที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยต่อไป รวมถึงเรื่องความผันผวนต่าง ๆ เช่น สงครามทางการค้า Brexit และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแผนที่โลกขณะนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งกดดันต่อการขยายตัวของไทยในช่วงต่อไป ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจของปี 2563 จากเดิม 3 - 4% ลงมาอยู่ที่ 2.7 – 3.7%
พร้อมกับ ครม. เศรษฐกิจได้หารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงเวลาประมาณ 5 สัปดาห์ที่เหลือของปี 2562 รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายสำหรับปี 2563 ที่จะดำเนินการในช่วงถัดไป โดยองค์ประกอบของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สามปี 2562 มีองค์ประกอบของเศรษฐกิจหลายอย่างที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่คือการบริโภคภาคเอกชน การก่อสร้าง การไฟฟ้า ก๊าซ อสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับแรงกดดัน ขณะเดียวกัน การส่งออก และการผลิตอุตสาหกรรม ยังเป็นสาขาที่มีปัญหาอยู่ ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจได้เห็นปัญหานี้และสั่งการให้ไปติดตามเรื่องการผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งให้ไปสร้างความเชื่อมั่นการบริโภคด้วย
สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ได้ตั้งเป้า GDP อยู่ที่ 2.7 - 3.7% แต่อาจจะลดลงเล็กน้อยเพราะเศรษฐกิจโลกยังมีแรงต้านอีกมาก จึงได้มีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันซึ่งเป็นการปรับเป้าหมายเดิมที่เคยกำหนดไว้ โดยได้มีแนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจในปี 2563 รวม 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. การดูแลเกษตรกร กำลังแรงงาน ผู้มีรายได้น้อย SMEs และเศรษฐกิจฐานราก 2. การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ 3. การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ในปี 2563 4. การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ที่ได้กำหนดเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2563 จำนวน 41.8 ล้านบาท และ 5. การสร้างความเชื่อมั่นและการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน
ครม.เศรษฐกิจยังได้หารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนเรื่องนโยบายการเงิน - การคลัง และนโยบายแต่ละด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ดูแลเรื่องผู้ส่งออก โรงสีข้าว อ้อย กุ้ง และเรื่องภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยให้มีการวางแผนเตรียมการเรื่องน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในปีหน้า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการหาแนวทางขับเคลื่อนการลงทุนภายในประเทศ โดยนายกฯ มอบหมาย BOI ไปหาแนวทางเพิ่มเติมในการส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศต่อไป
พร้อมกันนี้ ครม.เศรษฐกิจหารือเรื่องการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ได้กำหนดเป้าหมายการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ในช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค.62 ที่จะมีเม็ดเงินออกมาอีกประมาณ 115,552 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น และ สคร. ได้รายงานถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย –จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม – ชุมพร โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี –ปากน้ำโพ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปี 2554 - 2560) (งานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1) โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกตะวันตก โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน และแดงเข้ม (บางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ– หัวลำโพง) โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ บางซื่อ – ตลิ่งชัน เป็นต้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปปลดล็อกปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนล่าช้า เพื่อทำให้เบิกจ่ายงบลงทุนออกมาได้ ทั้งนี้ สคร. ได้คาดการณ์การเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือในเดือน พ.ย. – ธ.ค. 62 ว่าจะมีเม็ดเงินออกมา 115,552 ล้านบาท
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีนฯ ตามที่มีการมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกัน ขณะนี้ได้ข้อสรุปถึงการกำหนดสกุลเงินกู้เป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพื่อลดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน โดยจะมีการประชุมหารือร่วมระหว่างไทย – จีนต่อไป เพื่อขับเคลื่อนโครงการลงทุนรถไฟความเร็วสูงไทย –จีนฯ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ ครม.เศรษฐกิจได้หารือถึงการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้ชี้แจงว่า จะมีการขับเคลื่อนการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เพื่อให้สอดรับกับสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปลดล็อคไปพอสมควร ทำให้มีเม็ดเงิน 10,000 กว่าล้านบาทออกมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ งบของ อปท. มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดจึงถือเป็นงบที่ช่วยเสริมการดำเนินการต่าง ๆ ในภูมิภาค