ยิ่งเครียดยิ่ง ‘เปราะบาง’ ธรรมศาสตร์ผุด ‘Viva City’ รองรับไม่ให้นักศึกษาร่วงหล่น
#การศึกษาฆ่าฉัน กลายมาเป็นแคมเปญรณรงค์ที่ติดเทรนด์อันดับ 1 ของทวิตเตอร์ในชั่วข้ามคืนของเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา เมื่อเยาวชนต่างพร้อมใจกันลุกขึ้นมาพูดถึงสภาพปัญหาที่ตัวเองต้องเผชิญในฐานะที่เป็น ‘นักศึกษา’
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากการปรับตัว การแบกรับความคาดหวังของตัวเองและครอบครัว การถูกบังคับด้วยกฎระเบียบอันคร่ำครึไร้เหตุผล ตลอดจนการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจากผู้ที่อาวุโสมากกว่า
ฉะนั้น ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในแง่หนึ่งก็คือความเครียด-ความกดดัน ที่ค่อยๆ บ่มเพาะขึ้นแก่ตัวของนักศึกษาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว
เป็นความจริงที่ว่า ทุกมหาวิทยาลัยล้วนมีนักศึกษาที่คาดหวังผลการเรียนในระดับที่สูงมาก ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้เด็กกลุ่มนี้รู้สึกแย่หรือด้อยค่าอย่างรุนแรง และยิ่งเมื่อต้องเจอกับแรงกดดันของครอบครัวที่ทิ่มแทงมาจากข้างหลังด้วยแล้ว ช่วงใกล้สอบจึงเป็นช่วงที่เด็กแสดงอาการทางจิตเวช-ความเครียด-ความพยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด
“ใน 1 ปี นักศึกษาจะเครียดจัด 4 ครั้ง ได้แก่ มิดเทอม 2 ครั้ง ไฟนอลอีก 2 ครั้ง ซึ่งจากผลสำรวจภาวะความเครียด-ซึมเศร้าในเด็กมหาวิทยาลัย พบว่าในช่วงเหล่านี้มีเด็กที่เครียดในระดับมากถึงระดับรุนแรงเกือบ 1 ใน 3 ของเด็กทั้งหมด” อธิชาติ โรจนะหัสดิน อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูล และว่า ในสถานการณ์นี้ผู้ปกครองจำเป็นต้องเข้าใจและช่วยกันเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ไปเพิ่มแรงกดดันจนเด็กรับไม่ไหว
เมื่อพูดถึงความเครียด แน่นอนว่าย่อมเกิดขึ้นกับเด็กทุกคน แต่หากพูดถึง ‘ความเปราะบาง’ จะพบว่าจำกัดอยู่ในกลุ่มของนักศึกษาชั้นปีที่ 1
“เป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะต้องปรับตัวในหลายๆ เรื่องพร้อมกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเด็กไทยมีภาวะพึ่งพิงสูง เมื่อต้องจากบ้านออกมาจะเกิดความเครียดความกังวล บางคนเหงามาก กว่าจะมีเพื่อนที่กินข้าวด้วยได้ก็เข้าสู่ภาคเรียนที่สองไปแล้ว หรือในกลุ่มเด็กที่ต้องมาอยู่ในหอพัก ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับปัญหาเงินทอง กิจกรรมระหว่างรุ่นพี่-รุ่นน้อง ระบบโซตัส ฯลฯ
“หรือแม้แต่ในกลุ่มเด็กเก่งเอง เป็นช้างเผือกจากต่างจังหวัด เคยเป็นที่หนึ่งของหมู่บ้าน เป็นเด็กเก่งประจำโรงเรียน-ประจำตำบล แต่พอต้องมาเจอกับหัวกะทิในกรุงเทพ ก็ทำให้หลายคนไปไม่เป็นเหมือนกัน ดังนั้นเด็กปี 1 จึงมีความเครียดและภาวะซึมเศร้าสูงกว่าอีก 3 ชั้นปีอย่างมีนัยสำคัญ” อาจารย์สาขาจิตวิทยาคลินิกรายนี้ ระบุ
จากสภาพความเป็นจริงข้างต้น มีความเป็นไปได้ที่นักศึกษาจะบอบช้ำและร่วงหล่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ชีวิตชีวา (Viva City) ขึ้นในโซนหอพักนักศึกษา ณ ศูนย์รังสิต ทำหน้าที่คล้ายกับคลินิกให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ เปิดบริการตั้งแต่ เวลา 08.30-22.00 น.
ทุกวันนี้ ศูนย์ Viva City ยังอยู่ในช่วงโครงการนำร่อง แต่ก็ได้เปิดให้บริการแล้วใน 2 ส่วนใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. คลินิกให้คำปรึกษา ซึ่งจะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ Student Advisor ซึ่งผ่านการคัดเลือกและฝึกอบรมให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาเบื้องต้น ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา-จิตแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 2. Call Center ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเลขหมาย 02-028-2222
“ศักยภาพของ Viva City ในช่วงแรกยังไม่ถึงขั้นรักษา โดยเฉพาะในเคสที่มีความรุนแรงฉุกเฉินก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ฉะนั้นหน้าที่ของเราจริงๆ ก็คือการเข้าถึงเคสให้เร็ว จากนั้นก็ช่วยแปะพลาสเตอร์ คือทำให้นักศึกษา cool down ลงมาก่อน” อาจารย์อธิชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ อธิบาย
อย่างไรก็ดี แม้ว่าศูนย์ Viva City จะเพิ่งเปิดได้ไม่ถึงสองเดือน แต่จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-31 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีนักศึกษาเข้ามาใช้บริการแล้วถึง 155 ครั้ง โดยพบปัญหาความเครียดเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการเรียน ความวิตกกังวล และการปรับตัว
แน่นอนว่า คงยังเร็วไปที่จะชี้ว่าการตั้งศูนย์แห่งนี้ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด แต่จากอัตราการฆ่าตัวตายของนักศึกษาที่เคยมีราว 2-3 รายต่อปี ปัจจุบันสถิติยังคงอยู่ที่ 0 ราย และภายในเดือนเดียวศูนย์ Viva City สามารถช่วยเคสที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายไปได้ถึง 4 เคส ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี
อาจารย์อธิชาติ บอกว่า จุดแข็งของศูนย์ให้คำปรึกษาในมหาวิทยาลัยคือความเข้าใจสภาพปัญหาและบริบทของนักศึกษา มากไปกว่านั้นก็คือเรารู้ว่านักศึกษาอยู่ที่ไหนจึงเข้าถึงได้อย่างทันท่วงที มีการจัดรถและหน่วยเคลื่อนที่เร็วครอบคลุมการดูแลทั้งหอในและหอนอก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความศูนย์ Viva City จะทำหน้าที่แทนโรงพยาบาล
“นักศึกษาจะมีอาการขึ้นๆ ลงๆ ในช่วงใกล้สอบ แต่โรงพยาบาลซึ่งต้องบริการทั้งนักศึกษาและประชาชนทั่วไปจะมีคิวแน่นเป็นคอขวด อาจไม่สามารถรองรับความต้องการที่ขึ้นๆลงๆของนักศึกษาได้ไหว ตรงนี้ศูนย์ Viva City มีจิตแพทย์Part time มาช่วยรองรับความต้องการของนักศึกษาที่ล้นจากโรงพยาบาลในช่วงใกล้สอบได้ หรือในกรณีที่นักศึกษาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจนอาการดีขึ้นแล้ว แพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน แต่นักศึกษาเลือกจะกลับมาอยู่หอพัก ศูนย์ Viva City ก็จะเข้ามาช่วยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” อาจารย์อธิชาติ ฉายภาพการสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาล
หลังจากเปิดศูนย์ Viva City อย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็จะเริ่มประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้น เพิ่มบุคลากร พัฒนาระบบ Call Center ให้ใช้ได้ทั้ง 4 วิทยาเขต และในอนาคตอันใกล้ จะมีการจับมือกับบริษัท Ooca เพื่อขยายบริการให้คำปรึกษาผ่านวิดีโอคอลด้วย